ยังเป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ และคนในวงการอีเอสจี ต้องหาคำตอบต่อไป แม้ปัจจุบันจะมีเอกชนทำอีเอสจี สกอร์ มาขายจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานหนึ่งเดียวที่ชัดเจน สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ เป็นการขับเคลื่อนการลงทุนให้ไปในทิศทางเพื่อความยั่งยืน เช่น ธุรกิจหนึ่ง อาจมีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือสิ่งแวดล้อม เราจะไม่ถอนการลงทุนทันที แต่เราจะใช้วิธีการพูดคุยร่วมกันแก้ปัญหา ให้สามารถเดินทางไปในทิศทางเดียวกันได้ ยกเว้นเกิดปัญหาแล้วไม่แก้ เราก็จะค่อย ๆ ลดการลงทุนลงไป” ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงแนวทางการลงทุนของ กบข. ที่ยึดหลัก EGS SDGs อย่างชัดเจนและแน่วแน่ในการบริหารพอร์ตของข้าราชการกว่า 1.19 ล้านราย สินทรัพย์กว่า 1.28 ล้านล้านบาท

“ศรีกัญญา” ขยายความว่า จากผลการสำรวจในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เห็นได้ว่า นักลงทุนทั้ง นักลงทุนบุคคล และนักลงทุนสถาบัน ต่างให้ความสำคัญมากขึ้นในการลงทุนแบบยั่งยืน หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดความยั่งยืน ESG ซึ่งผลของการสำรวจพบว่า พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ 80% มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และผู้แนะนำทางการเงิน มีการแนะนำนักลงทุนหรือได้ลงทุนด้วยตัวเองในกองทุนแบบ ESG มากขึ้น

ทั้งนี้การลงทุนแบบยั่งยืน กำลังมีอิทธิพลในตลาดการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบันมีองค์กรต่าง ๆ ในการจัดตั้งดัชนีความยั่งยืน เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดว่าบริษัทต่าง ๆ มีการดำเนินการธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG โดยบริษัทจำกัดที่ได้รับคะแนนผ่านการประเมินทั้ง 3 มิติ คือ มิติสิ่งแวดล้อม มิติบุคคลในองค์กร ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ และมิติความโปร่งใสขององค์กร เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อองค์กร จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืนที่สามารถดึงดูดความสนใจในการลงทุนในกลุ่มนักลงทุนได้ นักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นนี้จะส่งผลกระทบเชิงบวกในระยะยาวต่อตลาดหลักทรัพย์

“เราต้องทำความเข้าใจกรอบอีเอสจี และนำมากำหนดเป็นแนวทางการลงทุนของ กบข. รวมทั้งเพื่อนำไปบริหารการลงทุนไม่ให้หลุดคอนเซปต์ที่ดีของความยั่งยืน เราไม่ได้คิดเองเออเอง มีคนคิดไว้ให้แล้วแต่เราต้องเข้าใจและนำมาปรับใช้ ซึ่ง กบข. มีความเชื่ออย่างจริงใจว่า การลงทุนไม่สามารถมองข้ามเรื่องสิ่งแวดล้อมไปได้ การขับเคลื่อนเรื่องอีเอสจี และความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ใช่แค่การพีอาร์ หรือ ซีเอสอาร์ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง ถ้าจะทำอย่างจริงจังต้องเริ่มต้นจากการมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน เบื้องต้นได้นำหลักการจากหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาเป็นกรอบกระบวนการลงทุน หรือการพิจารณาปัจจัย อีเอสจี ร่วมกับปัจจัยอื่นในการตัดสินใจลงทุน”

สำหรับแนวทางการทำงานลำดับแรก คือ การคัดเลือกผู้จัดการกองทุน แต่ก่อนไม่มีคะแนนเรื่องESG แต่ปัจจุบันนี้ ต้องบอกให้ได้ว่าจะใช้ ESG เพื่อการลงทุนอย่างไร มีหลักเกณฑ์เลือกอย่างไร เป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้นมาจากผลงานด้านการเงิน ต่อมา เป็นการตีมูลค่าการลงทุน สมัยก่อนจะมีสัดส่วนผลประกอบการด้านการเงิน ตอนนี้จะนำเรื่องอีเอสจี มาตีมูลค่าด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น บริษัทเอกชนต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก เพื่อกำหนดข้อมูลสำหรับการตีมูลค่าการลงทุน จัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐาน ส่งต่อให้ทีมที่ทำหน้าที่ตัดสินในด้านการลงทุน หากบริษัทสองแห่งมีผลทางการเงินที่ดี แต่อีกบริษัทมีมูลค่า ESG ที่ดี บริษัทนี้ก็จะมีแต้มต่อที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทที่เข้าไปลงทุนมีปัญหา หรือต้องลดหรือตัดการลงทุนนั้น ๆ ไป ผู้จัดการกองทุนต้องสามารถอธิบายให้ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ สมาชิก ซึ่ง กบข. ไม่สมารถลงทุนเพื่อความพึงพอใจด้านใดด้านหนึ่งได้ แต่ต้องรู้ว่าเงินเป็นของสมาชิกและต้องรักษาผลประโยชน์ให้สมาชิก

“เราต้องสร้างสมดุล 2 สิ่งทั้งผลตอบแทนทางการเงิน และ ESG แต่ท้ายที่สุดสมาชิกสำคัญที่สุด เพราะเป็นเจ้าของเงินที่แท้จริงไม่สามารถนำเงินของคนเหล่านี้ไปสร้างความพึงพอใจอะไรก็ได้ แต่เราเอาเงินของเขาไปขับเคลื่อนไปข้างหน้ามากกว่า กบข.คิดแบบนี้ ซึ่งการลงทุนบางอย่าง อาจมองว่าดีในแง่ ESG แต่ด้านการเงินอาจไม่ดี แต่ถ้ามองในระยะยาว แล้วเห็นว่าธุรกิจนั้น ๆ จะมีโอกาสที่ดีในอนาคตจะสามารถยอมประนีประนอมได้ในระยะสั้น เช่น รถใช้พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ถือว่าเป็นการซื้อนาคตเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับมาในอนาคต ซึ่งอีเอสจีไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนให้ลุกขึ้นมาร่วมมือกันยกระดับให้โลกใบนี้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติอีกด้วย”.