หากย้อนไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพจัดประกวดที่ภูเก็ต ครั้งนั้น ข้าวหอมมะลิของกัมพูชาชื่อ ผกาลำดวน ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลก เฉือนชนะข้าวหอมมะลิ 105 แชมป์เก่าจากไทยไปหวุดหวิด ซึ่งถือเป็นการเสียแชมป์คาบ้าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ข้าวหอมไทยคว้าแชมป์ข้าวโลกมาแล้วถึง 2 ปีติดกัน

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยให้เหตุผลว่า เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับกรรมการผู้ตัดสินที่เป็นเชฟชาวสหรัฐระบุว่า ข้าวหอมมะลิไทยแพ้ข้าวกัมพูชา ตรงที่กลิ่นหอมน้อยกว่า โดยตัวคุณภาพข้าวรสชาติมีคุณภาพดีเหมือนกัน แต่แพ้ตอนที่กำลังหุง ข้าวหอมมะลิไทยหอมน้อยกว่า ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะฝนตกบ่อย นํ้าเยอะไป ฝนตก กลิ่นหอมหายหมด แต่ปีหน้าสมาคมฯ ก็ตั้งใจจะส่งข้าวไปประกวดทวงแชมป์คืน

อย่างไรก็ดี ผ่านมา 1 ปีกลับเสียเปล่า เวลาไม่ช่วยอะไรเลย เพราะการประกวดข้าวโลกที่ เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ปรากฏว่าข้าวเวียดนามได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดไปครอง จากหลายประเทศที่ส่งเข้าประกวด 30 สายพันธุ์ ร้ายกว่านั้นปีนี้ข้าวหอมไทย ไม่ได้ติด 1 ใน 3 ข้าวที่ดีที่สุดด้วยซํ้า มีเพียงเวียดนาม กัมพูชา และอินเดียที่เข้ารอบ

เรื่องนี้ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ออกมาชี้แจงอีกครั้งว่า ปีนี้ข้าวไทยไม่ติดอันดับเพราะไทยไม่ได้ส่งข้าวประกวด เพราะมองว่าการประกวดครั้งนี้ไม่เป็นกลาง โดยใช้เกณฑ์ตัดสินที่แปลก โดยเฉพาะผู้วิเคราะห์พันธุ์ข้าว ที่ให้เชฟทำอาหารมาเป็นคนตัดสิน แทนที่จะเป็นนักวิเคราะห์หรือนักวิจัยสายพันธุ์ข้าว จึงเป็นเหตุให้ไทยไม่ส่งเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้และในครั้งต่อ ๆ ไป

การไม่ส่งประกวดครั้งนี้มองได้ 2 มุม มุมแรก คือเป็นอย่างที่ผู้ส่งออกพูดจริง ๆ แต่อีกมุมอาจมองเป็นเพราะข้าวไทยคุณภาพไม่ดีจริง ๆ จึงไม่กล้าส่งเข้าประกวด ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐ ควรเข้ามาดูแลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จะปล่อยไหลไปตามนํ้า เพราะงานนี้ ไม่แข่งยิ่งแพ้ และชื่อเสียงข้าวไทยจะหายไปจากข้าวโลก

ยิ่งกว่านั้นจะกระทบต่อราคาข้าวไทยในอนาคตได้ โดยเฉพาะวันนี้ข้าวขาวไทยราคาถูกกว่าข้าวเวียดนามแล้ว ทั้งที่ปกติข้าวไทย
จะแพงกว่าเวียดนาม 5-10% ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยจากที่เคยยืนหนึ่งขายเกินตันละ 1 พันดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดหล่นมาอยู่ที่
ตันละ 847 ดอลลาร์สหรัฐ ถูกข้าวหอมเวียดนามและเขมรหายใจรดต้นคอ ขายราคาใกล้กันตันละ 750-800 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะข้าวไทยถูกปล่อยปละละเลย ขาดการพัฒนามายาวนาน ขณะที่คู่แข่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ที่คุณภาพสูงมาแข่งกับไทย จนทำให้ข้าวหอมมะลิไทยสูญเสียตลาดไปให้เวียดนามแล้ว โดยเฉพาะฮ่องกง เพราะข้าวหอมเวียดนาม มีกระบวนการวิจัยและพัฒนาให้มีเมล็ดยาว หอม นุ่ม และหวาน อีกทั้งราคาถูกกว่าไทย

ยิ่งไปกว่าในแง่ต้นทุนการผลิตข้าวไทยก็สูงกว่าชาติอื่น โดยอัตราผลผลิตต่อไร่ ข้าวไทยมีเพียง 450 กก.ต่อไร่ ขณะที่เวียดนามผลิตได้ 900-1,000 กก.ต่อไร่ อินเดีย 800 กก.ต่อไร่ การวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวในประเทศก็มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับต่างชาติ

ตัวแปรที่ทำให้วงการข้าวไทยกำลังถอยหลัง ลงคลองแบบนี้ ต้องโทษทั้งรัฐบาลและเกษตรกร
ห้วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเงินไปหลายแสนล้านกับการดูแลข้าว แต่กลับต้องเสียเปล่า เพราะมัวแต่ติดกับดักประกันและจำนำข้าว เพื่อแจกเงินซื้อใจชาวนาเท่านั้น ขณะที่งบวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวกลับ
มีน้อยนิดไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป เช่นเดียวกันตัวชาวนาก็พอใจทุกครั้งกับการแจก ปีไหนไม่แจกก็ออกข่าวกดดันรัฐบาลทุกที

ขณะที่ยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี ปี 63-67 ที่ทำไว้กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก ผ่านการพัฒนาข้าว 7 ชนิด คือ ตลาดพรีเมียม ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิไทย ตลาดทั่วไป ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง และตลาดเฉพาะ ข้าวเหนียว ข้าวสีและข้าวคุณลักษณะพิเศษ พร้อมกับเร่งผลผลิตต่อไร่ให้ได้ 600 กก.ต่อไร่ ถึงวันนี้ผ่านมา 2 ปี พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ออกมา 13 สายพันธุ์ก็จริง แต่กลับไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องของการจำหน่าย และการ
ทำตลาดเลย

ฉะนั้น หากหวังให้ไทยกลับไปเป็นแชมป์ข้าวโลกอีกครั้ง รัฐบาลจะต้องทุ่มงานวิจัยพัฒนาสายพันธุ์และเพิ่มจำนวนผลผลิตให้มากกว่านี้ มากกว่าการทำโครงการประกันรายได้ หรือจำนำข้าว เพื่อแจกเงินอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการแจกเงินอย่างเดียว มันทำลายวงการข้าวไทยในระยะยาว.