วันที่ 22 ก.ย. นายธัญญะ กิจชัยนุกูล เลขาธิการสมาคม สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ เปิดเผยว่า สมาคมฯได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ขอทบทวนประกาศการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ ซึ่งในผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย.64 ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นถึงอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกขอทบทวนค่าลงพื้นที่ติดตามทวงถามหนี้ลูกค้าที่ค้างชำระ หรือค่าทวงถามหนี้ภาคสนาม ซึ่งในประกาศระบุไว้แค่ธุรกิจเช่าซื้อหรือลีสซิ่งรถยนต์เท่านั้น ไม่รวมธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จึงไม่สามารถเก็บค่าทวงถามหนี้ไม่เกิน 400 บาทตามประกาศได้
นอกจากนี้เรื่องที่ 2 สมาคมฯขอทบทวนตามประกาศเรื่องห้ามเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้หากลูกหนี้มียอดค้างไม่เกิน 1,000 บาท เนื่องจากตัวธุรกิจจำนำทะเบียนรถส่วนใหญ่ที่ปล่อยสินเชื่อจะไม่สามารถเก็บค่าทวงถามหนี้ตามประกาศนี้ได้เลย เพราะหากเป็นจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซต์ ยอดหนี้ต่องวดไม่ได้สูง แค่ 500-600 บาทเท่านั้น ทำให้ไม่ถึง 1,000 บาทตามที่ประกาศกำหนด จึงอยากให้ลดเพดานลงมาขอให้ห้ามเรียกเก็บหากลูกหนี้มียอดค้างต่ำกว่า 500 บาทได้หรือไม่
ทั้งนี้ การห้ามเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้หากมีหนี้ไม่ถึง 1,000 บาท เป็นกังวลว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรายเล็ก ๆ เพราะส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อต่ำกว่า 8,000 บาท ทำให้คำนวณค่างวดออกมาแล้วต่อเดือนไม่ถึง 1,000 บาทแน่นอน จึงจะเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กจะต้องรับ อาจกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนที่ต้องการเงิน จากปกติเป็นกลุ่มที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว ทำให้อาจผลักไปกู้หนี้นอกระบบได้
นายธัญญะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก่อนจะมีประกาศฉบับนี้ ผู้ดูแลอัตราค่าทวงถามหนี้จะเป็น ธปท. โดยปกติค่าทวงถามหนี้กรณีค้างหนี้งวดเดียวจะอยู่ที่ 100-200 บาท ส่วนกรณีค้างชำระเกิน 1 งวดขึ้นไปจะอยู่ที่ 200-400 บาท ขณะที่เรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ภาคสนามจะอยู่ที่ 500-1,000 บาท ซึ่งอัตราที่เรียกเก็บจะต้องสามารถชี้แจงธปท.ได้ว่าสะท้อนต้นทุนจริงอย่างไรด้วย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ตามประกาศใหม่ คือ ถ้าค้าง 1 งวดเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ไม่เกิน 50 บาท, ค้างเกิน 1 งวดขึ้นไปเก็บทวงถามต่อรอบไม่เกิน 100 บาท และค่าทวงถามหนี้ภาคสนามเก็บได้ไม่เกิน 400 บาท ซึ่งสมาคมฯไม่ได้มีปัญหาเรื่องอัตราเรียกเก็บซึ่งสะท้อนต้นทุนจริง
“ตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทยได้รับหนังสือที่สมาคมฯยื่นไปแล้ว แต่โดยขั้นตอนอำนาจไม่ได้อยู่ที่กระทรวงมหาดไทยผู้เดียว ทำให้ต้องนำเรื่องไปเสนอคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจากท่านอื่นๆด้วย ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงาน รวมทั้งมีกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย โดยสมาคมฯยังได้ยื่นหนังสือไปยังคลังและธปท.ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน”