มีประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่เรียกร้องให้ทุกประเทศ “เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน” รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศรายได้น้อยที่ได้รับความเสียหายจากหายนะที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มูลค่า 792 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่สำคัญการประชุม COP28 ครั้งนี้ ยังถือว่าเป็นการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมมากสุดในประวัติศาสตร์กว่า 8 หมื่นคน ซึ่งหนึ่งในนั้น “ปิยะชาติ อิศรภักดี” ซีอีโอ แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ระดับองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เป็นตัวแทนภาคเอกชนไทยที่ได้รับเชิญเข้าร่วมครั้งนี้ ได้มาแชร์มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประชุม โดยระบุว่า จากถ้อยประกาศของ นายอันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ว่า “เราได้สิ้นสุดภาวะโลกร้อนแล้ว และกำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด” แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤติของปัญหาสภาพภูมิอากาศที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 ดังนั้น หัวข้อหลักของการประชุม COP28 ครั้งนี้ คือการมุ่งหารือเกี่ยวกับการเช็กสต๊อกของโลก ซึ่งหมายถึงการตรวจเช็กทรัพยากรธรรมชาติของโลกที่ยังคงเหลืออยู่ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในการประชุม COP

เวทีหารือครั้งนี้ จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมาสู่ “ความร่วมมือ” เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกันไปสู่ความเป็นรูปธรรมอีกหลายด้าน โดยเฉพาะในเวทีเสวนา หัวข้อ Bio-circular-green Economy: A Road towards Net-zero ที่กำหนดว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือ ไม่ใช่การแข่งขัน” ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน

ความร่วมมือจากภาครัฐ : เปลี่ยนจากการกำหนดและควบคุมเป็นส่งเสริมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน, ความร่วมมือจากภาควิชาการ : เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนข้อมูลและความรู้เพื่อมองหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น, ความร่วมมือจากภาคเอกชน : สร้างความร่วมมือตลอดทั้งระบบนิเวศและห่วงโซ่คุณค่าของตัวเองเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ยิ่งไปกว่านั้นในที่ประชุมครั้งนี้ ยังได้ตระหนักถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่าง ๆ ของโลกที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้แก้ไขกันได้ง่าย แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำ ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือการกำหนดบทบาท หน้าที่ของแต่ละภาคส่วนให้เห็นภาพชัดเจน ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะยังอยู่เช่นเดิมและไม่ถูกแก้ไข

ปิยะชาติ มองว่า แม้ปัจจุบันจะมีภาคเอกชนเข้าประชุมเพิ่มขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหานี้และพยายามแก้ไขด้วยวิธีของตัวเอง แต่ก็ยังไม่มีใครการันตีได้ว่า วิธีการแก้ปัญหาที่กำลังลงมือทำจะสามารถนำพาเราไปบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้จริง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งทำในส่วนเป้าหมายเป็นภาพใหญ่ที่สุดก่อน โดยนอกจากการจัดทำมาตรการแล้ว ควรจะมีกลไกตรงกลางที่ช่วยทำให้เราไปถึงเป้าหมายด้วย ยกตัวอย่าง สิทธิประโยชน์แรงจูงใจจากภาครัฐ ที่มีรูปแบบที่ชัดเจน และไม่ใช่แค่การสนับสนุนระยะสั้น หรือการสร้างแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดลองหาโมเดลใหม่ในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดำรงอยู่ร่วมกันแบบวิน-วิน

 การประชุม COP28 ในครั้งนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีสำหรับทุกคนบนโลกว่า เรามีปัญหาที่จะต้องแก้ และคนที่พร้อมเท่านั้นที่จะสามารถมองเห็นโอกาส สามารถสร้างการเติบโตของตัวเองไปได้พร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโลกยั่งยืนและอนาคตที่สดใสให้กับพวกเราทุกคน.