การมีเพศสัมพันธ์ สามารถเป็นประโยชน์ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ รวมถึงลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและสุขภาพจิตดีขึ้น การมีเพศสัมพันธ์และเรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นอกเหนือจากการสืบพันธุ์แล้ว  การมีเพศสัมพันธ์ยังเกี่ยวข้องกับความใกล้ชิด ความพึงพอใจและความสุขอีกด้วย กิจกรรมทางเพศสามารถรวมถึง การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือการช่วยตัวเอง สามารถให้ประโยชน์ที่น่าประหลาดใจหรือแปลกใจมากมายแก่ทุกแง่มุมของชีวิต เช่น ทางกายภาพ ทางปัญญา ทางอารมณ์ ทางจิตวิทยา และทางสังคม

สุขภาพทางเพศเป็นมากกว่าการหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บและการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับการรับรู้ว่าการมีเพศสัมพันธ์สามารถเป็นส่วนสำคัญในชีวิตได้

การมีเพศสัมพันธ์มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง? มีการศึกษาบ่งชี้ให้เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์สามารถเป็นการออกกำลังกายของหัวใจและหลอดเลือดได้ดีในชายและหญิงที่อายุน้อย  แม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์จะไม่ใช่การออกกำลังกายที่เพียงพอ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ

ประโยชน์บางประการที่จะได้รับจากการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ลดความดันโลหิต การเผาผลาญแคลอรี เพิ่มสุขภาพหัวใจ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง เพิ่มความรู้สึกทางเพศ

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์มักจะออกกำลังกายบ่อยกว่าและมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีกว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์น้อย  สมรรถภาพทางกายอาจช่วยปรับปรุงหรือเพิ่มสมรรถภาพทางเพศโดยรวมได้

ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น มีการศึกษาเรื่องภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีความสัมพันธ์แบบคู่รัก คนที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ คือสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จะมีอิมมูโนโกลบูลิน เอ (IgA) ในน้ำลายมากขึ้น คนที่มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย คือน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง มี อิมมูโนโกลบูลิน เอ น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

อิมมูโนโกลบูลิน เป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้าน แอนติเจน จากเชื้อโรค มะเร็ง และสารภูมิแพ้  อิมมูโนโกลบูลิน มีอยู่ 5 ชนิด แอนติเจน หมายถึง สิ่งแปลกปลอมที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี โดยแอนติเจนจะทำปฏิกิริยาจำเพาะกับแอนติบอดีบางชนิด

อิมมูโนโกลบูลิน เอ คือ เป็นแอนติบอดีหลักที่หลั่งออกนอกร่างกาย พบในน้ำลาย น้ำตา เหงื่อ น้ำนม เมือก น้ำอสุจิ และสารคัดหลั่ง
อื่น ๆ นอกจากนี้ยังพบที่บริเวณเยื่อเมือกที่บุทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมบริเวณชั้นเยื่อผิวเพื่อไม่ให้ผ่านเข้าไปในร่างกายได้ นอกจากนี้เป็นแอนติบอดีที่มีบทบาทในการป้องกันโรคและเป็นด่านแรกในการป้องกันเชื้อฮิวแมน ปาปิลโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของเอชพีวี (HPV)

———————–
ศ.น.ท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล