ขณะที่หลาย ๆ ประเทศในอาเซียน อย่าง สิงคโปร์ ได้อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ อยู่อันดับ 20 มาเลเซีย อันดับ 25 เวียดนาม อันดับ 58 อินโดนีเซีย อันดับ 79 เมียนมา อันดับ 90 เขมร ได้อันดับ98 ส่วนไทยนั้นได้อันดับ 101 และอีกหนึ่งข่าวร้ายที่ตามมาจากข่าวร้ายแรกก็คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ PISA ที่มีคะแนนของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เป็นฐานการประเมิน โดยล่าสุดคะแนนคณิตศาสตร์ของไทยนั้น เราได้ 394 คะแนน หรือลดลง 25 คะแนน ส่วนคะแนนวิทยาศาสตร์เราได้ 409 คะแนน ลดลง 17 คะแนน และคะแนนการอ่าน เราได้ 379 คะแนน ลดลง 14 คะแนน และจากระดับและคะแนนที่ลดลงมากมายเช่นนี้ อาจทำให้หลายคนรู้สึกตกใจ แต่กับคนที่คลุกคลีกับระบบการศึกษาไทยมานานคงจะไม่แปลกมากนัก เมื่อได้เห็นผลคะแนนที่ประกาศออกมานี้ เพราะเคยมีการเตือนไปที่ผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ท่านทั้งหลายคงไม่ได้ยิน หรือไม่ก็ไม่อยากได้ยิน ซึ่งเราก็คงจะไปตำหนิเจ้ากระทรวงในขณะนี้ไม่ได้ เพราะท่านเองก็เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง และถ้าจะตำหนิผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการที่รับผิดชอบ ส่วนใหญ่ท่านก็เกษียณไปแล้ว และท่านก็คงจะปัดความรับผิดชอบไปที่นโยบายของนักการเมือง แต่ผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงชุดปัจจุบันก็คงปฏิเสธผลงานไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องอยู่ในขบวนการในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี อดีตที่ผ่านไปคงไม่สำคัญเท่าแนวทางพัฒนาแก้ไขในอนาคต

ทั้งนี้ ผลความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษและความสามารถการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยนั้น ด้อยกว่ามาตรฐานโลกจริงหรือ เรื่องนี้ก็เป็นคำถามน่าสนใจ ซึ่งถ้าดูข้อมูลรายละเอียดจะมีข้อโต้แย้งเรื่องผู้ทำแบบสำรวจ วิธีคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง วิธีการทดสอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ค่าเฉลี่ยของไทยเราตํ่ามากจริง ๆ แถมเรามีเด็กที่เก่งมาก ๆ เป็นแค่จำนวนน้อย แต่มีเด็กที่ไม่เก่งเลยเป็นจำนวนมาก ที่เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงเรื่องความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา ที่เรายังคงมีช่องว่างอยู่มาก นี่คือเหตุผลที่ทำไมผู้ปกครองจึงไม่เลือกให้ลูก ๆ เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน แต่พยายามแย่งกันให้ได้เข้าเรียนโรงเรียนดี ๆ ซึ่งหลังจากเรื่องนี้เป็นข่าวออกมา ทางกระทรวงศึกษาฯ ได้รีบออกมาแถลงข่าวยาวเหยียด พร้อมตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงแก้ไขทันที แต่เมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการแล้ว คงบอกได้ว่าท่านใส่ใจเรื่องนี้เพียงไร และคาดเดาได้ว่าจะมีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน และฟังจากข่าวแล้ว วิเคราะห์ได้ว่าผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯ เข้าใจที่มาที่ไป และปัญหาต่าง ๆ อย่างดี แต่ที่แปลกใจคือ ใช้ข้ออ้างเรื่องอุปสรรคจากการเรียนการสอนในช่วง Covid-19 แทนที่จะยอมรับเรื่องปัญหาของระบบราชการไทย ที่หน่วยงานต่าง ๆ ยังต่างคนต่างทำไปกันคนละทิศละทาง และยังหาหน่วยงานหลักของกระทรวงที่จะมารับผิดชอบเรื่องของภาษาอังกฤษ และ STEM ไม่ได้เลย ทั้งที่มีหน่วยงานและงบประมาณจำนวนมาก เพียงแต่ยังมีเรื่องของ Mindset เดิม ๆ แบบช่วย ๆ กันทำ แต่ไม่มีใครรับผิดชอบ ผลออกมาไม่ดีก็โทษเด็กไว้ก่อน จนเกิดคำถามว่าเมื่อไรจะมีหัวหน้าทีมประเทศไทยกล้าหาญออกมาแอ่นอกรับผิดชอบสักที

