เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมแทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ มีวาระพิจารณา ข้อเสนอ อนุกรรมการอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เสนอปรับหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิมจ่ายแบบถ้วนหน้าเปลี่ยนเป็นจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ยากจน ทั้งนี้ระหว่างการประชุมเวลา 10.00 น. ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและเครือข่ายสลัม 4 ภาค เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอให้ กผส.ทบทวนเรื่องแนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มยากจนโดยนายจุติ ได้ออกมาจากที่ประชุมรับหนังสือด้วยตนเอง

นายสมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ภาคประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุมีความกังวลกระแสข่าวจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มคนยากจนจากที่ปัจจุบันจ่ายถ้วนหน้า หากเป็นเช่นนั้นถือเป็นการลดสวัสดิการประชาชน ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้้ การจ่ายสวัสดิการให้ประชาชนไม่ควรแบ่งแยกคนจนคนรวย เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งขณะนี้จ่ายเป็นแบบขั้นบันไดในอัตรา 600-1,000 บาท บางคนยังไม่เพียงพอ และขอเสนอจัดสรรเป็นบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีหลังพิงประทังชีวิต หลังจากนี้เครือข่ายเตรียมรวบรวมข้อมูลและกลับมาทวงคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้งวันที่ 30 ก.ย.

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายรัฐบาลต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส ไม่ใช่ดำเนินการโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม พม.ต้องยืนหยัดความมั่นคงของมนุษย์อย่างแท้จริง ไม่ใช่การสงเคราะห์และสร้างความเหลื่อมล้ำให้ประชาชน

ต่อมาภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นนายจุติ กล่าวว่า ที่ประชุม กผส. พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เสนอแนวทางการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใน 3 แนวทางโดยพิจารณาจากเส้นแบ่งความยากจน, รายได้ และภาษี ขณะเดียวกันยังมีความคิดเห็นที่หลากหลายในที่ประชุมประกอบกับมีข้อเสนอจากตัวแทนเครือข่ายประชาชนจึงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีการระบบใดๆจำเป็นต้องทำด้วยความรอบคอบ ไม่ได้มองแค่มิติกฎหมายเท่านั้น ต้องมองมิติเศรษฐกิจ สังคม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และฐานะการคลังของประเทศ ที่สำคัญต้องยึดประโยชน์ประชาชน จึงได้ให้คณะอนุกรรมการฯ รวบรวมข้อเสนอต่างๆรวมถึงข้อเสนอที่เครือข่ายเตรียม ยื่นเพิ่มเติมวันที่ 30 ก.ย.นำไปพิจารณาประกอบทบทวนก่อนนำเสนอที่ประชุมอีกครั้ง โดยพิจารณาให้รอบคอบโดยเร็วที่สุด

นายจุติ ชี้แจงว่าสาเหตุที่บอร์ด กผส. ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ศึกษาปรับแนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มาจากปัญหาก่อนหน้าที่มีการเรียกคืนผู้ได้รับเบี้ยที่ไปซ้ำซ้อนกับการรับบำนาญจึงต้องการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ยั่งยืน ส่วนที่มองว่ารัฐบาลหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลงเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุในอนาคตมีมากขึ้นจะเป็นภาระการเงินประเทศนั้น เป็นเพียงความห่วงใย 1 มิติ แต่ขอย้ำ กผส.พิจารณารอบด้านให้ครบ 360 องศาและขอย้ำผู้สูงอายุทุกคนอย่ากังวลใจ ทุกอย่างขณะนี้ยังเหมือนเดิม ข่าวที่ออกมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นรัฐบาลรับฟังความเห็นภาคประชาชนเสมอ ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม.ให้ทุกระบบราชการปรับปรุงการทำงานให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอย่าให้มีช่องว่างระหว่างข้าราชการกับประชาชนแต่บ้านเมืองอยู่ด้วยระเบียบกฎหมาย ฟังเสียงข้างน้อยแต่เคารพเสียงข้างมากเช่นกัน.