ขณะที่กองทัพเอกราชคะฉิ่น ( เคไอเอ ) ปักหลักสู้รบกับทหารเมียนมาในรัฐคะฉิ่น นอกจากนี้ กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง ( เคเอ็นดีเอฟ ) อ้างการยิงเครื่องบินรบลำหนึ่งของกองทัพเมียนมา ตกในเขตรัฐกะยา ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และมีพรมแดนบางส่วนติดกับไทย ในเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมากล่าวว่า เครื่องบินตกระหว่างการฝึกซ้อม “เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค” และยืนยันว่า นักบินสองนายดีดตัวออกจากเครื่องบินได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ แนวร่วมแห่งชาติชิน ( ซีเอ็นเอฟ ) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐชิน ทางตะวันตกของเมียนมา ที่มีพรมแดนบางส่วนติดกับอินเดีย ต่อสู้อย่างหนักกับทหารเมียนมาในพื้นที่ จนสามารถยึดครองฐานประจำการได้อย่างน้อย 2 แห่ง ในเขตชานแดนติดกับรัฐมิโซรัมของอินเดีย ในเดือนนี้ ส่งผลให้ประชาชนราว 5,000 คน ลี้ภัยข้ามชายแดนไปยังรัฐมิโซรัม และกองทัพอาระกันโจมตีฐานประจำการหลายแห่งของกองทัพเมียนมา ในรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตะวันตกของประเทศด้วย

ด้านพล.อ.มินต์ ส่วย รักษาการประธานาธิบดีเมียนมา กล่าวว่าหากรัฐบาลและกองทัพไม่สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ “มีแนวโน้ม” ที่เมียนมา “จะแตกออกเป็นเสี่ยง”

แหล่งข่าวหลายคนจากกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ให้ข้อมูลไปในทางเดียวกัน ว่ากองกำลังชาติพันธุ์กลายกลุ่มใช้เวลาวางแผนร่วมกันนานกว่า 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับปฏิบัติการจู่โจมครั้งนี้ ซึ่งถือว่า “มีความยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จมากที่สุด” นับตั้งแต่การลุกฮือของภาคประชาชนในนาม “การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ” เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา พบหารือกับนายหวัง เสี่ยวหง รมว.ความปลอดภัยสาธารณะของจีน ที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566

ด้านแหล่งข่าวในรัฐบาลแห่งชาติ ( เอ็นยูจี ) หรือรัฐบาลเงา ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ว่าจะสิ้นสุดแบบใด หรือผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร แต่ถือเป็น “โอกาสทองที่หาไม่ได้อีกแล้ว”

ขณะเดียวกัน การสู้รบครั้งนี้เกิดขึ้น ท่ามกลางภาวะตึงตัวอย่างหนักในรอบหลายทศวรรษของเศรษฐกิจเมียนมา ที่เป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรของกลุ่มประเทศตะวันตก ซึ่งต้องการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาชุดปัจจุบัน ส่งผลให้กองทัพเมียนมาหันไปยกระดับความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

กระนั้น การสู้รบระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน ซึ่งกองกำลังชาติพันธุ์กำลังปิดล้อมเมืองเล่าก์ก่าย ซึ่งเป็นเมืองเอกของภูมิภาคโกก้าง ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนจีนประมาณ 3 กิโลเมตร กำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับจีนตึงเครียด

อนึ่ง กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ขับเอ็มเอ็นดีเอเอออกจากเมืองเล่าก์ก่าย เมื่อปี 2552 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เมืองแห่งนี้กลายเป็น “ศูนย์กลาง” ของเครือข่ายอาชญากรรมออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ซึ่งมีการล่อลวงประชาชนจากทั้งในจีน และอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักรบกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติท่าอ่าง ( ทีเอ็นแอลเอ ) ยืนประจำการ ที่เมืองน้ำคำ ในรัฐฉาน ทางตอนเหนือของเมียนมา

แต่มีการตั้งข้องสังเกตและการวิเคราะห์จากบางฝ่ายด้วยว่า จีนอาจมอบความสนับสนุนทั้งด้านอาวุธและทางการเงิน ให้แก่กองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่ม ที่อยู่ทางเหนือของเมียนมา จากการที่สมาชิกในกองกำลังเหล่านั้นใช้เงินหยวน และซิมการ์ดของจีน

ทว่าจีนแสดงบทบาท ด้วยการเรียกร้องให้มีการหยุดยิง การเจรจา และการปกป้องพลเรือนจีน ตลอดจนผลประโยชน์ร่วมระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งรวมถึงโครงการเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้า นอกจากนั้น รัฐบาลปักกิ่งส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางมายังเมียนมาแล้วหลายคน เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารเมียนมา เกี่ยวกับสถานการณ์รุนแรงรอบนี้้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าการสู้รบรอบนี้จะยุติแบบใด ยังคงมีความเป็นไปได้น้อยมากถึงมากที่สุด ที่กองทัพเมียนมาจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จนถึงขั้นล่มสลาย อย่างไรก็ตาม มีโอกาสสูงที่กองทัพเมียนมาจะสูญเสียเขตอิทธิพลมากขึ้นในคราวนี้ และยิ่งควบคุมสถานการณ์ได้ช้ามากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกชัดเจนของ “ความปราชัยเชิงกลยุทธ์”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP