โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาลบอกว่า จากการศึกษา Journal of cancer ที่สังเกตพบว่า มะเร็งปอดมักพบในช่วงอายุ 70 ปี และมากกว่า 70% มักจะพบในช่วงอายุที่มากกว่า 55 ปี แต่ขณะเดียวกันก็พบว่า 1.4% พบในคนอายุน้อยกว่า 35 ปี และส่วนใหญ่จะเจอในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักเป็นชนิด Adenocarcinoma
โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมักจะพบระยะ 4 หรือระยะที่มีการลุกลามเข้าเยื่อหุ้มปอดหรือไปที่บริเวณอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง กระดูก ต่อมหมวกไต และตับ เป็นต้น โดยสาเหตุที่พบเจอช้า เนื่อง จากเวลามีอาการไอหรือเหนื่อย ในคนอายุน้อยทางการแพทย์เราจะนึกถึงโรคมะเร็งค่อนข้างน้อย จึงใช้เวลาในการหาสาเหตุอื่น ๆ มากกว่า อาจทำให้วินิจฉัยได้ล่าช้า
“การสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัจจัยหลัก แต่ในคนอายุน้อยนั้นมักพบว่าเจอในคนที่ไม่สูบบุหรี่เป็นหลัก โดยสาเหตุมักเกี่ยวข้องกับยีนที่ผิดปกติ เช่น EGFR, ALK, ROS1 และประวัติครอบครัวที่มีโรคมะเร็งปอดมาเกี่ยวข้อง”
สำหรับวิธีการวินิจฉัยจะเหมือนกับการตรวจในมะเร็งปอดทั่วไป คือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest) ซึ่งเมื่อพบเจอก้อนที่น่า
สงสัย ต้องเอาชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อเป็นการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดจริง ๆ หรือไม่
ส่วนวิธีที่การรักษานั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น มักแนะนำให้ทำการผ่าตัดเอากลีบปอดออก โดยปัจจุบันสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง รักษาได้เทียบเท่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม แต่ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ดีกว่า ส่วนระยะลุกลามมักแนะนำให้ยาเคมีบำบัดหรือยาพุ่งเป้าหรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด
“การพยากรณ์ของโรคนั้น ถ้าเป็นระยะลุกลามตั้งแต่อายุน้อย ๆ มักจะเป็นว่าพยากรณ์โรคจะดีกว่ากลุ่มสูงอายุที่เจอระยะเดียวกัน เนื่องจากมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าและสามารถทนต่อการรับยาเคมีบำบัด เพื่อรักษาโรคนี้ดีกว่าคนสูงอายุ”
สุดท้ายนี้ไม่มีอะไรจะดีเท่าการป้องกันตัวเองหรือตรวจพบเจอระยะเริ่มต้นแนะนำกลุ่มความเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด โดยการทำ low doseCT chest สามารถสอบถามเพิ่มเติมผ่านทาง Line id:@lungusurgeryth หรือสนใจสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “ผ่าตัดปอด” โดยนายแพทย์ศิระหรือเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ที่ https://siradoctorlung.com
อภิวรรณ เสาเวียง