รอบปี 2566 ที่จะผ่านไปในอีกไม่ช้าไม่นานจากนี้…ในจำนวนราว ๆ ครึ่งร้อยชีวิตที่ “ทีมวิถีชีวิต” ได้นำเรื่องราววิถีชีวิตที่น่าสนใจมาเสนอไป มีทุกเพศสภาพ และก็มีทุกช่วงวัย ซึ่งสำหรับช่วงวัย “เด็ก-เยาวชน” วิถีชีวิตก็น่าสนใจมาก ๆ… ดังเช่น “วิถีชีวิตเด็กเด่น-วิถีชีวิตวัยเยาว์น่าทึ่ง ปี 2566” ที่ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ประมวลสรุปมาเสนอส่งท้ายปีในวันนี้…

“ถ้าหากมีคนถามผมว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ผมก็จะบอกว่า โตขึ้นผมอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนครับ เพราะผมมีเรื่องสนุก ๆ ในหัวเยอะแยะเลย จนน้องเอินน้องสาวของผมก็ชอบ และชมว่าผมแต่งเรื่องเก่ง ตอนเด็ก ๆ ผมจะมีหน้าที่ต้องเล่านิทานให้น้องเอินฟัง น้องเอินจะชอบมาก หัวเราะไม่ยอมนอนเลย ตอนนี้ผมก็มีโครงการที่จะเขียนลงใน webtoon อยู่ครับ… หากใครที่สนใจก็ลองติดตามผลงานของผมได้ครับ” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำกล่าวของ “น้องอเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์”

น้องอเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์

หนุ่มน้อยคนนี้ “มีภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้” หรือโรค “Learning Disabilities (LD)” อย่างไรก็ดี ด้วยกำลังใจและ “พลังจากครอบครัว” ที่สุดก็ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี แถมยังสามารถสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมา ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวและเส้นทางของชีวิตเขาผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์

เรื่องราวชีวิตน้องอเล็กที่ถูกถ่ายทอดไว้ผ่าน “ทีมวิถีชีวิต” นั้น นอกจากถ่ายทอดโดยน้องเองแล้ว หลักใหญ่ใจความสำคัญ ๆ ยังถูกถ่ายทอดไว้โดย คุณแม่โสภี คุณแม่ของน้องอเล็ก ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในวันนี้ของลูกชาย โดยคุณแม่โสภีให้ข้อมูลไว้ว่า… มีเด็ก LD จำนวนไม่มากนักที่สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข แม้จะสามารถฝึกฝนให้มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งก็ ต้องอาศัยพลังและกำลังใจจากครอบครัวมากเป็นพิเศษ แต่…หากครอบครัวมุ่งมั่นแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าก็จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีชีวิตในสังคมโดยไม่แตกต่างจากเด็กคนอื่น ๆ ได้ ดังเช่นลูกชายของเธอ…

น้องอเล็กจัดแสดงผลงาน

“หากเรารู้ชัดว่าเด็กเขาเป็นอะไร เราก็จะได้หาทางช่วยเหลือได้ถูกวิธี และทำให้จากปัญหาที่เราคิดว่าหนัก ก็จะเบาขึ้น ซึ่งถึงแม้น้องเขาจะเป็นเด็ก LD แต่ใครจะเชื่อว่าอเล็กจะกลายเป็นนักเขียน ในแบบที่เราเองก็ไม่คาดคิดว่าเด็กที่มีภาวะนี้แบบเขาจะสามารถสื่อสารและแสดงศักยภาพออกมาได้มากมายขนาดนี้”

ทั้งนี้ “น้องอเล็ก” คนนี้สามารถฝึกฝนจนก้าวขึ้นมาเป็น “นักเขียนออนไลน์” ได้ โดยผลงานเรื่องแรกคือ “Paper Heart (หัวใจกระดาษ)” ที่ได้เผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชัน Joylada (จอยลดา) ซึ่งหลังเผยแพร่ปรากฏว่าผลงานของน้องมีคนติดตามอ่านเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย โดยผู้ที่ติดตามอ่านผลงานของน้องนั้น หลายคนไม่รู้ว่านิยายเรื่องนี้เป็นผลงานเขียนของเด็กที่ป่วยด้วยภาวะโรคบกพร่องในการเรียนรู้ ซึ่งพอได้ทราบความจริงในภายหลัง ต่างก็รู้สึก “เซอร์ไพรส์” มาก และหลังมีผลงานเขียนเรื่องแรกแล้ว ต่อมาน้องก็พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการเป็น “ศิลปินดิจิทัล” โดย “วาดภาพดิจิทัล” ลงขายบนแพลตฟอร์ม JNFT Marketplace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT สัญชาติไทย ที่ได้เข้ามาให้การสนับสนุนน้องอเล็ก ด้วยการนำผลงานไปจัดทำเป็นรูปแบบ “แสตมป์ดิจิทัล (I-Stamp)” ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากการขายนั้นมอบให้แก่มูลนิธิออทิสติกไทยฯ

“สิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยเด็กที่มีภาวะนี้ให้มีพัฒนาการใกล้เคียงกับเด็กปกติทั่วไปก็คือ ครอบครัวต้องยอมรับความจริงก่อน” …นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งจากการถ่ายทอดไว้โดยคุณแม่โสภีของ “น้องอเล็ก-ชนกรณ์” ผู้ซึ่ง… “สร้างเซอร์ไพรส์ได้ด้วยพลังครอบครัว”

“ช่วงโควิดระบาดผมติดเกมมาก คุณพ่อคุณแม่เลยอยากดึงผมให้ออกจากเกม บอกให้ผมลองวาดรูปดู พอได้วาดผมก็ติดใจ และวาดมาเรื่อย ๆ โดยไม่คิดว่าผมจะมีรายได้จากภาพวาดเหล่านี้”

น้องปุญ-ปุญชรัศมิ์ คงคามี

“ผมชอบวาดภาพมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ และมีช่วงหนึ่งคุณแม่เคยพาไปประกวด แล้วได้รับรางวัลชมเชย แต่ก็ห่าง ๆ มา จนหวนกลับมาวาดภาพจริงจังอีกครั้งตอนโควิด-19 เพราะผมติดเกม จึงให้ผมลองวาดรูปดู แล้วผมก็วาดมาเรื่อย ๆ ซึ่งศิลปินที่เป็นไอดอลของผมนั้น ชื่อว่า Doodle ครับ ผมเห็นเขาเมื่อตอน 1-2 ปีที่แล้วนี่เอง ซึ่งศิลปินคนนี้เป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลกับแนวทางภาพวาดของผมเช่นกัน ทำให้ผมเกิดไอเดียในการวาดตัวการ์ตูน ส่วนเรื่องราวในภาพนั้น ก็จะเป็นมุมมองที่มีต่อชีวิตที่โรงเรียน ชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่เรื่องที่พ่อเล่าให้ฟัง ซึ่งเวลาวาดผมไม่คิดกังวลอะไร วาดไปเรื่อย ๆ แค่ทำให้มันดีที่สุดครับ” …นี่เป็นคำกล่าวของ “น้องปุญ-ปุญชรัศมิ์ คงคามี”

สำหรับหนุ่มน้อยคนนี้ คุณพ่อคุณแม่ ต้องการให้ห่าง ๆ จากการติดเกม จึงให้น้องใช้เวลาว่างวาดภาพ เริ่มจากภาพขนาดเล็ก ๆ แล้วขยายการวาดภาพลงผืนผ้าใบขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยภาพที่วาดเสร็จทางคุณพ่อนำไปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก จนมีเพื่อน ๆ ของคุณพ่อมาเห็นผลงานของน้องปุญ ก็เลยสนับสนุนผลงานของน้องมาเรื่อย ๆ โดยคุณพ่อนั้นอยู่ในกลุ่มศิลปินเมืองละโว้ ซึ่งต่อมาคุณพ่อก็ได้พาน้องเข้ากลุ่มนี้ด้วย และนำผลงานของน้องไปร่วมแสดงในนิทรรศการของกลุ่ม ส่งผลทำให้ผลงานเป็นที่รู้จักมากขึ้น และก็ได้ขยายไปยังกลุ่มศิลปินที่จำหน่ายภาพรูปแบบ NFT ที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลศิลปะรูปแบบใหม่ ซึ่งปรากฏว่ามีคนสนใจผลงานของน้องปุญมาก สามารถขายผลงานภาพวาดได้หลายชิ้น โดยข้อมูลเบื้องต้นในช่วงที่เรื่องราวของน้องถูกถ่ายทอดผ่าน “ทีมวิถีชีวิต” ไว้นั้น ในช่วงนั้นก็คิดเป็นรายได้ที่ได้จากการขายภาพเป็นมูลค่าหลักแสนบาท

