ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ “ขอทาน” กลายเป็น “อาชีพเงินดี” จนกลายเป็น “อีกธุรกิจเถื่อน” มีกลุ่มมีแก๊ง…ส่วนหนึ่งก็มาจาก “ความใจดี-ความขี้สงสารของคนไทย” จนก่อกำเนิด “ธุรกิจขายความน่าสงสาร” ซึ่งล่าสุดที่มีกรณีอื้ออึง-กรณี “แก๊งขอทานจีน” ข้ามชาติเข้าไทยมาโกยเงินอื้อซ่า!!…นี่ก็ฉายภาพ…

“ขอทานในไทย” นั้น “ยากที่จะหมดไป”

ซ้ำ “นับวันปัญหามีแต่จะยิ่งซับซ้อนขึ้น”

ก็น่าหันดูว่า “ในต่างประเทศแก้ยังไง??”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับกรณี “ขอทานจีน” ที่อื้ออึงขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มี “เบื้องลึก-เบื้องหลัง” อย่างไร?? กรณีมีแก๊งขอทานจีนเข้ามาอาละวาดในเมืองไทยนั้นจะเกี่ยว-ไม่เกี่ยวกับขบวนการผิดกฎหมายที่ใหญ่ยิ่งกว่าแก๊งขอทาน?? ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป… รวมถึงติดตามดูว่าหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องจะใช้มาตรการใดเพื่อดำเนินการกับแก๊งขอทานต่างชาติ?? อย่างไรก็ตาม วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “อาชีพขอทานในไทยในยุคสมัยปัจจุบัน” เพื่อให้สังคมไทยเข้าใจใน “รากของปัญหา” ในยุคนี้ รวมถึงจะสะท้อนต่อข้อมูล ’วิธีแก้ปัญหาขอทานที่ประเทศต่าง ๆ ใช้“ เพื่อให้สังคมไทยลองพินิจพิจารณา ซึ่งจริง ๆ “ขอทาน” นั้นเป็นหนึ่งในอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของโลก แต่ยุคปัจจุบันก็ “เป็นปัญหาปวดหัวทุกมุมโลก”

และเกี่ยวกับ “ปัจจัยปัญหาขอทาน” นั้น เรื่องนี้ก็มีการวิเคราะห์ที่น่าสนใจ โดย ดวงพร เพชรคง วิทยากรชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานกฎหมาย 2 สำนักกฎหมาย ที่ได้มีการสะท้อนเรื่องนี้ไว้ผ่านบทความบทวิเคราะห์ “กฎหมายควบคุมการขอทานกับปัญหาขอทานในสังคมไทย” โดยเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th ซึ่งได้ฉายภาพปัญหาไว้ โดยสังเขปมีว่า…อาชีพขอทานมีมาแต่สมัยโบราณ จนดูคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมไปแล้ว ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาที่สังคมไทยเจอมานาน แถม… นับวันปัญหาดูจะยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น!!…เมื่อพบการ “เชื่อมโยงถึงขบวนการค้ามนุษย์!!”

นอกจากนั้น ก็ได้มีการจำแนก “ประเภทของขอทาน” เอาไว้ว่า…มีอยู่ 3 ประเภทหลัก ๆ ที่พบได้บ่อย ๆ กล่าวคือ… ประเภทที่ 1 คนที่เป็นขอทานจริง ที่เลือกเป็นขอทานเพราะไม่มีหนทางทำมาหากิน จึงต้องอาศัยความน่าเวทนา หรือความพิการทางร่างกาย มาใช้เป็นเครื่องมือเลี้ยงปากท้อง, ประเภทที่ 2 คนที่ไม่ใช่ขอทานจริงแต่อาศัยการฉ้อฉลทำให้ผู้อื่นสงสารหรือใช้วิธีต้มตุ๋นหลอกลวงเพื่อให้ผู้มีจิตเมตตาให้เงิน, ประเภทที่ 3 คนที่ถูกล่อลวงให้มาเป็นขอทาน โดยกลุ่มนี้มักเกี่ยวโยงขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งมีทั้งถูกหลอก ถูกล่อลวง ถูกลักพาตัวมาหรือถูกครอบครัวบังคับให้เป็นขอทานเป็นต้น

นี่ยังไม่นับรวม “ขอทานเก๊ข้ามชาติ!!”

