แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า การซื้อของขวัญที่มีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนนั้น สามารถที่จะช่วยกอบกู้โลกจากวิกฤติได้ และในทางกลับกัน ถ้าเราไม่คิดถึงเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย กรณีนี้ก็จะเป็นการเร่งให้โลกของเราหายนะได้เช่นกัน

แล้วควรจะเลือกอย่างไรให้รักษ์โลก? ทั้งนี้ ผมได้ลองพูดคุยกับคนกลุ่มต่าง ๆ ว่าถ้าพูดถึง ’ของขวัญรักษ์โลก“ พวกเขาจะคิดอะไรอยู่ในใจ โดยในวงเสวนาของกลุ่มชายชาตรีที่แทบจะได้ของขวัญมาครบทุกอย่างแล้ว ผมได้โยนคำถามไปว่า… ถ้าคุณภริยาใจดี ซื้อของขวัญปีใหม่รักษ์โลกให้ พวกเขาจะอยากได้อะไร? โดยที่ “ชายสูงวัยคนแรก” ตอบว่า… ต้องรถ EV สิ เพราะกำลังอินเทรนด์ เพราะถึงเวลาที่จะต้องใช้พลังงานสะอาด ที่ไม่สร้างฝุ่นควันกับเสียงที่เป็นมลพิษ แถมยังประหยัด เพราะไม่ต้องเข้าปั๊มนํ้ามันบ่อย ๆ อีกด้วย ส่วน “ชายสมถะคนที่สองได้บอกว่า… คุณภริยาคงไม่ซื้อให้หรอกเพราะแพงไป จึงขอเลือกนาฬิการักษ์โลก เพราะปัจจุบันมีหลายชนิดให้เลือกใช้ เช่น นาฬิกาสุขภาพช่วยดูแลการเต้นของหัวใจ ชีพจร และความเครียด แถมเตือนให้ออกกำลังกายด้วย ยิ่งบางชนิดไม่ต้องมีแบตเตอรี แต่ต้องใช้แรงเคลื่อนไหว หรือพลังงานแสงอาทิตย์หรือจะให้รักษ์โลกไปกว่านั้น ก็อาจหานาฬิกาที่ทำจาก Bio Ceramic ที่เป็นนวัตกรรมวัสดุจากธรรมชาติ แถมยังเป็นการสนับสนุนเรื่องของ BCG Bio Circular Green อีกด้วย ที่สำคัญปัจจุบันนี้มีแบรนด์ดัง ๆ ให้เลือกมากมาย ขณะที่ “ชายอนุรักษ์คนที่สาม” บอกว่า… อยากได้ของที่ใช้ทุกวัน โดยวันก่อนเห็นปากกาที่ผลิตจากการรีไซเคิลแคปซูลกาแฟที่ถูกโยนทิ้งวันละหลายอัน

ส่วนกลุ่มสาว ๆ นั้น ผมก็ได้ถามคำถามนี้เช่นกัน โดย “สาวไฮโซคนแรก” บอกว่า… อยากให้สามีซื้อบ้านให้ใหม่ ให้เป็นบ้านรักษ์โลก ที่ต้องประหยัดไฟเบอร์ 5 ในระดับ Net Zero ด้วย ซึ่งเมื่อวันก่อนเห็นที่ทาง กฟผ. ทำโมเดลตัวอย่างไว้ ที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งสวยและทันสมัยมาก สำหรับ “สาวเซอร์คนที่สอง” ได้บอกว่า… ขอแค่ของขวัญชิ้นเล็ก ๆ ก็พอ เช่น กระเป๋าสวย ๆ แต่ต้องทำจากวัสดุรีไซเคิลจากการผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม ทั้งยังช่วยส่งเสริมเรื่องการพัฒนาความสามารถให้กับชุมชน กลุ่มสตรี และคนพิการด้วยเนื่องจากหลายชุมชนได้มีการผลิตกระเป๋าจากวัสดุรีไซเคิล ที่ปัจจุบันมีดีไซน์เก๋ไก๋มาก ๆ และมาถึง “สาวสวยคนที่สาม” ที่เป็นคนชอบแต่งตัว โดยเธอบอกว่า ขอเป็นเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ โดยมีดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบภายใต้แนวคิดรักษ์โลก ซึ่งบางแบรนด์ยังเป็น SE หรือ Social Enterprise ด้วย

นอกจากนั้น ผมยังถามต่ออีกว่า… แล้วถ้าจะซื้อของขวัญให้ผู้ใหญ่ที่คิดถึงจะซื้ออะไร ซึ่งคำตอบที่ได้กลับมาก็จะคล้าย ๆ กัน ได้แก่ 1.สินค้า OTOP ชุมชน ที่จะได้ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ แต่อาจจะเลือกที่มีดีไซน์ มีเรื่องราว ยิ่งถ้าเป็นการรีไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้ก็
ยิ่งดีมาก ๆ 2.สินค้าของมูลนิธิต่าง ๆ เพราะนอกจากจะได้สินค้าที่ดีแล้ว ยังช่วยสนับสนุนกิจกรรมดี ๆ ของมูลนิธิเหล่านั้นด้วย ซึ่งสินค้าของมูลนิธิต่าง ๆ วันนี้พัฒนาไปไกลมาก แถมบางมูลนิธิยังเป็น SE หรือ Social Enterprise ด้วย 3.สินค้านวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการสนับสนุนให้เกิด start up โดยบางชนิดยังเป็นสินค้านวัตกรรมรักษ์โลกที่ชนะการประกวด หรือเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทต่าง ๆ อีกด้วย ที่ร่วมกันวิจัยพัฒนาสินค้าและบริการเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหา SDG ข้อต่าง ๆ เช่น สินค้าประหยัดพลังงาน สินค้าส่งเสริมสุขภาพ สินค้านวัตกรรมคนชรา เป็นต้น

จากคำตอบที่ได้เหล่านี้ ทำให้สรุปได้ว่า… การพิจารณาเลือกของขวัญรักษ์โลกนั้น เราควรคิดตริตรองในเรื่องต่อไปนี้ คือ 1.ของขวัญนี้ดีต่อโลกมากน้อยแค่ไหน หรือช่วยเราประหยัดเงิน ประหยัดพลังงาน กับช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่

2.ของขวัญนี้มีคุณสมบัติ BCG Bio Circular Green มากน้อยแค่ไหน 3.ของขวัญนี้สร้างประโยชน์ให้ชุมชนมากน้อยแค่ไหน และใครเป็นผู้ผลิต รวมถึงของขวัญนี้ยังช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ หรือไม่ 4.ของขวัญนี้ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกยั่งยืนหรือไม่ และช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ตั้งใจกู้โลก นักนวัตกร ผู้พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ 5.ของขวัญนี้ช่วยเหลือองค์กรหรือมูลนิธิต่าง ๆ หรือไม่ เพื่อให้มีทุนทำกิจกรรมดี ๆ ให้สังคมต่อไปให้กว้างขวางขึ้น

’การเลือกซื้อของขวัญปีใหม่ในปีนี้ ผมขอให้ต้องคิดให้มาก ๆ กันหน่อยนะครับ ไม่อย่างนั้นของขวัญที่เราจับจ่ายกันจำนวนมากเหล่านี้ จะกลายเป็นภาระของโลกตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า รวมถึงของขวัญที่เรามอบให้กับคนที่รัก คนที่นับถือ และคนที่คิดถึงนั้น สุดท้ายอาจกลายเป็นการเร่งให้โลกใบนี้ของพวกเราใกล้คำว่า…หายนะเร็วขึ้น”.