ทาง “เดลินิวส์ Sustainable Talk” จึงได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้คนในวงการความยั่งยืนเพื่อประมวลเสียงสะท้อนจากข่าวสารที่เกี่ยวกับ SDG ตลอดปี 2023 ด้วยการนำมาจัด “10 อันดับสุดยอดข่าวร้ายแห่งปีทำให้โลกไม่ยั่งยืน” ที่ผู้คนเป็นกังวล และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก…

อันดับ 10

โลกเสียสมดุล

ความไม่เท่าเทียม การไม่ยอมรับความหลากหลาย

กระตุ้นให้เกิดวิกฤติความเหลื่อมลํ้ามากขึ้น ปีนี้โลกของเรากำลังเสียสมดุลอย่างหนัก อีกทั้งมีข่าวความเหลื่อมลํ้าในหลายมิติ มหาเศรษฐีก็รวยมากขึ้นทวีคูณ ขณะที่คนยากจนก็ยิ่งจนลงจนวิกฤติ จนช่องว่างระหว่างความรํ่ารวยกับความยากจนถ่างห่างออกไปจนน่ากลัว จนทำให้เราเห็นข่าววิกฤติความเหลื่อมลํ้าในหลายเรื่อง เห็นข่าวความขัดแย้งสับสนจากความหลากหลายทางเพศ และได้เห็นข่าวผู้นำสตรีที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง โดยในขณะที่โลกกำลังปรับสมดุลใหม่นี้ ยังมีกับระเบิดซ่อนไว้รอเวลาสร้างหายนะใหญ่ในปีต่อไป

อันดับ 9

AI จะมาแทนแรงงานมนุษย์ ผู้คนจะตกงานทั่วโลก

โดย World Economic Forum ทำนายว่าภายในปี 2025 ผู้คนจะตกงานจำนวนมาก เพราะตำแหน่งงานใหม่ ๆ จะถูกทดแทนด้วย AI ทั้งยังทำนายเอาไว้ว่าในอีก 2 ปี ตำแหน่งงานเดิม ๆ ทั่วโลกจะหายไปถึง 85 ล้านตำแหน่ง และเมื่อถึงปี 2030 ตำแหน่งงานเดิม ๆ ก็จะหายไป 1 ใน 3 ทำให้เราต้องรีบ reskill-upskill ให้ทันเพื่อเป็นเจ้านาย AI มิเช่นนั้น AI ก็จะมาควบคุมดูแลเป็นหัวหน้างานเราได้ แต่ในข่าวร้ายนั้นยังมีข่าวดีก็คือตำแหน่งงานด้านความยั่งยืนยังคงขยายตัว และมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 8

คุณภาพการศึกษาดิ่งเหว ไม่ตอบโจทย์อนาคต

ไม่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าวร้ายที่ถูกกล่าวขานถูกวิจารณ์มากที่สุดอีกเรื่องปีนี้ คือ คุณภาพการศึกษาไทยที่ตกตํ่าอย่างต่อเนื่อง และอาจเข้าสู่การตกตํ่าอย่างยั่งยืน ถ้าไม่รีบปรับปรุงแก้ไข ดูจากการถดถอยของอันดับใน index ต่าง ๆ เช่น ความตกตํ่าของความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ความตกตํ่าในการคิดวิเคราะห์ จากผลทดสอบ PISA คะแนน IMD ด้านการศึกษาลดลง ชี้ถึงความเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในอนาคต แม้จะมีโครงการ CSR ที่ภาคธุรกิจช่วยพัฒนาการศึกษามากมาย หรือมีการช่วยกันทำเรื่องของทวิภาคีพัฒนาการศึกษาด้วยการฝึกงานจริงในสถานประกอบการ แต่ก็ยังเป็นแค่ตัวเสริม ไม่ใช่กลไกขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่น้อง ๆ ผู้เรียนยุคใหม่ไปยืนรอที่ศตวรรษ 21 นานแล้ว แต่บุคลากรการศึกษาในระบบราชการยังยํ่าอยู่ในศตวรรษที่ 20 อยู่เลย

อันดับ 7

ธรรมาภิบาลเสื่อมถอย ทุจริตคอร์รัปชันเต็มเมือง

ข่าวทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่โปร่งใสมีความถี่และรุนแรงมากขึ้น จนเห็นในข่าวได้แทบทุกวัน ไม่น่าเชื่อเลยว่าปีนี้เราได้เห็นข่าวคนโกงมากมาย และหลายท่านยังเป็นผู้ทรงเกียรติที่น่าเคารพ หรือเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณธรรม มีคะแนนธรรมาภิบาลสูงเป็นการันตี ซึ่งการขาดคุณธรรมเหล่านี้ สร้างความไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ ทั้งในระบบการปกครอง ระบบยุติธรรม ระบบการค้าการลงทุน ทั้งยังส่งผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และความเชื่อมั่นในหุ้นกู้ ส่งผลให้การลงทุนต่าง ๆ เสื่อมถอย ทำให้ปีนี้รู้สึกอายจนไม่อยากออกไปรวมพลังยกมือไขว้กันต่อต้านคอร์รัปชันอีกต่อไป เพราะดูเป็นการ PR สร้างภาพแบบ Greenwash เมื่อผู้คนเห็นข่าวแจกที่มีผู้บริหารและพนักงานยกมือไขว้กันในสื่อต่าง ๆ ต่างก็แอบอมยิ้มแบบเศร้า ๆ หมดหวังอยู่ในใจ

อันดับ 6

การไล่ล่าผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ

ปีนี้ข่าวความยั่งยืนและการควบคุมดูแลผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ได้เจาะลึกเพียงในองค์กร แต่ต้องเปิดเผยตลอดห่วงโซ่กิจการตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ การออกแบบ การผลิต การขนส่ง และจัดเก็บ จนไปถึงมือผู้บริโภค รวมถึงต้องดูเรื่องของผลกระทบจากซากสินค้าปลายทาง เพื่อนำกลับไปกำจัด หรือ recycle เป็นสินค้าใหม่ด้วย โดยในทุกขบวนการเราได้เริ่มเห็นภาษีความยั่งยืนใหม่ ๆ ในระดับโลก เช่น มาตรการ CBAM ที่เป็นการปรับภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งวงการ ซึ่งนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของข่าวร้ายอื่น ๆ ที่กำลังตามมา

อันดับ 5

หายนะจากความเสี่ยงและความไม่รับผิดชอบต่อสังคม

ข่าวอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เราพบในชีวิตประจำวัน มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะกับการเดินทาง การขนส่ง และความปลอดภัยบนถนน ยังไม่นับเรื่องความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่มีวัสดุคานลอยฟ้าร่วง ทางคอนกรีตถล่ม หรือถนนยุบพังเป็นหลุมตลอดทั้งปี ชนิดที่ในการขับรถก็ต้องระแวง ต้องแหงนมองบนฟ้า และคอยดูหลุมใต้ดินตลอดเส้นทาง นอกจากนั้นแม้การเดินทางในสนามบิน หรือศูนย์การค้าก็ยังไว้ใจบันไดเลื่อน ทางเลื่อน หรือลิฟต์ไม่ได้เลย เพราะพลาดพลั้งไปอาจสูญเสียชีวิตหรืออวัยวะสำคัญได้ ซึ่งนี่ยังไม่นับความเสี่ยงในการใช้สินค้าและบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความเสี่ยงด้านการเงินการลงทุนที่อาจจะทำให้เราหมดตัวได้ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการขาดมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ใส่ใจควบคุมดูแล โดยยังทำให้มีคำถามว่าเมื่อเกิดหายนะขึ้นแล้ว ใครจะรับผิดชอบ จะเยียวยาอย่างไร จะแก้ไขปรับปรุงไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร เพราะเราคงไม่อยากเห็นข่าวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นซํ้า ๆ อีกในปีหน้า

อันดับ 4

การแย่งชิงผลประโยชน์ ความขัดแย้ง และสงคราม

ข่าวความขัดแย้งต่าง ๆ ทั้งเรื่องผลประโยชน์ ความเชื่อ ความแตกต่าง ที่นำมาสู่กรณีพิพาท เกิดสงคราม และการสูญเสียในปี 2023 ทำให้คำว่าภูมิรัฐศาสตร์ถูกนำกลับมาพูดคุยกันมากอีกครั้ง ไม่เพียงความขัดแย้งระดับโลก แต่รวมถึงความขัดแย้งระดับพื้นที่และชุมชน ที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งทรัพยากรต่าง ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดการแย่งชิงกันมากขึ้น จนทำให้เราคงจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาไม่ได้ นี่ยังไม่นับรวมเอาความขัดแย้งของวัย ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ที่กำลังเป็นระเบิดเวลา ทำให้สันติภาพใน SDG 16 คงจะต้องเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนจะต้องช่วยกันทำอย่างเร่งด่วน

อันดับ 3

คุณภาพอากาศเลวร้าย
ฝุ่นละอองและเชื้อโรคกระจายไปทั่ว

คุณภาพอากาศเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะคนเราต้องหายใจตลอดเวลา แต่คุณภาพอากาศของเราทุกคนกลับเลวร้ายลงจากฝุ่นควันอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การก่อสร้าง และการขนส่งที่มีมากขึ้น ขณะที่ในทางกลับกันนั้น พื้นที่สีเขียว พื้นที่สวน พื้นที่ป่าที่จะช่วยกรองอากาศก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งในภาวะโลกร้อน ไฟป่าก็รุนแรงยิ่งขึ้น หรือการเผาป่าเพื่อเริ่มฤดูเพาะปลูก ก็สร้างฝุ่นควัน PM2.5 ที่เข้มข้นยาวนาน ทำให้เครื่องกรองอากาศเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตไปแล้ว นอกจากนั้นเชื้อโรคใหม่ ๆ ที่แพร่เชื้อได้รวดเร็วในอากาศ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันคิดและช่วยกันทำให้อากาศที่เราหายใจทุกวินาทีนี้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

