ในวันที่ 5 พ.ย. 2567 ชาวอเมริกันจะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่อาจเป็นชัยชนะสองสมัยติดต่อกันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน วัย 81 ปี ซึ่งหากได้อยู่ต่อ จะครบวาระสมัยที่สองและพ้นจากตำแหน่ง ขณะมีอายุ 86 ปี ถือเป็นผู้นำประเทศที่ครบวาระด้วยวัยวุฒิมากที่สุด ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันในระยะหลัง เป็นไปในทางเดียวกันมากขึ้นว่า “ไบเดนแก่เกินไป” ผลสำรวจความคิดเห็นของเอบีซีนิวส์/วอชิงตันโพสต์ เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า 74% ของกลุ่มตัวอย่างมองว่าไบเดน “แก่เกินไป” ที่จะเป็นผู้นำประเทศ โดยมีเพียง 50% เท่านั้น ที่มองว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้าไบเดน ซึ่งน่าจะคว้าตำแหน่งตัวแทนของพรรครีพับลิกันได้ แม้ต้องฝ่าฟันคดีความมากมายก็ตาม โดยทรัมป์มีอายุ 77 ปี
แม้ทำเนียบขาวพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมอเมริกันเป็นระยะ ว่างานการเมืองเป็นเรื่องของประสบการณ์ และอายุเป็นเพียงตัวเลข แต่ผลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นไปในทางเดียวกันมากขึ้นในระยะหลัง ว่าส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลเรื่องอายุของไบเดน ภาพที่ผู้นำสหรัฐสะดุดล้มระหว่างเดินขึ้นเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน และการที่ไบเดนตอบไม่ตรงคำถาม ตลอดจนพูดจาคลาดเคลื่อนหลายครั้ง ยังคงเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอ
ก่อนถึงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ รัสเซียมีกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีนาน 3 วัน คือระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค. 2567 โดยหนึ่งในผู้สมัครคือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำคนปัจจุบัน
การตัดสินใจของปูติน ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายสำหรับทุกฝ่าย ทั้งในและต่างประเทศ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จาก 4 ปี เป็น 6 ปี โดยไม่นับวาระการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมาของปูติน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซีย ระหว่างปี 2543-2551 แล้วเว้นวรรคมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนชนะการเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2555 ถือว่ายาวนานที่สุด นับตั้งแต่ยุคนายโจเซฟ สตาลิน
แม้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่อีก 5 พรรค ได้รับอนุญาตให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ได้ โดยไม่ต้องล่ารายชื่อจากประชาชน แต่ทุกพรรคมีจุดยืนสนับสนุนปูติน และการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน หมายความว่า ปูตินจะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนี้ “อย่างง่ายดาย” และอยู่ในตำแหน่งต่อจนถึงปี 2573 และยังคงลงสมัครต่ออีกได้ หากชนะจะอยู่ในตำแหน่งต่อจนถึงปี 2579 และในเวลานั้น ปูตินจะมีอายุมากถึง 84 ปี
อีกด้านหนึ่ง อินเดีย ประเทศซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก มีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ “แบบมาราธอน” และเป็นลำดับขั้น ระหว่างเดือนเม.ย.-พ.ค. 2567 เพื่อเลือกสมาชิกโลกสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ทั้ง 543 ที่นั่ง
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งของอินเดียเรียกได้ว่า “ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” เนื่องจากมีผู้มีสิทธิออกเสียงเกือบ 1,000 ล้านคน และแน่นอนว่า จะเป็นการขับเคี่ยวกัน ระหว่างพรรคภารติยะ ชนตะ ( บีเจพี ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยม ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 และหมายมั่นปั้นมือรักษาอำนาจทางการเมืองของการเป็นฝ่ายรัฐบาล ให้ได้นานต่อเนื่องสามสมัยติดต่อกัน กับพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำฝ่ายค้าน
แม้สถานการณ์ภายในอินเดียเผชิญกับความตึงเครียดในหลายมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อย่างไรก็ตาม แทบทุกฝ่ายเชื่อมั่นไปในทางเดียวกัน ว่าพรรบีเจพีจะยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากผลการสำรวจความคิดเห็นเป็นไปในทางเดียวกัน ว่าชาวอินเดียยังคงพึงพอใจ กับการที่รัฐบาลโมดีสามารถยกระดับบทบาทของอินเดียบนเวทีโลก ได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนอินโดนีเซีย ประเทศซึ่งมีทั้งขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากร มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตรียมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2552 ที่การเลือกตั้งผู้นำอินโดนีเซียมีผู้สมัคร 3 คน ได้แก่ นายอานิส บาสเวดาน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ลงสมัครในนามอิสระ นายกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง จากพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ ( พีดีไอ-พี ) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน และพล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จากพรรคขบวนการอินโดนีเซียก้าวหน้า หรือพรรคเกอรินทรา
อนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียครั้งนี้ “น่าจับตามากที่สุด” ในรอบหลายสิบปี จากการที่นายกีบราน ราคาบูมิง รากา นายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตา บุตรชายวัย 36 ปี ของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำคนปัจจุบัน ลงสมัครด้วย แม้เป็นการชิงตำแหน่งรองผู้นำ คู่กับพล.ท.ซูเบียนโต แต่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า “เป็นการปูทาง” ไปสู่ “การสืบทอดอำนาจ”
การเลือกตั้งในทั้ง 4 ประเทศ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นบนโลกในปี 2567 แม้บางประเทศอาจได้ผู้นำคนเดิม หรือรัฐบาลชุดเดิม อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของประชาชนในประเทศนั้น จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่ผันแปรตลอดเวลา.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AFP