น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป ผู้นำการให้บริการรถโดยสาร (รถเมล์) และเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า ปี 67 ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทที่จะพัฒนาการให้บริการรถเมล์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า ด้วยนโยบายพัฒนาระบบขนส่งของไทยให้เป็นพลังงานไฟฟ้า 100% ด้วยการปลดประจำการรถเมล์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) คงเหลือมาจากบริษัทในเครือที่ไทย สมายล์ กรุ๊ป ได้เข้าซื้อกิจการมาด้วย 350 คัน และบริษัทได้ยกเลิกไปแล้วกว่า 95% ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ม.ค.67 บริษัทได้ยกเลิกการใช้งานรถเมล์เอ็นจีวีอีกกว่า 57 คัน จากอู่สาขาปากเกร็ด โดยได้ยกเลิกใช้รถเมล์เอ็นจีวีไปแล้ว 334 คัน จึงเหลือรถที่ยังรอเปลี่ยนผ่านอีกเพียง 16 คันเท่านั้น และจะถูกยกเลิกทั้งหมดภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) สอดคล้องกับแนวคิดขององค์กร “เดินทางด้วยรอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” มุ่งสนับสนุนการผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้ได้อย่างแท้จริง
น.ส.กุลพรภัสร์ กล่าวต่อว่า ด้าน บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ในปีมังกรทองนี้ ยังได้เตรียมแผนการเสริมรถเมล์โดยสารพลังงานไฟฟ้าใหม่ ทั้งตัวรถเมล์ไฟฟ้าขนาด 8 เมตร แบบปรับอากาศที่มีความคล่องตัวขึ้น และ ขนาด 12 เมตร (ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เพื่อเข้ามาเสริมเพิ่มความถี่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ตามแนวทางกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ของกระทรวงคมนาคม
ปัจจุบันมีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการ 2,100 คัน จำนวน 123 เส้นทาง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้โดยสารใช้บริการ 250,000-280,000 คนต่อวัน มีรายได้ 5,000,000-6,000,000 บาทต่อวัน หรือตกวันละ 3,000 บาทต่อคันต่อวัน และอนาคตมีแผนจะเพิ่มจำนวนรถเมล์ไฟฟ้า 1,000 คัน เพื่อให้มีจำนวนรถเมล์ไฟฟ้ารวมทั้งหมด 3,100 คัน ภายในปี 67
น.ส.กุลพรภัสร์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ไทย สมายล์ โบ้ท เตรียมจะกลับมาให้บริการเรือโดยสาร สายสีน้ำเงิน Metro Line เส้นทางพระราม 7-สาทร ภายในไตรมาส 1 ปี 67 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.67 พร้อมเติมฟลีทเรือ เรือท่องเที่ยวพลังงานไฟฟ้า 100% เข้ามาพัฒนาบริการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำด้วยพลังงานสะอาดของไทย กับกิจกรรมใหม่ ๆ ตลอดปี อาทิ จดทะเบียนสมรสบนเรือในวันวาเลนไทน์, กิจกรรมล่องเรือไหว้พระ 9 วัด และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คุ้งบางกะเจ้า เป็นต้น
ปัจจุบันเรือไฟฟ้าให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 35 ลำ มีผู้โดยสารใช้บริการ 5,000 กว่าคนต่อวัน มีรายได้ 100,000 บาทต่อวัน และอนาคตมีแผนจะเพิ่มจำนวนเรือไฟฟ้าอีก 9 ลำ ภายในปี 67 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้มีเรือไฟฟ้าให้บริการรวม 44 ลำ