การรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วยการใช้ยากินแม้ว่าจะเป็นหนทางแรกและสะดวกต่อการรักษาก็ตาม แต่เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ไปเรื่อย ๆ จนเป็นเวลานาน ก็จะทำให้คนไข้นั้นไม่สามารถตอบสนองต่อการใช้ยากลุ่มนี้ได้ หรือพูดสั้น ๆ ก็คือดื้อต่อยาเฉพาะกิจ คือกินยาแล้วไม่เกิดการแข็งตัวขององคชาต ทำให้ไม่สามารถร่วมเพศได้ ซึ่งการจัดการกับคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อยากลุ่มนี้ คือการให้ความรู้แก่คนไข้ 

ภาวะอีดีถือว่าเป็นภาวะเรื้อรังซึ่งต้องมีการตรวจติดตามอาการ ไม่เพียงเพิ่มการสื่อสารกันระหว่างแพทย์และคนไข้ แต่ยังเป็นการให้ความรู้แก่คนไข้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตรวจติดตามอาจเป็นการแนะนำการใช้ยาหรืออาจมีการปรับการใช้ยาโดยอาจเป็นเวลาการใช้ยา หรือปริมาณการใช้ยา หรือแนะนำให้มีการกระตุ้นทางเพศเพื่อให้เกิดการแข็งตัวที่ดีก็ได้ โดยการศึกษาหนึ่งได้แนะนำการใช้ยาและปรับขนาดยาพบว่า คนไข้ 32-44% ที่ไม่ตอบสนองต่อยาในตอนแรกกลับมาตอบสนองต่อยา  ฉลากยาพีดีอี 5 ไอ ส่วนมากระบุว่าสามารถทานยาพร้อมหรือไม่พร้อมกับอาหารก็ได้ ถึงแม้จะมีข้อควรระวังว่าอาหารที่ไขมันสูงอาจทำให้การออกฤทธิ์ช้าลงก็ตาม ซึ่งฤทธิ์ของยาอาจลดลงได้หากคนไข้ไม่ทราบถึงข้อนี้ นอกจากนี้การกระตุ้นทางเพศที่ไม่เพียงพอหลังจากใช้ยาก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ไม่ตอบสนองต่อยาได้ โดยเฉพาะในคนอายุมาก

รักษาภาวะโรคที่เป็นร่วมกัน มีการศึกษาจำนวนมากแสดงว่าการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงช่วยให้การตอบสนองต่อยาดีขึ้นได้ มีการศึกษาเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศในชายที่มีภาวะอีดีและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และไม่ตอบสนองต่อยา
พีดีอี 5 ไอ ด้วยยาลดไขมัน พบว่ามีการแข็งตัวขององคชาตที่ดีขึ้นและการตอบสนองต่อยาพีดีอี 5 ไอ ดีขึ้น

ปรับระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ชายที่มีระดับฮอร์โมนเพศต่ำและไม่ตอบสนองต่อยาพีดีอี 5 ไอ อาจได้ประโยชน์จากการปรับระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนให้เป็นปกติ ชายที่ไม่ตอบสนองต่อยาพีดีอี 5 ไอ อาจมีการพร่องฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้ มีการศึกษาการเสริมฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนควบคู่กับการใช้ยาพีดีอี 5 ไอ มีประโยชน์ในชายที่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ (น้อยกว่า 3 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) โดยระดับฮอร์โมนยิ่งต่ำผลที่ได้รับยิ่งมาก โดยมีการตอบสนองต่อยาพีดีอี 5 ไอ ที่ดีขึ้น อาจเกิดจากการที่มีการไหลเวียนของเลือดสู่องคชาตมากขึ้นระหว่างมีการกระตุ้นทางเพศ

การศึกษาอื่นสอดคล้องกับผลนี้โดยมีการศึกษาในชายที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ (ช่วงเช้าได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร) และยืนยันแล้วว่าไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาพีดีอี 5 ไอ พบว่าการใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน 1% ทุกวันร่วมกับยาเฉพาะกิจ 50  มิลลิกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์พบว่ามีการแข็งตัวขององคชาตที่ดีขึ้นมาก ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงควรตรวจคัดกรองภาวะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำในชายที่เป็นอีดีก่อนการรักษา โดยการตรวจค่าต่อมลูกหมาก (PSA) ว่าอยู่ในระดับต่ำกว่า 4 ถึงจะให้ฮอร์โมนชายได้

————————
ดร.อุ๋มอิ๋ม