ปี 2566 ที่ใกล้จะผ่านพ้นไปนับเป็นอีกปีที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลาย ๆ ด้าน รวมถึงวิถีชีวิตผู้คน โดย “ทีมวิถีชีวิต” ก็ได้มีการนำเสนอ “เรื่องราวชีวิตน่าสนใจ” ของคนทุกเพศทุกวัยในหลากหลายสาขา ซึ่งต่างก็มี “วิธีคิดดี ๆ” ที่อาจจะเป็น “ข้อคิดดี ๆ” ให้กับหลาย ๆ คนได้… และในโอกาสจะก้าวสู่ปีใหม่ 2567 ในไม่ช้าไม่นานจากนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ก็พลิกแฟ้มประมวลตัวอย่าง “วิถีชีวิตเด่น ปี 2566” มาสะท้อนย้ำไว้โดยสังเขป ซึ่งจะเป็นวิถีชีวิตน่าสนใจของใครกันบ้างก็มาดูกันดังนี้…

ลูกตาล-ชนิษฐา โลจนานนท์

“…กว่าจะตามฝันจนพบความสำเร็จ คำว่าสบายไม่มีอยู่แล้ว แต่ขอให้มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ก็ไปถึงจุดหมายได้แน่นอน อยู่แค่ว่าจะช้าหรือเร็ว” …เป็นคำบอกเล่าไว้ของ “ลูกตาล-ชนิษฐา โลจนานนท์” มือกลองสาวแว่น ที่มีแฟนคลับติดตามมากกว่า 2 ล้านคนผ่านช่องยูทูบ “Tarn Softwhip” ของเธอ ซึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอคนนี้เข้าสู่ “เส้นทางมือกลอง” เกิดขึ้นช่วง ป.6 เมื่อเพื่อนที่โรงเรียนราชินีฮิตเรียนดนตรี โดยส่วนใหญ่เลือกเรียนเปียโน ไวโอลิน ไม่ก็กีตาร์ มีเธอคนเดียวที่เลือกเรียน “กลองชุด” เพราะคิดว่าน่าจะไม่ซ้ำใคร บวกกับชอบเสียงกลอง ซึ่งครั้งแรกที่ไปเรียนและได้ตีกลองความรู้สึกตอนนั้นก็บอกว่าใช่เลย และยิ่งเล่นก็ยิ่งหลงใหลเสียงกลอง ซึ่งเธอบอกไว้ว่า…ช่วงที่เรียนกลองนั้นเธอจริงจังมากจนผลการเรียนตกจึงทำให้พ่อแม่ทัก และเธอเองก็รู้สึกด้วยว่าปล่อยไว้แบบนี้คงไม่ได้การ จึงวางไม้กลองหันมาตั้งใจเรียนก่อน จนห่างหายการตีกลองไปนานหลายปี แต่ก็ได้หวนกลับมาเล่นกลองอีกครั้งตอนเรียน ม.3 และในช่วง ม.4 ที่เธอต้องวางแผนว่าจะเรียนต่ออะไร ด้วยความคิดที่สับสนจึงไปปรึกษากับพ่อให้ช่วยตัดสินใจ ซึ่งพ่อก็ได้ให้คำแนะนำว่าให้เธอเลือกสิ่งที่ทำแล้วสนุก เบื่อน้อยที่สุด เธอจึงตัดสินใจเรียนดนตรีเกี่ยวกับกลองที่คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้กลายมาเป็น “สาวมือกลองคนดังยูทูบ” ในที่สุด ทั้งนี้ เธอบอกว่า… ที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะ “ครอบครัวพาเธอก้าวมาถึงวันนี้” ซึ่งไม่ว่าระหว่างทางจะโดนดูถูกแค่ไหนก็ “ไม่หยุดฝัน” เพราะมีครอบครัวคอยหนุน …นี่เป็นเรื่องราวของ “มือกลองสาวแว่น” ที่ชื่อ “ลูกตาล-ชนิษฐา” อีกคนดังโซเชียล ที่ “ทีมวิถีชีวิต” นำเสนอไว้ ที่สะท้อนว่า…นอกจาก “พลังใจตัวเอง” แล้ว… “ครอบครัวคือพลังที่สำคัญ”

