การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่ทำให้เกิดภาวะดินเค็มและการสูญเสียดิน อีกทั้งการขาดแคลนน้ำทำให้ดินแข็ง ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อการเกษตร ซึ่งดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งสารอาหารสำหรับการเกษตร ทำหน้าที่กรองและกักเก็บน้ำ ดินที่ถูกกัดเซาะและบดอัดจะไม่สามารถกักเก็บ ระบาย และกรองน้ำได้ดี ทำให้ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และดินถล่มมีความรุนแรงขึ้น

ในวันดินโลก วันที่ 5 ธ.ค. องค์การอาหารและการ เกษตรแห่งสหประชาชาติ  (เอฟเอโอ) เสนอแนะให้ประเทศ เอเชียแปซิฟิกเร่งป้องกันการเสื่อมคุณภาพของดินอย่างเร่งด่วนคู่ไปกับการบริหารน้ำอย่างยั่งยืน เพราะคุณภาพของดินและน้ำเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก

หากดินมีคุณภาพดีเพราะมีอินทรียวัตถุอยู่มาก ความชื้นในผิวดินและการกักเก็บน้ำจะดีขึ้น และน้ำที่มีในดินจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และโครงสร้างที่เหมาะกับการเกษตรให้แก่ดิน เป็นที่อยู่อาศัยของจุลชีพจำนวนมหาศาล และช่วยกักเก็บคาร์บอนที่ทำให้เกิดวิกฤติสภาพอากาศ

ในขณะนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกิดความเสื่อมโทรมของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในดินและน้ำ เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำ การที่ผิวดินถูกชะล้าง และการแพร่กระจายของแพลงก์ตอนพืชหรือสาหร่ายที่เกิดจากน้ำมีสารอาหารมากเกินไป 

“จอง จิน คิม” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ เอฟเอโอ เปิดเผยว่า  ปีนี้ให้ความสำคัญอย่างมากกับความเชื่อมโยงระหว่างดินและน้ำ หลายคนไม่รู้ว่าทรัพยากรที่สำคัญทั้ง 2 อย่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน และมีความสำคัญต่อการต้านทานวิกฤติสภาพอากาศการดูแลดินอย่างยั่งยืนจะทำให้ระบบเกษตรอาหารรับมือกับวิกฤติสภาพอากาศได้ดี ทำให้ดินมีคาร์บอนมากขึ้น และอุ้มน้ำไว้ได้ดีขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อดิน น้ำ และพืชที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ดินที่ดีขึ้นส่งผลต่อระบบนิเวศ และช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การศึกษาพบว่าดินในภูมิภาคเอเชีย สามารถกักเก็บคาร์บอนเป็นปริมาณกว่า 180 เมกะตันต่อปี หากใช้การบริหารดินให้มีคาร์บอนสูงอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ต้องมีการดูแลคุณภาพของน้ำ โดยส่งเสริมวิธีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงอย่างยั่งยืน พัฒนาการชลประทานที่เหมาะสม ปรับปรุงระบบการระบายน้ำ ควบคุมการดูดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ และการเฝ้าระวังความเค็มของน้ำใต้ดินและดิน เพื่อลดปัญหาคุณภาพของดินเสื่อมโทรม และส่งผลดีต่อปริมาณน้ำสำหรับการเกษตรกรรม

“คิม” กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ดีดินในหลายพื้นที่กำลังอยู่ในสภาพเปราะบาง มีธาตุอาหาร  อินทรียวัตถุน้อย นอกจากนี้น้ำที่มีปริมาณไม่เพียงพอเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับการใช้ดินในภาคเกษตร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความเร่งด่วนในการดูแลดินให้ยั่งยืน

ทั้งนี้ประเทศในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกพบกับปัญหาดินเสื่อมโทรม และการขาดแคลนน้ำที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นจากการใช้งานที่ขาดความยั่งยืน และได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“ดินไม่เป็นทรัพยากรหมุนเวียน ต้องใช้เวลานับพันปีที่จะเกิดหน้าดินหนา 1 เซนติเมตร แต่เราอาจสูญเสียดินไปภายในเวลาไม่กี่นาทีจากการกระทำที่ไม่ระมัดระวัง และในขณะนี้ประชากร 3 ใน 4 ของภูมิภาค กำลังประสบปัญหากับความไม่มั่นคงด้านน้ำ เราควรมีวิธีการบริหารน้ำและดินอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะช่วยให้ระบบเกษตรอาหารแข็งแกร่งขึ้น”

