จากการที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะจัดให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ คนใหม่ ในวันที่ 8 ก.พ. 2567 นั้น เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและสะท้อนมุมมองของแฟนกีฬา ในมิติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดจนการพัฒนาและยกระดับวงการฟุตบอลไทย KBU SPORT POLL โดย ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “การเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลกับมุมมองของแฟนกีฬา”

การสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค. 66 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารทางการกีฬา ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,107 คน (ชาย 704 คน, หญิง 403 คน) ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่า ความสนใจที่จะติดตามการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.01 สนใจ รองลงมาร้อยละ11.66 ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 3.33ไม่สนใจ

คุณลักษณะของนายกสมาคมกีฬาฟุตบอล ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.10 มีความรู้/ประสบการณ์และเข้าใจในบริบทการพัฒนาวงการฟุตบอล รองลงมาร้อยละ 24.34 มีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนา ร้อยละ 20.20 มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาผลประโยชน์ ร้อยละ 14.68 มีมนุษยสัมพันธ์สามารถประสานงานการบริหารจัดการได้ดีทั้งในและต่างประเทศ ร้อยละ 13.01 มีผลงานและได้รับการยอมรับในเชิงประจักษ์ และอื่นๆ ร้อยละ 1.67

บุคคลที่เหมาะกับการเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอล ส่วนใหญ่ร้อยละ 39.90 นวลพรรณ ล่ำซำ รองลงมาร้อยละ 21.35 พอลลีน งามพริ้ง ร้อยละ 14.51 ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ ร้อยละ 11.04 วรงค์ ทิวทัศน์ ร้อยละ 10.25 พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง และอื่นๆ ร้อยละ 2.95

ปัญหาที่นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลคนใหม่ ควรเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.27 ปัญหาการวางรากฐานการพัฒนาและเตรียมทีมชาติอย่างเป็นระบบ รองลงมาร้อยละ 20.90 ปัญหาการบริหารจัดการและยกระดับฟุตบอลอาชีพ ร้อยละ 16.87 ปัญหาการบริหารจัดการองค์กร ร้อยละ 16.50 ปัญหาด้านงบประมาณและสิทธิประโยชน์ของสโมสรสมาชิก ร้อยละ 16.16 ปัญหามาตรฐานของกรรมการผู้ตัดสิน และอื่นๆ ร้อยละ 2.30

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าจากการที่กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬามหาชน และเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่แฟนๆ ให้ความสำคัญและติดตามกันอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในระยะหลังวงการฟุตบอลไทย ต้องประสบกับปัญหาในหลากหลายมิติ และเมื่อสมาคมกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ จึงก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการมีส่วนร่วมสำหรับการได้มาซึ่งผู้นำที่จะเข้ามาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจครั้งนี้ ถึงแม้ว่ากลุ่มตัวอย่างหรือแฟนกีฬาส่วนใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการตอบแบบสอบถาม จะไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งก็ตาม แต่ผลที่สะท้อนออกมาโดยเฉพาะผู้ที่เหมาะสมกับการนั่งในตำแหน่งนายกสมาคมคนใหม่ รวมทั้งปัญหาที่ต้องการให้มีการเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในมิติที่แฟนกีฬาต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การพัฒนาตลอดจนยกระดับวงการฟุตบอลไทย ให้ก้าวไปสู่ทิศทางอนาคตที่ดีกว่า ดังที่ชาติอื่นๆ ประสบความสำเร็จมาแล้ว.