แล้วควรทำอย่างไร ส่วนตัวผมคิดว่าควรระดมทีมประเทศไทย และหาคนที่มี Passion สูง ๆ จากภาคเอกชนกับนักการศึกษายุคใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถและมีเครือข่ายตรงกับเรื่องนั้น ตลอดจนควรมี Mindset ของศตวรรษที่ 21 มาร่วมกับทีมกระทรวงศึกษา โดยต้องประกาศหัวหน้าทีมให้ชัด ๆ และต้องมี KPI มีอำนาจที่จะบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกันโดยด่วน ส่วนในเรื่องของการพัฒนาภาษาอังกฤษให้โรงเรียนที่ยากจนนั้น เรื่องนี้ผมเคยทำโครงการ CSR ของบริษัทชื่อโครงการว่า “English for Kids” โดยเราจะเลือกโรงเรียนเล็ก ๆ ที่ยากจนที่สุดใน จ.พระนครศรีอยุธยา และเราจะเริ่มจากการทดสอบ ONET ผลคือน้อง ๆ ได้คะแนนตํ่ามาก ซึ่งตอนแรกคุณครูบอกเราว่านักเรียนยากจน ก็ทำได้เท่านี้ แต่เราไม่เชื่อ จึงขออนุญาต ผอ. ให้คุณครูลองสอบดู ผลคือ คุณครูสอบได้คะแนนมากกว่าน้อง ๆ นักเรียนแค่ 5-10 คะแนน ซึ่งนับว่าตํ่ามาก และคุณครูก็บอกว่าข้อสอบที่กระทรวงออกมาไม่ตรงกับหลักสูตร ไม่ตรงกับที่สอน แล้วคุณครูก็เริ่มปรับเปลี่ยนสิ่งที่สอนใหม่ให้สอดคล้องกับข้อสอบ พอคุณครูเปลี่ยน Mindset และปรับเปลี่ยนวิธีสอน ด้วยการฝึกให้เด็กรักภาษาอังกฤษ กับจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ออกไปเป็นมัคคุเทศก์น้อยเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวฝรั่งฟัง ทำให้ได้ฝึกภาษา แถมมีรายได้พิเศษไปเลี้ยงครอบครัวด้วย

โดยทางบริษัทที่ทำโครงการนี้ ได้ระดมทุนจ้างครูฝรั่งไปสอนเสริม รวมถึงบริจาคหนังสือภาษาอังกฤษ พร้อมอุปกรณ์อย่างดีไปติดตั้ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ ภายใน 2 ปี โรงเรียนเล็ก ๆ ที่ยากจนที่สุดใน จ.พระนครศรีอยุธยา แห่งนี้ มีผลสอบ ONET ภาษาอังกฤษเท่าเทียมกับกลุ่มโรงเรียนสาธิต และน้อง ๆ ในโครงการก็ได้รับคัดเลือกไปกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีเป็นภาษาอังกฤษ และอัดเป็นคลิปสร้างแรงบันดาลใจให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ นี่คือบทพิสูจน์ว่า Passion ที่มากพอจะช่วยลดความเหลื่อมลํ้าได้ เพราะถึงแม้เด็กไทยจะยากจน แต่ทุกคนก็มีศักยภาพที่ไม่ต่างกัน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กระทรวงศึกษาฯ จะเริ่มเปลี่ยน Mindset เพื่อให้มีการจัดการศึกษาแบบใหม่ และมี Passion การทำงานเป็นทีมประเทศไทยมากขึ้น ให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังกับภาคเอกชนและนักการศึกษารุ่นใหม่ โดยหวังว่าเราจะได้เห็น “Decade of Action” อย่างจริงจัง เพราะทุกวิกฤติคือโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลง จึงขอให้กำลังใจผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน ให้มาร่วมกันเปลี่ยนอนาคตของชาติ ด้วยการเริ่มเปลี่ยน Mindset และพฤติกรรมของทุกท่านกันก่อน ซึ่งเชื่อว่า…ถ้าทุกคนร่วมกัน…เราจะทำได้แน่นอน.