อันดับ 2

El Nino วิกฤติภัยแล้ง
และการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศอย่างสุดขั้ว

นอกจากเรื่องของคุณภาพอากาศที่เลวร้ายแล้ว เรื่องนํ้าและความแห้งแล้งถือเป็นข่าวใหญ่ประจำปี 2023 เพราะในปีที่โลกร้อนขึ้น กระแสนํ้าในเขตเส้นศูนย์สูตรสะสมความร้อนเกินพิกัด จนสร้างความปั่นป่วนให้กับสภาพภูมิอากาศแบบคาดเดาไม่ได้ ซึ่งปีนี้ช่วงหน้าฝนจึงมีฝนตกน้อยลง และเวลาตกก็จะตกหนักแปลก ๆ แถมเมื่อหมดฤดูฝน เขื่อนต่าง ๆ ก็เก็บนํ้าไว้ได้ไม่มากนัก ดังนั้นในปีหน้าข่าวร้ายนี้ก็คงจะส่งผลกระทบ ซึ่งถ้าจัดการนํ้าได้ไม่ดี ทั้งนํ้าการเกษตร นํ้าเพื่ออุตสาหกรรม นํ้ากินนํ้าใช้ ผู้คนก็จะแย่งกันรุนแรง โดยปัจจุบันฝนตกมา 100 เม็ด เราเก็บไว้ใช้ได้แค่ 6-7 เม็ดเท่านั้น จึงเป็นคำถามตามมาว่า เมื่อไหร่เราจะเริ่มเพิ่มพื้นที่เก็บนํ้ารูปแบบต่าง ๆ เพิ่มพื้นที่ชุ่มนํ้า และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ เพื่อลดผลกระทบจากนํ้ามากและนํ้าน้อยอย่างยั่งยืน

อันดับ 1

การประกาศของ UN ว่าเราเข้าสู่ภาวะโลกเดือดแล้ว

มาถึงสุดยอดข่าวร้ายประจำปี 2023 ที่ถือว่าเป็นข่าวร้ายที่สุดและเป็นเหตุปัจจัยของข่าวร้ายอื่น ๆ ทั้งหมด โดยครั้งแรกเมื่อกลางปี 2023 เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ Antonio Guterres ประกาศอย่างเป็นทางการว่าโลกของเราเข้าสู่ยุคโลกเดือดแล้ว และต่อมาในช่วงปลายปีที่การประชุมประจำปี UN General Assembly ท่านก็ได้ตอกยํ้ากับผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกครั้งว่า มนุษยชาติได้แง้มประตูสู่ขุมนรกอเวจีแล้ว ทำให้เราทุกคนจึงต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ “Decade of Action” นั่นเพราะเราไม่เหลือเวลาอีกต่อไปแล้ว จึงต้องรีบปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน เพราะอีกแค่ 1.5 องศาเซลเซียส โลกจะเข้าสู่หายนะดั่งขุมนรก จนทุกคนจะเหมือนอยู่ในอเวจีอย่างเท่าเทียมกันและยั่งยืน

นี่เป็น “สุดยอด 10 ข่าวร้ายเรื่องความไม่ยั่งยืนปี 2023” ที่ได้ประมวลมาจากข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ โดยทุกคนมีความเห็นคล้ายกันว่า การลงมือทำคนเดียวคงเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ได้ไม่ทันเวลา ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือกันตั้งแต่ระดับนโยบายเพื่อสร้างการลงมือทำอย่างจริงจัง ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และที่สำคัญต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ตระหนัก มีความรู้ มีทักษะ มีส่วนร่วม และเป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะพวกเขาจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงและยาวนาน อย่างไรก็ดี แต่สำหรับคนไทยนั้น เราทุก ๆ คนโชคดีที่มีแผนที่ช่วยนำทางการปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG อยู่แล้ว นั่นก็คือ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่นอกจากคนไทยแล้ว ชาวต่างชาติทั่วโลกก็ได้นำหลักปรัชญานี้ไปปรับใช้ในประเทศของเขาแล้วได้ผลดี จนนำกลับมาเล่าสู่กันฟังในเวทีความยั่งยืนต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงหวังว่าเราจะช่วยกันทำ “Decade of Action” ด้วยหลัก “Sufficiency for Sustainability…พอเพียง ยั่งยืน” ส่วนในสัปดาห์หน้าเรามาพบกับ “สุดยอด 10 ข่าวดีของความยั่งยืนปี 2023” เพื่อเป็นกำลังใจในการส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ 2024 กันนะครับ.