9 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ขยายตัวต่ำรั้งท้ายในอาเซียน คือโตเฉลี่ยปีละ 1.8% ในขณะที่หลายประเทศ จีดีพีโตมากกว่าไทย 2-3 เท่า

เรียกว่า “จีดีพี” ของไทยโตตามไม่ทันกับปัญหาเงินเฟ้อ รายได้ของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ จีดีพีไล่ตามไม่ทันกับหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน

ถ้าจำกันได้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 8-22 บาท/วัน มีผลวันที่ 1 ต.ค.65 เรียกว่าเห็นตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้น 8-22 บาท/วัน แล้วน้ำตาแทบไหลกันเลยทีเดียว!

ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่จึงจมปลักอยู่กับกองหนี้ เป็นตัวฉุดรั้งกำลังการซื้อในประเทศ ส่งผลทำให้ “จีดีพี” ไตรมาส 3 ของปี 66 ขยายตัวน้อยเพียงแค่ 1.5% และเมื่อรวม 9 เดือนของปีนี้ จีดีพีขยายตัวแค่ 1.9% ขืนปล่อยเรื้อรังไปเรื่อยๆ “จีดีพี” ต้วมเตี้ยมปีละไม่ถึง 2% ก็เลิกฝันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400-600 บาท/วัน ไปได้เลย!

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีนักข่าวถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เกี่ยวกับปัญหาหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่นายกฯบอกว่าไว้แถลงพร้อมกันทีเดียวเลย เกี่ยวกับปัญหาหนี้ทั้งระบบ

“พยัคฆ์น้อย” ทราบคร่าว ๆ ว่ามีการแบ่งปัญหาหนี้สินออกเป็น 2 ส่วน คือ หนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ ซึ่งเรื่องของ “หนี้นอกระบบ” นายกฯจะดีเดย์วันที่ 28 พ.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

ประมาณว่าจะเรียกนายอำเภอทั้งหมด และผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ มาประชุมกันที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อให้หลักการในการไปสแกนหาตัว “เจ้าหนี้นอกระบบ” ในแต่ละอำเภอว่ามีใครบ้าง!

เหมือนการสแกนหาตัว “เจ้ามือหวยใต้ดิน” ในอดีต แต่ละหมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอว่ามีใครบ้าง ซึ่งเป็นเรื่อง “หมู” มากๆ สำหรับนายอำเภอและผู้กำกับโรงพัก

หลังจากสแกนจนรู้ตัว “เจ้าหนี้นอกระบบ” แล้ว! ก็จะให้ “ลูกหนี้” มาแจ้งข้อมูลกับทางอำเภอว่าเป็นหนี้อยู่กับใคร จ่ายดอกเบี้ยในอัตราวันละเท่าไหร่ จ่ายดอกเบี้ยไปเท่าไหร่แล้ว จ่ายดอกเบี้ยจนท่วมเงินต้นไปแล้วหรือยัง?

Free photo finance and accounting concept. business woman working on desk

เมื่อทราบข้อมูลก็จะเรียกทั้งสองฝ่าย (เจ้าหนี้-ลูกหนี้) มาเจรจากันที่อำเภอ ถ้ากรณีไหนจ่ายดอกเบี้ยจนท่วมเงินต้นไปมากแล้ว คุณหยุดกันแค่นี้ได้หรือไม่? ถ้าไม่หยุดก็จะใช้มาตรการทางกฎหมาย เพราะการตามไปเรียกเก็บดอกเบี้ยกันแบบรายวัน ร้อยละ 10-20-30-50 มันผิดกฎหมายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

สรุปคือถ้าคุยเจรจากันต่อหน้านายอำเภอ-ผู้กำกับโรงพัก ด้วยเหตุด้วยผลไม่รู้เรื่อง! ก็จะใช้มาตรการดำเนินคดีตามกฎหมาย และการยึดทรัพย์เจ้าหนี้เงินกู้

หลังจากนั้นวันที่ 12 ธ.ค. 66 นายกฯ จะแถลงเรื่องการแก้ไข “หนี้ในระบบ” ไม่ว่าจะเป็นหนี้ กยศ.-หนี้ครู-หนี้เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นหนี้ที่กระจัดกระจายกันอยู่หลายแหล่ง ก็จะนำหนี้เหล่านั้นมาจัดระเบียบกันใหม่ โดยการโอนให้หนี้ไปอยู่รวมกันในแหล่งเดียว คือสถาบันการเงินของรัฐ

ต่อมาคือออกมาตรการผ่อนชำระหนี้ให้นานขึ้น ผ่อนเป็นรายเดือนในอัตราที่สบายมากขึ้นกว่าเก่า ไม่ให้กระทบกับการใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต โดยลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยส่วนหนึ่ง และรัฐอาจช่วยจ่ายดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง ส่วนเจ้าหนี้มีความสบายใจมากขึ้น เพราะได้รับการชำระหนี้คืนอย่างแน่นอน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม

ยกตัวอย่างคนงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล รัฐบาลเปิดให้กู้คนละ 150,000 บาท คนกู้จ่ายดอกเบี้ยแค่ 1% รัฐช่วยค่าดอกเบี้ย 2% ผ่อนชำระกันไป 20 ปี เฉลี่ยแค่เดือนละ 690 บาทเท่านั้น

นี่คือแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ-หนี้ในระบบ ของรัฐบาลเศรษฐาที่จะดีเดย์ในวันที่ 28 พ.ย. และ 12 ธ.ค.นี้ เพราะถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาหนี้ที่รุงรังกันไปหมด จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการฉุดรั้งการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นปัญหาหมักหมมสะสมกันมา 9 ปี!!

—————-
พยัคฆ์น้อย