“คิม” กล่าวอีกว่า  เอฟเอโอ เสนอแนะให้ประเทศต่างๆ ให้เร่งส่งเสริมการดูแลดินอย่างยั่งยืนในทุกระดับ โดยในระดับผู้วางนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรมีความร่วมมือระหว่างกันที่ดีขึ้น ออกแบบแผนงานที่ชัดเจน และมีการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อใช้น้ำจืดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงด้วยวิธีการที่ยั่งยืน การสร้างระบบชลประทาน ระบายน้ำ และนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างเหมาะสม ตลอดจนมีการติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องเช่นความเค็มของดินและน้ำใต้ดิน

ในระดับบุคคลก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อใช้น้ำอย่างระมัดระวัง และท้ายที่สุดผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับดินโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรและคนทั่วไปที่ปลูกต้นไม้ต้องมีความเข้าใจในการดูแลดินและน้ำเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ต้องมีการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง

จากข้อมูลของ เอฟเอโอ ระบบการ เกษตรทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาฝนมีสัดส่วน 80% ของทั้งหมด ในจำนวนนี้ผลิตอาหารถึง 60% ทั่วโลก การดูแลความชื้นบนผิวดินอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก  ส่วนเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาน้ำจืดจากการชลประทานมีสัดส่วน 70% ของการเกษตรทั่วโลก

ในประเทศส่วนใหญ่ภาคเกษตรกรรมมีการใช้น้ำเป็นสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านอื่น รายงาน Managing Water Scarcity in Asia and the Pacific – A Summary ที่จัดทำโดยเอฟเอโอ และ Australia Water Partnership และได้รับการเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ เปิดเผยว่า ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยมีการใช้น้ำจืด 90.4% ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมดในพ.ศ. 2563 ในขณะที่กัมพูชามีสัดส่วน 94% เวียดนาม 94.8% เมียนมา 88.6% และอินโดนีเซีย 85.2% FAO จึงให้ความสำคัญกับการบริหารน้ำในภาคเกษตรเป็นอย่างมาก

“คิม” ย้ำว่า สถานการณ์ด้านดินและน้ำในปัจจุบันเป็นที่น่ากังวล แต่ก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานวันดินโลก โดยกรมพัฒนาที่ดินในวันนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าการฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของดินนั้นสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ 

นับตั้งแต่ปี 59  เป็นต้นมาสมัชชาแห่งองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 5 ธ.ค.เป็นวันดินโลก เพื่อส่งเสริมให้นานาชาติให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และการปรับปรุงคุณภาพของดิน และเป็นการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ที่ทรงให้ความสำคัญกับคุณภาพของดินในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

เนื่องจากทรัพยากรดินของเอเชียมีความหลากหลายตามเงื่อนไขทางสภาพอากาศธรณีวิทยา และธรณีสัณฐานวิทยา รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และประเภทดินตั้งแต่ “ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว” ทางตอนเหนือไปจนถึงพื้นที่พรุ ในเขตร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับประเทศไทย พบว่า ยังขาดแผนที่ดินอย่างละเอียดในรูปแบบดิจิทัลและแผนที่ที่มีอยู่ครอบคลุมเพียงแค่ 70% ของพื้นที่ในประเทศทั้งหมด มีความจำเป็นต้องทำให้แผนที่ดินอยู่ในรูปแบบดิจิทัล และอัปเดต ฐานข้อมูลของชั้นดินและระบบข้อมูลเกี่ยวกับดิน เพื่อทำให้มีความเข้ากันได้กับประเทศอื่นมากขึ้น นอกจากแผนที่แล้วโครงการนี้มีเป้าหมายพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านดินระดับประเทศ และภูมิภาค จะนำไปสู่การประสานเป็นส่วนหนึ่งของระบบฐานข้อมูลดินระดับโลก.