น้องปุญสร้างสรรค์ผลงาน

ทาง คุณพ่อกัญจน์คชา คุณพ่อของน้องปุญ เล่าไว้บางช่วงบางตอนว่า… “ทีแรกผมเองก็ไม่รู้ว่า NFT คืออะไร พอดีเพื่อน ๆ เขาเข้าไปกันก่อน แล้วก็เอามาโพสต์ในเฟซบุ๊ก ผมก็เลยลองเข้าไปศึกษาดู จนพบว่า NFT เป็นศิลปะสมัยใหม่ จนพอมาดูงานของลูกเราแล้ว ก็เลยคิดว่าผลงานของลูกน่าจะไปใน NFT ได้ ผมก็เลยเริ่มศึกษาจริงจังแล้วสมัครให้ลูก และลองเอาผลงานลูกไปลองขายดู ซึ่งตอนน้องวาดไว้ได้ 50 รูป ลองขาย 1-2 เดือน น้องก็ขายผลงานได้แล้วแสนกว่าบาท ซึ่งชิ้นที่แพงที่สุดอยู่ที่ 18,000 บาทครับ ทำให้ผมค้นพบว่าเด็กรุ่นใหม่นี่เก่งมาก ๆ แล้วยิ่งมีวงการ NFT เข้ามาด้วย ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คนทำงานศิลปะมีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน… ผมอยากสนับสนุนลูกชายให้ไปทางนี้ให้ได้เต็มที่นะครับ เพราะนอกจากเขาจะสามารถมีรายได้จากความชอบของตัวเองแล้ว ยังช่วยให้เขามีจินตนาการ ช่วยเรื่องของการฝึกสมาธิด้วยครับ” …คุณพ่อน้องปุญเผยไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” …ที่จากจุดเริ่มต้นต้องการให้ “น้องปุญ” ใช้เวลาวาดภาพนาน ๆ จะได้ไม่ “ติดเกม” ก็ก่อเกิดศิลปินวาดภาพวัยหนุ่มน้อยขึ้นในวงการ

ทั้งนี้ คุณพ่อของน้องปุญระบุกับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้อีกว่า… ผลงานของลูกชายนั้นได้รับความสนใจมาก นอกจากจะขายผลงานได้แล้วก็ยังมีบริษัทหลายแห่งติดต่อเข้ามาอยากทำสัญญาว่าจ้างให้น้องปุญวาดภาพการ์ตูน เพื่อนำไปพัฒนาทำเป็นวอลเปเปอร์ลงโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ก็ยังมีที่ติดต่อเข้ามาให้น้องออกแบบกล่องน้ำผลไม้ด้วย อย่างไรก็ตาม…

“ผมเลือกเอาความสนุกกับความสุขของลูกเป็นหลักเลยครับ ถ้าเขาไม่สนุก ผมก็ไม่รับทำ รับอยู่แค่ไม่กี่งาน รู้สึกว่าลูกไม่มีความสุขก็เลิกรับ ตอนหลังจะเลือกรับงานที่เขาอยากได้ลายเส้นและสไตล์ที่เป็นของน้องเพียว ๆ เป็นหลัก เพราะเราไม่อยากให้เขารู้สึกเบื่อกับการวาดภาพตรงนี้ไปเสียก่อน” เป็นหลักบาลานซ์ชีวิตลูก

