กรุงศรีหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ถือเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทยที่ออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) พร้อมตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการลงทุนของ International Finance Corporation (IFC) โดยเงินทุนมูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะมุ่งเน้นสนับสนุนโครงการธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลที่มีศักยภาพ เงินทุนส่วนที่เหลือจะนำไปสนับสนุนโครงการธุรกิจเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ต่อไป

ด้วยตระหนักถึงความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศตามแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน กรุงศรีจึงได้ร่วมมือกับ IFC สถาบันระดับโลกซึ่งเข้ามาลงทุนกับธนาคารผ่าน Green Bond และ Blue Bond คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการออกตราสารหนี้ทั้งหมดจะเป็นไปตามหลักการตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond Principles) ของสมาคมตลาดทุนนานาชาติ (International Capital Market Association) ขณะที่การสนับสนุนเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IFC (IFC’s Guidelines for Blue Finance)

โดย “เครื่องมือ” ที่ใช้ระดมทุนทั้งสองประเภท ทั้งGreen Bond และBlue Bond กำลังเป็นที่จับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง Green Bond มีจุดประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การขนส่ง และอาคารสีเขียว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยของเราบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจได้หลายประการ อาทิ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กล่าวได้ว่า Green Bond มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับกระแส ESG ทั่วโลก

ขณะที่ Blue Bond ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการระดมทุนในหมวดของ Green Bond จะมุ่งเน้นระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล อาทิ โครงการอนุรักษ์ปะการัง โครงการลดขยะในทะเล และโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่ง เป็นต้น โดย Blue Bond นี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลกที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด

ทั้งนี้ ตราสารหนี้ทั้งสองประเภทกำลังทวีบทบาทในฐานะที่เป็นเครื่องมือสู่โลกสีเขียว จากข้อมูลของ Climate Bonds Initiative (CBI) ตลาด Global Green Bond ในปี 2565 มีมูลค่าถึง 487.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ UNEPFI ก็ได้ประเมินไว้ว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสำหรับ Global Blue Bond ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจถึงกว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการจ้างงานกว่า 31 ล้านตำแหน่งทั่วโลก เรียกได้ว่ากว่าสองในสามของเศรษฐกิจทั่วโลก พึ่งพาทรัพยากรทางทะเล ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมจากทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศทางทะเลที่หลากหลาย โดยประเทศไทยมีพื้นที่ทางทะเลรวม 320,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 32 ของพื้นที่ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับการท่องเที่ยวโดยคิดเป็นร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เป็นครั้งแรกนี้ จะทำให้ธนาคารสามารถเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายระยะกลาง ในการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจที่ส่งเสริมความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้าน – 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ภายใต้การสนับสนุนของ IFC ธนาคารจะยังคงความเป็นผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในการออกตราสารหนี้เพื่อการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Thematic Bond) ในฐานะพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจโดยเฉพาะในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยั่งยืน”

ทั้งนี้ การลงทุนที่มุ่งเน้นมิติด้าน ESG เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในยุคทองแห่งความยั่งยืนท่ามกลางความไม่แน่นอนและวิกฤติโลกเดือด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาแนวโน้มดังกล่าว Green Bond และ Blue Bond มีศักยภาพที่จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการระดมทุนสำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการต่อยอดการลงทุน Green Bond และ Blue Bond ให้มีขอบเขตกว้างออกไปจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พร้อมเอาชนะวิกฤติโลกเดือดและขีดเขียนอนาคตสีเขียวให้แก่คนรุ่นถัดไป