สัปดาห์ก่อน “สภาพัฒน์” เผยข้อมูลการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 66 ขยายได้เพียง 1.5% น้อยกว่าไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 1.8% รวม 9 เดือนแรกของปี 66 จีดีพีขยายตัวได้เพียง 1.9%

สัปดาห์นี้ “สภาพัฒน์” นำเสนอข้อมูลว่าด้วยเรื่องหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 66 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 90.6 ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงเล็กน้อย โดย “เอ็นพีแอล” มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.68 จากไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.71 ต่อสินเชื่อรวม

“พยัคฆ์น้อย” งัดข้อมูลมาเปรียบเทียบ “จีดีพี” รวม 9 เดือนในปี 66 ของไทยขยายตัวได้เพียง 1.9% ส่วนของฟิลิปปินส์ขยายตัว 5.5 เวียดนาม 4.2 อินโดนีเซีย 5.0 มาเลเซีย 3.9 ขณะที่สิงคโปร์แค่ 0.5

ปีนี้ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 7 ของโลกที่มีหนี้ครัวเรือนสูง ขณะที่จีดีพี 9 เดือนของปี 66 ก็ขยายตัวต่ำแค่ 1.9 ส่วนสิงคโปร์หนี้ครัวเรือนไม่ได้สูงเหมือนไทย แต่จีดีพีขยายตัวต่ำแค่ 0.5

รัฐบาลสิงคโปร์จึงมาแรงแซงทางโค้ง รีบประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ครัวเรือนประมาณ 360,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่จะใช้เงินประมาณ 540,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินของสิงคโปร์ที่จะแจกจ่ายให้ภาคครัวเรือน แม้จะน้อยกว่าไทยก็จริง! แต่อย่าลืมว่าสิงคโปร์มีประชากรน้อยกว่าไทย 12-13 เท่า

เมื่อวันที่ 23 ..ที่ผ่านมา ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่าธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จีดีพีของไทยในปี 67 จะขยายตัวประมาณ 3% ยังไม่รวมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งหากรวมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เข้าไปด้วย คาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวอีก 1% ไปสู่ระดับ 4%

โดยธนาคารโลกได้จัดทำแบบจำลองการเติบโตในระยะยาว เพื่อค้นหาว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2580 ได้อย่างไร โดยพบว่าไทยจะต้องรักษาการเติบโตจีดีพีให้สูงกว่า 5% ให้ได้

ดังนั้นเมื่อยังไม่มีงบประมาณปี 67 เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากร่างงบประมาณปี 67 วาระแรก จะนำเข้าถกกันในสภาประมาณวันที่ 3 ม.ค.67 กว่าจะมีผลของการใช้จ่ายงบฯ คงราว ๆ เดือนเม.ย.-พ.ค.67 นั่นแหละ!

แต่ระหว่างรองบฯปี 67 อีกหลายเดือน! ก็ต้องถามนักวิชาการเศรษฐศาสตร์-ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย-สภาพัฒน์ ว่ารัฐบาลควรอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำโครงการอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจเลยใช่หรือไม่ ปล่อยให้อยู่กันไปซึม ๆ แบบนี้ รอใช้งบฯปกติอย่างเดียวใช่มั้ย?

นี่คือ “ตรรกะ” ของคนที่ไม่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ จากปัญหาจีดีพีของประเทศที่ขยายตัวต่ำมากมานานหลายปี ใช่หรือไม่? คาดการณ์จีดีพีล่วงหน้าไว้เท่านั้นเท่านี้ แต่พอถึงเวลาก็ปรับเปลี่ยน ปรับลดตัวเลข โดยไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรอย่างนั้นหรือ?

วันนี้ต้องปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ทำงานตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ในสภา อย่าเพิ่งขยันชี้แนะ-ท้วงติงกันมาก! ขนาดจะช่วยชาวนาไร่ละ 1 พันบาท ยังคอมเมนต์กันมาครึ่งหน้ากระดาษ แบบนั้นมันก็ไม่ไหว!

หลายหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ-การเงินการคลัง ลองไปทบทวนจุดยืนของตัวเองกันดูว่าถ้าในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา หากขยันชี้แนะ-คอมเมนต์รัฐบาล จีดีพีของประเทศไทยจะไม่โตต่ำเตี้ยเรื้อรัง รั้งท้ายในอาเซียน รวมทั้งหนี้สาธารณะ-หนี้ครัวเรือน จะไม่บานตะไทขนาดนี้!!

———————–
พยัคฆ์น้อย