และคุณพ่อน้องปุญก็ยังระบุกับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้ด้วยว่า… ด้วยความที่สไตล์และแนวทางการวาดภาพไม่เหมือนกัน บางครั้งตัวเขาเองก็ไม่เข้าใจถึงสิ่งที่ลูกชายต้องการสื่อสารในภาพ แต่พอได้ลองเปิดใจและพยายามพิจารณาแบบจริงจัง ตัวเขาก็พบว่าผลงานของลูกนั้นชัดเจนมาก ๆ หรือแม้แต่ภาพที่ลูกชายวาดเล่น ๆ กับกลุ่มเพื่อน ๆ เมื่อเขาหยิบมานั่งดูก็พบว่าภาพดูมีพลังมาก… “ทำให้คิดได้ว่า การส่งเสริมลูกที่ดีที่สุด ก็คือการให้ลูกได้เปิดกว้างจินตนาการ” …ทั้งนี้ วิถีชีวิตของ “น้องปุญ-ปุญชรัศมิ์” นี่ก็เป็นบทพิสูจน์กรณี… “พลังจากครอบครัวที่มีต่อเด็กอย่างเหมาะสมและเข้าใจนั้น…สำคัญ”

“พอเอแคลร์เริ่มโตขึ้น และได้มีโอกาสไปเยี่ยมชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยกับชมรมที่โรงเรียน ไปแจกถุงเท้าให้กับเด็ก ๆ มีเด็กชายคนหนึ่งเดินเข้ามาขอบคุณ และบอกว่าอยากจะใช้ เพราะมีถุงเท้าอยู่คู่เดียวก็ยับเยินมาก ๆ เอแคลร์คิดว่าน้องคงไม่สามารถซื้อถุงเท้าสำหรับหลายวัน แล้วถ้าไม่สบายล่ะ…จะเข้าถึงการรักษากับแพทย์ได้อย่างไร รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วตัวเองโชคดีมากเพราะสามารถเข้าถึงการรักษาของแพทย์มาตลอด ขณะที่หลาย ๆ คนในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เลยเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำโครงการเอาชนะภูมิแพ้” …นี่เป็นคำกล่าวของ “น้องเอแคลร์-ณภัทร ศักดิ์พรทรัพย์”

น้องเอแคลร์-ณภัทร ศักดิ์พรทรัพย์

สาวน้อยคนนี้นั้น เธอเป็นเด็กที่เกิดก่อนกำหนด และ “ประสบปัญหาทางสุขภาพมากมาย” เป็นภูมิแพ้ทางผิวหนัง แพ้อาหารต่าง ๆ แพ้แม้กระทั่งเหงื่อของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นโรคสันหลังคด (mild scoliosis) ซึ่งปัญหาทางสุขภาพพวกนี้ทำให้ชีวิตเธอต้องมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ด้วย “พลังครอบครัว” สาวน้อยคนนี้สามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมได้อย่างน่าสนใ

“ได้พบคำว่า health equity หรือความเสมอภาคทางด้านสุขภาพ ซึ่ง WHO หรือ World Health Organization ก็ระบุว่าสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน หรือ human right เพราะทุกคนบนโลกใบนี้ควรที่จะได้เข้าถึงการรักษาของแพทย์ จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้เอแคลร์ทำงานเพื่อการเสริมสร้างความเสมอภาคทางสุขภาพในประเทศไทย”

น้องยังได้เล่าไว้ว่า… “อยากช่วยคนอื่นกันก่อนแก้…เกี่ยวกับภูมิแพ้” อย่างการช่วยด้วยครีมบำรุงผิว ซึ่งที่ดี ๆ จะมีราคาแพง ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งตัวเธอเองเป็นผู้มีประสบการณ์จากโรคภูมิแพ้ เวลาที่เป็นภูมิแพ้นอกจากยากินแล้วก็ยังต้องการครีมบำรุงผิวด้วย ผิวต้องชุ่มชื้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง นี่จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจที่จะ ผลิตครีมบำรุงผิวขึ้นมาเอง และมอบให้ชุมชนต่าง ๆ เพื่อที่จะลดความไม่เสมอภาคทางสุขภาพ ในประเทศไทย

