ทั้งนี้ วันนี้ ณ ที่นี้ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าตายเดียวดาย “ตายโดดเดี่ยว-ตายลำพัง” นี่ก็ “ปรากฏการณ์ด้านประชากร” ที่ภาครัฐจำเป็นต้องเร่ง-ต้องเพิ่มความใส่ใจ โดยเฉพาะหลังจากมี “โควิด-19 ระบาดรุนแรง” ที่ทำให้เกิดกรณี “คนใกล้ชิดที่เคยเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุเสียชีวิตเพราะโควิดไปจำนวนไม่น้อย” ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยสะท้อนการชี้ของผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร เอาไว้ ซึ่งมีการระบุไว้ว่ากรณีนี้ มีแนวโน้ม “ก่อตัวเป็นอีกปัญหาใหญ่” ในสังคมไทย…

มีการชี้ว่า… “สังคมไทยควรมีศูนย์กลาง”

เพื่อการ “ช่วยผู้สูงวัยที่ไร้ลูกหลานดูแล”

และนี่ “ก็จะเท่ากับช่วยกรณีตายลำพัง”

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้สูงวัยในไทยบางส่วนถึงจะไม่มีลูกหลานแต่ก็มีสามี-ภรรยา หรือมีญาติ ๆ ที่คอยช่วยดูแล แต่ก็มักจะเป็นไปในแบบ “แก่ต้องดูแลเฒ่า” ซึ่งทาง ศ.เกียรติคุณ ปราโมทย์ ปราสาทกุล สะท้อนไว้ผ่านบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่อยู่ใน เดอะประชากร.คอม โดยระบุไว้บางช่วงบางตอนว่าในยุคที่ไทยก็เป็น “สังคมผู้สูงอายุ” แล้ว ถ้า อัตราเพิ่มของผู้สูงอายุพุ่งขึ้น ต่อไปเรื่อย ๆหนึ่งใน “ปัญหาที่จะเพิ่มตามด้วย” คือปัญหา “ผู้สูงอายุต้องดูแลผู้สูงอายุ” หรือคนแก่ต้องดูแลคนเฒ่า จนในอนาคต ไทยอาจจะต้องเผชิญ “สึนามิประชากรผู้สูงอายุ”…นี่เป็นกรณี “น่าเป็นห่วง” ที่ก็ยึดโยง “ตายเดียวดาย”

ปัจจุบันในไทยมีผู้สูงอายุราวร้อยละ 20 ของประชากร หรือ มีผู้สูงอายุประมาณ 13 ล้านคน โดยมีไม่น้อยที่ “ไร้ครอบครัว-ไร้คนดูแล” ซึ่งทาง ดร.ศุทธิดา ชวนวัน นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้วิเคราะห์และสะท้อนกรณีนี้ ซึ่งก็มีการเผยแพร่ทางเดอะประชากร.คอม โดยสังเขปว่า… “สูงวัยอยู่คนเดียวตายเดียวดาย” กำลังเป็นประเด็นน่าสนใจมากสำหรับในไทย เพราะอาจกลายเป็น “อีกปัญหาสังคม” ซึ่งดูสถิติการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่า…เมื่อ 30 ปีก่อนไทยมีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวไม่ถึง 5% แต่ถึงปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12% นี่สะท้อนว่า…

“ผู้สูงอายุไทยที่ต้องอยู่ลำพังคนเดียว”…

แนวโน้ม “มีสัดส่วนเพิ่มรวดเร็วมาก!!”

และนอกจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเร็วแล้ว ปัญหาสำคัญที่พบ คือ “ไทยยังไม่มีระบบรองรับภาวะสูงวัยโดดเดี่ยว” ซึ่งอาจก่อเกิดสถานการณ์ ผู้สูงอายุตายเพียงลำพังสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ไร้ญาติขาดมิตร เป็น “ภาวะอยู่คนเดียวอย่างแท้จริง” จนต้องปรับเปลี่ยนจากกลุ่มเสี่ยงเป็น “กลุ่มเปราะบาง” และถ้าปล่อยไว้โดยไม่มีมาตรการ-แนวทางแก้ปัญหา อาจเกิด “วิกฤติทางประชากร” ทุกภาคส่วนจึง “ต้องปรับเปลี่ยนนิยามรูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงวัยใหม่” เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง

ทางนักวิชาการท่านนี้ระบุไว้อีกว่า… การที่ “ผู้สูงอายุต้องตายลำพัง” ต้องกลายเป็นศพไร้ญาติ จากการที่ไร้ครอบครัว ไร้คนดูแลในช่วงชีวิตบั้นปลายนั้น “เป็นเรื่องน่าหดหู่ใจอย่างมาก” ซึ่งก่อนจะเข้าสู่ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตนั้นผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็ต้องเผชิญผลกระทบต่าง ๆ มากมายหลายด้าน อาทิ ด้านสุขภาพจิต ที่จะเต็มไปด้วยความรู้สึกเหงา กังวล และซึมเศร้า รู้สึกชีวิตสิ้นหวัง ตนเองไร้คุณค่า โดยผู้สูงอายุ 1 ใน 4 ที่อยู่คนเดียวจะกังวล… ช่วงวาระสุดท้ายต้องตายลำพัง

จากผลการศึกษาบางชิ้นที่ได้มีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งต้องพักอาศัยคนเดียวเพียงลำพัง จากข้อมูลที่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ระบุนั้น… มักจะเก็บซ่อนความรู้สึกกังวล ความรู้สึกเหงา และเก็บความรู้สึกเศร้าเอาไว้ โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะที่เรียกว่า “Empty nest syndrome” หรือภาษาไทยใช้คำเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะรังที่ว่างเปล่า” จากการที่ไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้ และจากความต้องการที่จะได้รับการดูแล หรือต้องการที่จะมีผู้ดูแลในช่วงบั้นปลาย…

เพื่อที่ “การใช้ชีวิตต่อไป” ของผู้สูงวัย

ยังเป็นการ…“ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย”

ทั้งนี้ จากปัญหากรณีนี้ ก็เป็นที่มาของ “ข้อเสนอแนะ” โดย ดร.ศุทธิดา ชวนวัน ระบุไว้ว่า… ในสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีปัญหาผู้สูงอายุอยู่ลำพัง… จำเป็นต้องมีการออกแบบสวัสดิการต่าง ๆ สนับสนุนการดูแลด้านต่าง ๆ ให้ประชากรกลุ่มนี้ โดย…ควรมี “ระบบดูแล” กับ “เครือข่ายผู้ดูแล” ทั้งด้านจิตใจและสุขภาพ เพื่อ…ให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกอยากที่จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความหมาย มีคุณค่า และอย่างมีเป้าหมาย

“ไทยควรมีระบบบริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว… และถึงแม้จะจำเป็นต้องมีหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ แต่การขับเคลื่อนก็ไม่ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ควรต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดระบบดูแลผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง”…นี่เป็นข้อเสนอแนะที่ “น่าคิด” …ทั้งนี้ ไทยเริ่มเข้าสู่ ยุค “สังคมคนแก่เต็มพิกัด” เกิดสถานการณ์ “คนแก่ต้องดูแลคนเฒ่า” และโดยเฉพาะ “คนแก่ไร้คนคอยดูแล” …ก็หวังว่า…

“เริ่มทำจริงจังแล้ว??” สำหรับในไทย…

การ “แก้-กัน…ภาวะรังที่ว่างเปล่า??”

ที่ “ลดกรณีตายเดียวดายน่าหดหู่??”.