โบว์-นภาพร เกตุศรีโย

“…รำวงเมืองเพชรไม่มีฤดูพักวง ใครจ้างก็ไป แม้แต่หน้าฝน ฝนตกลมแรงก็ขึ้นเต้นไม่มีถอย เรียกว่าสาวรำวงสู้ชีวิตมาก” …สาวรำวงคนรุ่นใหม่ ที่ชื่อ “โบว์-นภาพร เกตุศรีโย” ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรำวงย้อนยุค เมืองเพชรบุรี บอกเล่าไว้ โดยเธอคนนี้จบปริญญาตรีบัญชี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเธอเล่าว่าช่วงกลางวันทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนโรงเรียนวัดหนองแก ส่วนกลางคืนเธอจะสลัดคราบพนักงานประจำมาสวมชุดสาวรำวง ซึ่งอาชีพนี้เป็นอีกอาชีพที่เธอหลงรักมาก โดย “เส้นทางสาวรำวง” นั้น เธอเล่าว่าได้อยู่คณะรำวงตั้งแต่ยังเรียน ป.6 เนื่องจากป้าเป็นเจ้าของคณะ โดยเธอขอป้าทำงานนี้เพราะอยากมีรายได้พิเศษไว้ซื้อขนมหรือของใช้ส่วนตัว จนวันหนึ่งป้าของเธออยากเลิกคณะรำวง เธอจึงปรึกษาพ่อแม่ว่าอยากรับช่วงต่อจากป้า ซึ่งพ่อแม่ก็สนับสนุน เธอจึงได้เป็นเจ้าของคณะรำวงตั้งแต่ยังเรียน ปวส. ทั้งนี้ เธอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับรายได้ของสาวรำวงว่า ถ้าแสดงที่เพชรบุรีก็จะได้ค่าตัวคืนละ 200 บาท ถ้าไปจังหวัดอื่นใกล้ ๆ ก็จะเพิ่มเป็น 300 บาท โดยจะมีทิปที่แยกของใครของมัน ส่วนเวลาแสดงจะเริ่มตั้งแต่สองทุ่มจนถึงเที่ยงคืน ซึ่งก็จะมีเบรก พักเข้าห้องน้ำ หลังเต้นไปได้สัก 3-4 เพลง โดย “โบว์-นภาพร” พูดถึง “อาชีพสาวรำวง” ไว้ว่า “เป็นอาชีพที่เหนื่อย แต่ก็มีความสุขที่ได้สร้างรอยยิ้ม และรักในอาชีพนี้มาก จึงตั้งใจจะสืบสานคณะรำวงนี้ให้อยู่ต่อไปให้นานที่สุด” …นี่ก็เป็นอีกเรื่องราวชีวิตที่ “ทีมวิถีชีวิต” หยิบยกมาสะท้อนย้ำ ซึ่งนอกจากฉายภาพชีวิตสาวรำวงแล้ว ยังสะท้อนความตั้งใจคนรุ่นใหม่ที่หวังสืบสานวิถีนี้ให้คงอยู่ต่อไป

