เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เพื่อให้สอดรับกับคณะทำงานแก้ไขหนี้สินประชาชนรายใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งเท่าที่ทราบ คณะทำงานแก้หนี้ของนายกรัฐมนตรี ได้ใช้ต้นแบบการหนี้ครูหลายเรื่อง มาเป็นต้นแบบแก้หนี้ให้แก่ประชาชน เช่น การหักเงินเดือนจากบัญชีครูให้เหลือร้อยละ 30 เป็นต้น โดยคณะทำงานแก้หนี้ประชาชนของรัฐบาล จะนำต้นแบบดังกล่าวของ ศธ. ไปปรับใช้กับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย รวมถึงการเจรจาปรับลดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินต่างๆ ให้แก่ข้าราชการ และการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เนื่องจากเจ้าหนี้รายใหญ่ของครู จะอยู่กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่ได้ผูกกับเครดิตบูโร ดังนั้น จะทำให้เกิดปัญหาการเชื่อมข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินอย่างธนาคารพานิชย์ จะทำให้เชื่อมต่อกันยาก เนื่องจากเมื่อครูเป็นหนี้สหกรณ์ทำให้ธนาคารบางแห่งที่ครูไปกู้ยืมไม่ทราบข้อมูลว่ามีหนี้อยู่จำนวนเท่าไหร่บ้าง จึงทำให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้แก่ครู จนเกิดปัญหาหนี้สินซ้ำซ้อนขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องรีบแก้ไข ดังนั้น หากคณะทำงานแก้หนี้ของรัฐบาลได้ไปเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อขอเข้าไปอยู่ในเครดิตบูโรด้วย ก็อาจทำให้ธนาคารมีข้อมูลหนี้ของครูมากขึ้น

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบขยายต่อความร่วมมือกับสถาบันการเงิน 10 หน่วยงานที่เคยทำไว้แล้วก่อนหน้านี้ และจะสิ้นสุดโครงการความร่วมมือดังกล่าวภายในเดือน ธ.ค. นี้ เพื่อวางมาตรการการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขหนี้ครูกลุ่มสีแดง 2,000 กว่าราย เพื่อหาทางช่วยเหลือทางกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ เรามีตัวเลขครูกลุ่มสีเหลืองที่จะกลายเป็นสีแดงหรือระดับวิกฤติเกือบหหลักแสนราย จึงต้องเร่งวางแนวทางแก้ไขให้เร็วที่สุด