ในบทความบทวิเคราะห์ยังมีการสะท้อนถึง “ปัจจัยกระตุ้น” ที่ทำให้บางคนนั้นตัดสินใจเลือก “ทำอาชีพขอทาน” ไว้ว่า… สามารถเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น…ลักษณะงาน เนื่องจากอาชีพขอทานเป็นงานที่เข้าถึงง่าย มีกระบวนการทำงานไม่ซับซ้อน และไม่ต้องใช้ความรู้, ความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้ก็เป็นอีกปัจจัย ทำให้หลายครอบครัวกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ทำให้ขอทานเป็นอีกทางเลือกเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด, สิ่งแวดล้อม เช่น การต้องอาศัยหรือเติบโตในชุมชนที่มีผู้ทำอาชีพขอทานอยู่รอบตัว หรือเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลแก๊งขอทาน เป็นต้น …เหล่านี้เป็น “ปัจจัยวงจรวังวนขอทาน”

ทั้งนี้ สำหรับ “แนวทางแก้ปัญหาขอทาน” นั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลจากบทความบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ โดย ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโสด้านแรงงานของ ทีดีอาร์ไอ ที่ได้นำ “กรณีศึกษาในต่างประเทศ” มาสะท้อนไว้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางเช่นไรนั้น…ก็อย่างเช่น… แคนาดา มีการ ออกกฎหมายถนนปลอดภัย ที่มีบทบัญญัติห้ามขอทาน อยู่ในกฎหมายนี้ด้วย, เดนมาร์ก กฎหมายบางฉบับระบุให้ การขอทานเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกนานถึง 6 เดือนเลยทีเดียว, ฝรั่งเศส แม้จะยกเลิกกฎหมายห้ามขอทานไปตั้งแต่ปี 2537 แต่ก็ยังคงให้ มีกฎหมายห้ามขอทานเชิงก้าวร้าว และห้ามการขอทานที่ใช้สัตว์หรือเด็กเป็นองค์ประกอบ คอยคุมเอาไว้

ดูกันต่อที่ กรีซ ที่เป็นอีกประเทศที่ยังคง มีกฎหมายห้ามการขอทาน บังคับใช้โดย กำหนดโทษทั้งจำ-ทั้งปรับ คือมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 3,000 ยูโร ส่วน สหรัฐอเมริกา หลายเมือง มีการบังคับใช้กฎหมายห้ามการขอทานแบบก้าวร้าว และหลายเมืองก็ เคยมีการจัดระเบียบขอทาน รวมถึง ประชาสัมพันธ์ไม่ให้ประชาชนให้เงินขอทาน อีกด้วย

ขณะที่ สิงคโปร์ ที่ไม่ไกลจากไทย มีการห้ามขอทานบรรจุอยู่ในกฎหมายคนจรจัด ด้วย และที่น่าสนใจคือ…รัฐบาลสิงคโปร์ เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุขอทาน มีหน่วยลาดตระเวนจับขอทาน ที่เป็นมาตรการเชิงรับกับมีมาตรการเชิงรุกเพื่อลดจำนวนขอทานด้วย คือมีการ สร้างช่องทางให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีปัญหาการเงิน ผ่านทางสภาพัฒนาชุมชน หรือศูนย์บริการครอบครัว …เหล่านี้เป็น “กรณีศึกษาในต่างประเทศ” ที่มีการสะท้อนไว้นานแล้ว…กับการ “ลดปัญหาขอทาน”

หันมาดู “ไทย” กับ “ปัญหาขอทานยุคนี้”

กับขอทาน “ยุคใหม่” ที่ “ต่างจากอดีต”

โดยที่ “มีทั้งขอทานไทย-ขอทานเทศ”…

ไทย “จะตัดวงจรที่ยิ่งซับซ้อนยังไง??”.