หญิง-ครองขวัญ สาขา

“…วันนี้ได้รับการยอมรับแล้วว่า…แม้เป็นผู้หญิงแต่ก็ทำได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย” …เป็นความรู้สึกภูมิใจ ที่ “หญิง-ครองขวัญ สาขา” ในฐานะ “ผู้ตัดสินฟุตบอล” บอกไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” โดยเธอเป็นอีกหนึ่งคนดังในโซเชียล ซึ่งได้ฉายา “สาวเชิ้ตดำ” หลังจากมีคนรู้จักเธอจากบทบาทการเป็นกรรมการตัดสินฟุตบอลได้เก่งไม่แพ้ผู้ชาย ทั้งนี้ เธอคนนี้มีดีกรีเป็นถึงนางงาม โดยเธอเล่าว่าเคยผ่านเวทีประกวดมาแล้วหลายเวที ส่วน “เส้นทางผู้ตัดสินฟุตบอล” นั้น ด้วยความที่มีเพื่อนเป็นครูพละ และมีหลักสูตรอบรมเป็นผู้ตัดสินฟุตบอลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เธอจึงมีโอกาสได้ไปดูเพื่อน ๆ สอบ ยิ่งดูก็รู้สึกชอบ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นเพื่อนผู้หญิงลงทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินในสนามฟุตบอล ที่เธอรู้สึกว่าเท่มาก อยากเป็นบ้าง จึงไปติดต่อขออบรมบ้าง จนที่สุดเธอก็ได้เรียนเป็นผู้ตัดสินฟุตบอล ซึ่งแมตช์แรกที่ลงทำหน้าที่นั้นเธอยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดเยอะ จนถูกหลายคนตำหนิ แต่ก็ได้คำปลอบใจให้ “นำข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียน” เธอจึงฮึดสู้ใหม่ จนได้โอกาสลงทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินที่ 4 ในการแข่งขันฟุตบอลชายรุ่นอายุ 12 ปี ซึ่งเธอก็สามารถสอบผ่านในแมตช์นั้น ทำให้มั่นใจมากขึ้น จากนั้นก็มีรุ่นพี่ติดต่อให้ไปทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินฟุตบอล 7 คน แต่ไม่ใช่รายการทางการ ซึ่งเธอได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ว่าไม่ควรไป เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย ปรึกษาเพื่อน ๆ ทางเพื่อนก็แนะนำว่าไม่ควรไป เธอจึงปฏิเสธไป แต่พี่คนนั้นก็โทรฯ ตื๊อ จนเธอตัดสินใจว่าเอาไงเอากัน จะขอลองดู และแม้จะตื่นเต้น แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ทำให้เธอได้รับประสบการณ์และได้เรียนรู้หลายเรื่อง ทั้งการจัดการอารมณ์ การจัดการนักกีฬา ทั้งนี้ “หญิง-ครองขวัญ” สาวเชิ้ตดำ ได้พูดถึงความฝันสูงสุดของเธอเอาไว้ว่า คือการได้เป็นผู้ตัดสินระดับฟีฟ่า และได้ตัดสินเกมแข่งขันระดับต่างประเทศ นอกจากนี้เธอยังอีกฝันคือ ได้เป็นผู้ตัดสินในลีกฟุตบอลชาย ซึ่งเธอมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากในเส้นทางอาชีพนี้… “ถ้ามีโอกาสเราก็จะพยายามให้ถึงที่สุด เพื่อคว้าฝันมาให้ได้ค่ะ” …นี่เป็นเรื่องราวของ “สาวเชิ้ตดำคนดัง” ที่ “ทีมวิถีชีวิต” หยิบยกมาเน้นย้ำ ซึ่งอาจจะเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้ผู้หญิงหลาย ๆ คนได้

ปิ่น-หทัยรัตน์ ณ เชียงใหม่

“…ไม่ค่อยกลัวเรื่องเจ็บตัว ไม่เคยกลัวว่าจะเสียโฉมหรือไม่สวย เพราะเรารักการชกมวยมาก” …ทาง “ปิ่น-หทัยรัตน์ ณ เชียงใหม่” หรือ “คุณหมอนักมวยหน้าหวานคนดังโซเชียล” บอกเล่าความรู้สึกนี้ไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ซึ่งก่อนที่เธอจะแขวนนวมมาสวมบทคุณหมอนั้น หมอปิ่นเล่าว่า เธอ เป็นนักมวยและขึ้นชนจนคว้าแชมป์มาแล้ว โดยเธอใช้ชื่อในวงการชกมวยว่า “ปิ่นหทัย เอกบาร์เบอร์” โดย “เส้นทางนักมวย” ก่อนที่จะมาเป็น “คุณหมอ” นั้น เธอได้เล่าไว้ว่า ด้วยความที่เป็นเด็กผู้หญิงคนเดียว เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันเป็นเด็กผู้ชาย จึงเล่นแบบเด็กผู้ชายมาตั้งแต่เด็ก แถมเธอยังโตมาในค่ายมวย เพราะพ่อของเธอเป็นเจ้าของค่ายมวย จึงทำให้เธอหลงรักมวยไทยมาตั้งแต่จำความได้ แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะเป็นนักมวยอาชีพ ต่อมาหลังจากได้ติดตามพ่อที่พานักมวยไปชกบ่อย ๆ เธอก็นึกอยากขึ้นชกบ้าง จึงขอพ่อ ซึ่งพ่อก็สนับสนุน แต่แม่และญาติไม่เห็นด้วย เพราะกลัวเธอเจ็บ แต่สุดท้ายเธอก็แอบไปชกมวยอยู่ดี และต่อมาก็ชกจนได้แชมป์รุ่น 43 กิโลกรัม 1 ครั้ง และรุ่น 45 กิโลกรัม อีก 2 ครั้ง ส่วนการเป็น “คุณหมอนักมวย” นั้น เธอเล่าว่า ช่วงขึ้น ม.6 เธอต้องเลือกว่าจะชกมวย หรือเรียนต่อปริญญาตรี ซึ่งเธอก็อยากชกมวย แต่ก็… มองความเป็นจริงของชีวิต” จึงตัดสินใจหยุดเส้นทางนักมวยไว้ก่อนเพื่อเรียนต่อปริญญาตรี แพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากตอนนั้นคุณตาของเธอป่วยติดเตียง เธอจึงอยากดูแลคุณตาที่บ้าน จนเมื่อเรียนจบเธอก็เข้าทำงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอยอินทนนท์ จนต่อมามีโอกาสได้ทำหน้าที่ “แพทย์สนามมวย” หลังจากมีโปรโมเตอร์มวยท่านหนึ่งได้ติดต่อให้เธอไปเป็นแพทย์สนามมวย เพราะเห็นว่าเธอเป็นนักมวยเก่า เธอจึงตกลงทันที และต่อมาทางผู้จัดเห็นว่าเธอคล่องตัวดี จึงติดต่อให้ไปเป็นแพทย์สนามมวยอยู่เรื่อย ๆ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และชื่อของเธอก็เริ่มเป็นที่รู้จักในโซเชียล โดย “ปิ่น-หทัยรัตน์” คุณหมอนักมวยหน้าหวาน ยังเล่าถึง “ความตั้งใจ” ของเธอไว้ว่า “ตั้งใจจะใช้ความเป็นคนดังช่วยเหลือผู้ป่วย” เพราะการที่มีคนรู้จักเยอะขึ้น ทำให้มีคนติดต่อให้ไปทำงานต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้รายได้มากขึ้น โดยเธอนำรายได้แบ่งมาใช้เป็นทุนเพื่อทำงาน “จิตอาสา” ดูแลคนป่วยนอกเวลางาน ทุก ๆ วันเสาร์-วันอาทิตย์ โดยเธอจะออกไปเป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยที่นอนติดเตียงตามบ้าน ทั้งยังนำเงินที่ได้จากการทำงานเสริมมาซื้อหาอุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็นเพื่อมอบให้ผู้ป่วยเหล่านี้ โดยเธอบอกว่า… “ภารกิจนี้เป็นอีกสิ่งที่รักและมีความสุขที่ได้ทำ” …และนี่ก็เป็นเรื่องราว “คุณหมอนักมวยหน้าหวาน” ที่ “ทีมวิถีชีวิต” เคยนำเสนอ โดยนอกจากจะสวยน่ารักแล้ว จิตใจที่ดีของเธอก็ได้เสียงชื่นชมไม่น้อย

