เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงกรณี ครม. มีมติอนุมัติในหลักการโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ว่า สำหรับข้อห่วงใยของมูลนิธิสืบนั้น ในทางวิศวกรรมการก่อสร้าง ขณะนี้เทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว เราไม่ได้ห่วงในจุดนี้ แต่อาจจะมีบ้างในช่วงก่อสร้างที่มีคนงานเข้าไปในพื้นที่ หากบริหารจัดการไม่ดีอาจกระทบต่อสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อมได้ อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่เรามีข้อกังวลคือหากโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงแล้วเสร็จ คือในเรื่องขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว จะมีจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไรให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่าลืมว่าอุทยานฯ เป็นบ้านของสัตว์ป่า จะทำอย่างไรไม่ให้คนเข้าไปรบกวนสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อม ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลอุทยานฯ ภูกระดึง และหลายอุทยานฯ ก็มีปัญหาในเรื่องนี้ ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนมาก และเกิดปัญหาทั้งในเรื่องขยะและปัญหาอื่นๆ ตามมา
น.ส.อรยุพา กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นจากเหตุผลหนึ่งในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม สามารถเดินทางไปเที่ยวท่องเที่ยวในอุทยานฯ ภูกระดึงได้อย่างเท่าเทียม แหล่งท่องเที่ยวบนภูกระดึงแต่ละจุดอยู่ห่างไกลกันมาก การเดินทางไปแต่ละจุดค่อนข้างลำบากเพราะทางเดินเป็นดินทราย ดังนั้นการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จะจบแค่เพียงกระเช้าไฟฟ้าจริงหรือไม่ และรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้กับนักท่องเที่ยวตามมา ซึ่งอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศบนภูกระดึงที่เป็นพื้นที่เฉพาะมีระบบนิเวศเปราะบางทั้งพืชพันธุ์ และสัตว์ป่าหายาก จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้อุทยานฯ ภูกระดึงเปิดรับนักท่องเที่ยว 8 เดือน และปิดการท่องเที่ยว 4 เดือนเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ แต่หากมีการก่อสร้างกระเช้าแล้วจะมีการเปิดให้ท่องเที่ยวเข้าได้ตลอดทั้งปีเพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนกับธรรมชาติที่จะได้รับผลกระทบ ว่าอะไรจะคุ้มค่ามากกว่ากัน เพราะหลายๆ ครั้ง เราพบว่ากระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ จนสร้างปัญหาตามมาในภายหลัง ซึ่งมูลนิธิสืบฯ จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป
ทั้งนี้เฟซบุ๊กมูลนิธิสืบฯ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า จับตาโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง 4 ธ.ค.2566 การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติ “โครงการเขียนแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จ.เลย โดยส่งมอบให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อ ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 การทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จ.เลย ยังมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เนื่องจากประเด็นแผนการรับมือจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น การกระจายรายได้สู่ชุมชน การจัดการขยะจากนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ฯลฯ
ล่าสุด 30 พ.ย. 66 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อนุมัติให้องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เข้าไปสำรวจ เก็บข้อมูลสถานภาพทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและความเป็นไปได้ในโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2566-ก.ย.2568 แต่ศึกษาความเป็นไปได้ไม่ใช่ศึกษา EIA มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงอยากชวนอ่านความคิดเห็นของนักอนุรักษ์ว่าทำไมถึงไม่อยากให้มีกระเช้าภูกระดึงบนพื้นที่ภูเขารูปหัวใจที่สวยงามแห่งนี้ อะไรที่อาจจะต้องถูกทำลายลงหากมีการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ในประเด็น 6 เห็นผล ทำไมไม่เอากระเช้าภูกระดึง อุทยานแห่งชาติเพื่อธรรมชาติหรือเพื่อธุรกิจ กระเช้าภูกระดึง คุ้มค่า คุ้มใคร? กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง พาหนะ หรือหายนะ กระเช้าภูกระดึง มโนโปรเจ็คท์ อ่านสาส์นสืบ ฉบับ กระเช้าภูกระดึง มโนโปรเจ็คท์ https://bit.ly/3t1UdSe