“เอแคลร์ตัดสินใจผลิตครีมบำรุง Claire’s Choice เป็นวิธีที่ป้องกันภูมิแพ้ตั้งแต่แรก หรือเป็น preventative measure นั่นเอง ซึ่งเอแคลร์ได้บริจาคครีมบำรุงผิวไปให้ชุมชนต่าง ๆ เช่น ที่โรงเรียนบ้านคลองประสงค์ จ.กระบี่, คริสตจักรที่สมุทรปราการและที่ราชบุรี หรือที่โรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้ คิดว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ จึงจัดกิจกรรมสอนเด็ก ๆ ที่คริสตจักรเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวมและภูมิแพ้ด้วย”

ถ้าถามว่าเอาทุนทรัพย์จากไหนมาผลิตครีม? เธอบอกเล่าไว้ว่า… มาจากการระดมทุนที่ “เทใจดอทคอม” ซึ่งเธอเคยฝึกงานที่นี่ โดยเวลาพูดถึงการช่วยเหลือสังคมหลายคนมักนึกถึงองค์กรไม่แสวงกำไรหรือกิจการเพื่อสังคมที่ทำโครงการต่าง ๆ สำหรับชุมชน ซึ่ง “เทใจ” เป็นแหล่งที่รวมโครงการพวกนี้ เป็นพื้นที่สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมและเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้โครงการพวกนี้เป็นจริงได้… “ครีมที่ผลิต จำนวน 1,500 หลอด คุณพ่อช่วยสนับสนุนทุน 500 หลอด และได้จากการระดมทุนจากเทใจดอทคอม 1,000 หลอด” …เอแคลร์เล่าไว้ถึงการผลิตครีมล็อตแรก

น้องเอแคลร์ออกแจกครีม

“น้องเอแคลร์-ณภัทร” คนนี้ เธอยังเคยฝึกงานที่บริษัท “Meticuly” ซึ่งผลิตกระดูกเทียมไทเทเนียม โดยใช้เทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติ ในราคาย่อมเยาว์สำหรับคนไทย ที่เธอถือว่าก็เป็นการเสริมสร้างความเสมอภาคทางด้านสุขภาพอีกด้านหนึ่งได้ อีกทั้งเธอยังเป็นคิวเรเตอร์สำหรับ “TEDx บางขุนเทียน” เพราะประทับใจในอีเวนท์ และรู้สึกว่าเป็นวิธีที่สร้างแรงบันดาลใจและปลูกข้อคิดในคนรุ่นใหม่ ผ่านการเป็นคิวเรเตอร์ โดยเอแคลร์ได้ทำงานกับหลาย ๆ คนที่มีประสบการณ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการบนเทใจ หรือ activist สำหรับสภาพแวดล้อม ซึ่งเธอบอกไว้ว่าเธอเองก็ได้ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจดี ๆ

ทั้งนี้ “น้องเอแคลร์” บอกไว้ด้วยว่า… “จริง ๆ เป็นคนกลัวการเริ่มค่ะ เพราะเป็นจุดที่ยากที่สุด แต่พอมีทิศทางแล้วต่อไปก็ลื่นเลยค่ะ อย่างทำครีมก็ประสบปัญหาหลายด้าน แต่พอมีทิศทางแล้ว ต่อให้มีปัญหาอะไรก็หาทางออกได้ เจอปัญหา หยุด แล้วก็วางแผน ที่สำคัญที่ผ่านมาคุณพ่อคุณแม่ก็คอยให้คำแนะนำและเป็นกำลังใจให้ตลอด…”

…นี่เป็นตัวอย่าง “วิถีชีวิตเด็กเด่น-วิถีชีวิตวัยเยาว์น่าทึ่ง ปี 2566” ที่ “ทีมวิถีชีวิต” สรุปมาเสนอโดยสังเขป ซึ่ง… “สร้างเซอร์ไพรส์ได้…ด้วยพลังครอบครัว” “พลังครอบครัวที่มีให้อย่างเหมาะสมและเข้าใจ…สร้างศิลปิน” “คำแนะนำและกำลังใจเป็นพลังให้แก้ปัญหา…และสามารถสร้างสิ่งดีเพื่อสังคม” ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วน “น่าสนใจ” และ “ฉายภาพ”…“พลังครอบครัวนั้นสำคัญยิ่ง”.

ทีมวิถีชีวิต : รายงาน