วิว-ภัณฑิรา อารีวงค์

“…ครั้งแรกที่จะได้สัมผัส และได้ลองยิงปืน ยอมรับว่ากลัว!! แต่พอได้ลองยิงกลับทำให้รู้สึกสนุกและเกิดเป็นความชอบการยิงปืน จนถึงขั้นหลงใหล” …เป็นเสียงบอกเล่าจาก “วิว-ภัณฑิรา อารีวงค์” สาวสวยที่ผันตัวเองจาก “แอร์โฮสเตส” มาเป็น “นักกีฬายิงปืน” และ “อินฟลูเอนเซอร์สายปืน” โดยเส้นทางก่อนจะมาคลุคลีกับกีฬายิงปืนนั้น เธอเล่าว่า ตอนเด็กเธอฝันอยากเป็น “แอร์โฮสเตส” จึงเลือกเรียนสาขาธุรกิจการบินเพื่อตามความฝัน จนสอบเข้าทำงานเป็นแอร์โฮสเตสได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่หลังจากทำงานได้ไม่นาน ก็มีเหตุให้ต้องตัดสินใจลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว และได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็น “นักกีฬายิงปืน” และ “อินฟลูเอนเซอร์สายปืน” ในเวลาต่อมา โดยเธอเล่าว่า เป็นเพราะแฟน (บอล-พุทธิพงษ์ อำพันสุวรรณ) ที่ชักจูงเธอเข้าสู่วงการยิงปืน โดยแฟนของเธอมักจะพาเธอเข้าไปดูแข่งยิงปืนอยู่ตลอด ทำให้ได้สัมผัสบรรยากาศ จนได้ลองยิงปืนครั้งแรก และต่อมาเธอก็มีโอกาสได้ลงแข่งขันยิงปืนครั้งแรก เป็นรายการยิงปืนรณยุทธ IPSC ที่เน้นการแข่งทักษะการใช้อาวุธปืนให้เกิดความสมดุล ระหว่างความแม่นยำ ความรุนแรง และความรวดเร็ว ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้รางวัลอะไรในรายการแรก แต่ก็ทำให้เธอ “ก้าวผ่านความกลัวในใจ” และทำให้มีกำลังใจที่จะฝึกซ้อมเพื่อลงแข่งมากขึ้น ส่วนการเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายปืนนั้น เธอบอกว่าเกิดจากความคิดที่ว่า เธอสามารถนำสิ่งที่ชอบมาต่อยอดและสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ รวมถึงเธออยากให้คนอื่น ๆ ได้เห็นว่า…ผู้หญิงก็ยิงปืนได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย อีกทั้งต้องการทำให้สังคมเข้าใจว่าการยิงปืนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เธอจึงเริ่มต้นทำคอนเทนต์เกี่ยวกับปืนและการยิงปืนลง TikTok จากนั้นจึงทำช่องยูทูบและเปิดเพจเฟซบุ๊ค จนทำให้เธอโด่งดังในโซเชียลในฐานะอินฟลูเอนเซอร์สายปืน โดย “วิว-ภัณฑิรา” ย้ำถึงเรื่อง “ปืน” ไว้ว่า… “ปืนให้ได้ทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับคน-กับการนำไปใช้ ซึ่งถ้าอยู่ในมือคนที่ดีก็จะสร้างประโยชน์ แต่ถ้าอยู่ในบทบาทที่ผิดก็จะสร้างโทษให้ตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม… “เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อนมาก แต่หลังฝึกยิงปืนก็กลายเป็นคนใจเย็น เวลาทำอะไรเราจะคิดหน้าคิดหลัง หรือเรียกว่าคิดเยอะขึ้น รักชีวิตตัวเองมากขึ้น” …เป็นแง่คิดน่าพิจารณาจาก “อินฟลูเอนเซอร์สาวสายปืน” คนนี้

…เหล่านี้เป็นตัวอย่างบางส่วน และโดยสังเขป จากเรื่องราวชีวิตที่ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ได้นำเสนอไว้ กับ “วิถีชีวิตเด่น ปี 2566” ซึ่ง “วิธีคิด” ซึ่ง “แง่คิด” ต่าง ๆ ดังที่ได้สะท้อนย้ำมาข้างต้นนั้น หลาย ๆ คนอาจจะนำไปใช้เป็น “กรณีศึกษาที่ดี” ได้ ทั้งในปีใหม่ 2567 หรือแม้แต่ต่อเนื่องไปในปีต่อ ๆ ไป… เพราะไม่ว่าจะปีไหน ๆ จะปีใด…กับการ “คิดได้ดี-ทำได้ดี” นั้น…“เป็นวิถีที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดี”.

ทีมวิถีชีวิต : รายงาน