ที่ผ่านมาเรามักได้ยินว่าขวดนํ้าพลาสติกรีไซเคิลออกมาเป็นเสื้อได้ โดยนำเส้นใยมาปั่นแล้วทอออกมาเป็นเส้นใย ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลนี้มาจากพลาสติกเบอร์ 1 จากชนิดพลาสติกที่ใช้ในบ้านเรามีนัมเบอร์ทั้งหมด 7 ชนิด

พลาสติกเบอร์ 2 ถูกนำมาอัพไซคลิงให้เป็นสินค้าที่แสดงถึงความยั่งยืน ใช้ประโยชน์ได้จริงผ่านงานออกแบบของ 2 สาว “พิม” ชโลชา นิลธรรมชาติ “เหมียว” ปิยาภา วิเชียรสาร ใช้พื้นที่ตึกแถวเก่าแก่ย่านถนนทรงวาด ให้เป็นสตูดิโอที่ชื่อว่า พรีเชียส พลาสติก (Precious Plastic) โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก นศ.เนเธอร์แลนด์ ที่ทำโปรเจกต์จบการศึกษา ทำสตูดิโอในบ้านในการออกแบบขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ พร้อมแชร์องค์ความรู้และเปิดให้ทดลองการจัดการพลาสติกด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เริ่มจากการจัดเก็บ การคัดแยก ทำความสะอาด และการแปรรูป เผยแพร่ผ่านทางยูทูบ ทั้งพิมและเหมียวเข้าไปศึกษาและกลายเป็นจุดเริ่มต้นทำสตูดิโอแห่งนี้ขึ้นมา

“จุดเริ่มต้นแรกน่าจะมาจากความชอบศิลปะ แล้วมองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นแมททีเรียลที่คนไม่ต้องการ เราก็เลยมองเห็นถึงความสวยความงามของมัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมขยะที่มันมารวมกันแล้วได้สีหลากหลาย เริ่มจากชอบสีของมันก่อน แล้วเริ่มศึกษาอย่างจริงจังว่า ถ้าเอามาแมตช์กับงานเรา ทำให้มันขายได้และเลี้ยงชีพได้” เหมียว เล่าถึงที่มา

พิมเสริมในข้อมูลว่า ความจริงแล้วพลาสติกทั่วโลกไม่ได้แตกต่างกัน อาจจะแตกต่างกันที่เขาเลือกพลาสติกไปใช้กับโปรดักต์อะไร จากความรู้ของ นศ.เนเธอร์แลนด์ ทำให้เธอเห็นว่า สามารถทำให้ขยะพลาสติกเกิดใหม่ได้ โดยทุกคนทำได้จากที่บ้าน และทุกคนในสังคมมาร่วมด้วยช่วยกัน

“ยกตัวอย่าง คุณไม่ต้องทำงานเป็นชิ้นก็ได้ คุณอาจจะอยากจัดเก็บ แยก แล้วบดส่งให้กับสตูดิโอที่ผลิตชิ้นงานแบบเรา เขาจะมีหลายซิสเต็ม คือคุณไม่จำเป็นต้องอยากรีไซเคิล คุณจะอยู่ส่วนไหนก็ได้ แต่ขอให้เป็นหนึ่งในวงจร แต่ด้วยความที่เมืองไทยมันเพิ่งเริ่มทำ พวกเราก็เลยต้องทำเองให้ครบทุกลูป ก็คือการจัดเก็บ การคัดแยก ทำความสะอาด และการแปรรูป” พิมบอกเล่าถึงวิธีการทำงาน

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ สตูดิโออยู่ในพื้นที่เยาวราชซึ่งค่อนข้างเล็ก จึงเลือกใช้พลาสติกเบอร์ 2 โดยประกาศว่ารับฝาขวดนํ้า คนที่ผ่านมาแถวนี้ก็จะเอามาหยอด หรือบางคนเอาฝามาแลก เอาฝาพลาสติกมา 2 กิโล เราก็ให้เป็นกาแฟ 1 แก้ว เป็นต้น อยากลองทำให้มันเกิดเป็นระบบแบบนี้ดู โดยไม่ต้องใช้เงิน

เมื่อได้ฝาขวดนํ้าพลาสติกมาแล้ว จะทำ การคัดแยก ล้างให้สะอาด บด ตากแห้ง อบ แยกสี อัดเก็บงานจนเสร็จขบวนการ จะมีประมาณ 15 ขั้นตอน กว่ามันจะออกมาเป็นชิ้นงาน ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

สำหรับงาน พรีเชียส พลาสติก พิม เล่าว่า โดยส่วนใหญ่จะได้โจทย์หรือคอนเซปต์มาจากลูกค้า คนติดต่อเข้ามา เรา จะถามเขาก่อนว่าต้องการทำอะไรประมาณไหน และทางเขามีขยะไหม ถ้าไม่มีเราก็จะจัดหาให้ แต่ถ้ามีขยะจากทางลูกค้ามา เราก็จะมีส่วนลดให้ จากนั้นเราก็เอามาแปรรูป แล้วแต่ว่าใครอยากให้ทำเป็นโปรดักต์อะไร

ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่เราเคยทำไปแล้วก็เช่น “เหรียญรางวัล” ในงานวิ่ง หรือโปรเจกต์ที่เราทำกับร้านอาหารซึ่งเขามีหลายสาขา เขาโยนโจทย์มาให้เราตอบแทนลูกค้า เราเป็นฝ่ายครีเอทีฟ ก็ต้องคิดไปว่า โปรดักต์จะต้องเป็นอะไรบ้างตลอดปีนี้ ซึ่งจะมีอยู่ 1 ชิ้นที่จะเอาพลาสติกเข้าไปผสมผสานด้วย คือ “เขียง” ซึ่งทำมาจากฝานํ้าดื่มในร้านอาหาร ก็จะได้สีเอกลักษณ์ของร้านพอเราได้โปรดักต์ต้นแบบแล้ว เราคำนวณได้ว่าหนึ่งชิ้นใช้พลาสติกเท่าไหร่ และเราต้องทำกี่ชิ้น ทั้งหมดนี้เราก็สามารถคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ ที่สำคัญมันสวย แข็งแรงและใช้งานได้จริง นอกจากนี้ยังทำเป็นถ้วยรางวัล ที่เน้นพลาสติกที่เป็นฝาขวด ทุกชิ้นเราทำมือ สองพันสามพันชิ้นเราก็ทำมือ ทำให้ทุกชิ้นไม่เหมือนกันเลย ทุกชิ้นเป็นงานคราฟต์

สิ่งที่โดดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่มาจากสตูดิโอ พรีเชียส พลาสติก เหมียวบอกว่า งานของตัวเองอาจจะไม่สวยเนี้ยบ เพราะใช้ฝาพลาสติกรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่าจะไม่ใช้เม็ดพลาสติกใหม่ใส่เข้าไป แม้จะได้ชิ้นงานที่สวยกว่าเนี้ยบกว่า เหตุผลสำคัญ เพราะถ้าพลาสติกต่างชนิดมาหลอมรวมปนกันจะนำกลับไปรีไซเคิลไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพลาสติกเบอร์เดียวกัน ชนิดเดียวกันก็ยังสามารถกลับไปรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ

ความพิถีพิถันและความใส่ใจด้านการทำงานของทั้งพิมและเหมียว ที่มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยม ที่จะสร้างความยั่งยืนแม้จะเป็นเพียงกลุ่มคนตัวเล็กของสังคม

“ถ้าเราเห็นว่าโปรดักต์รีไซเคิล เราอาจจะต้องอ่านดีเทลว่ามีอะไรบ้าง พวกเราชอบเดินห้างสำรวจตลาด ดูโปรดักต์รีไซเคิลตลอด บางอย่างเป็นพลาสติกใหม่ที่ผสมของเก่าแค่ 10% แต่ชูว่าคำว่ารีไซเคิล”

…ความรู้ใหม่ของการรีไซเคิลพลาสติก ที่คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการพลาสติกไม่รู้ แต่แท้จริงแล้วควรเป็นข้อมูลให้สังคมทราบเพื่อแยกให้ถูกต้อง ลดขั้นตอนในการจัดเก็บ…

ปัจจุบันการทำงานลักษณะนี้ มีอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ตัวอย่างประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุนคือประเทศเกาหลี มีสตูดิโอทำพวงกุญแจจากพลาสติกใช้แล้วเป็นของที่ระลึกของวง BTS

เหมียวบอกว่ามีความคิดที่จะทำสเกลของชิ้นงานที่ใหญ่ แต่ขนาดของเตาอบพลาสติกที่มีอยู่ไม่สามารถทำได้ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้อยู่อย่างเตาอบ ได้ดัดแปลงมาจากเตาอบมือ 2 ที่ผ่านการทำพิซซ่า รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งต้องใช้ทุนพอสมควร เช่นเครื่องแยกชนิดพลาสติกมีราคาหลักแสน ดังนั้นวิธีที่แยกฝาขวดนํ้า ฝานํ้าอัดลม หรือฝาเครื่องดื่ม ๆ ต่างที่มีหลากสี จะใช้วิธีจมนํ้า เพราะพลาสติกแต่ละแบบมีความหนาต่างกัน เมื่อนำมาทำเป็นชิ้นงานอบแล้วต้องใช้อุณหภูมิที่เหมาะสมกับพลาสติกนั้น ๆ ด้วย

สำหรับฝานํ้าดื่มซึ่งเป็นพลาสติกส่วนใหญ่ที่เราใช้ จะมีวิธีสังเกตใต้ฝาจะมีเครื่องหมายสามเหลี่ยม ที่บอกเบอร์พลาสติก เขียนว่า HDPE บางยี่ห้อที่ประเทศไทยไม่มีเขียนด้วย แต่ในเมืองนอกเป็นกฎว่าต้องเขียนบอก พอไม่มีเขียนบอกเราก็จะแยกประเภทของพลาสติกลำบาก

“มองว่าประเทศไทยพูดคุยเรื่องโลกร้อนมานานแล้ว แต่วิธีการแก้ไขปัญหามันยังไม่ถูกสำเร็จผล มันยังไม่ได้เห็นภาพขนาดนั้น ถ้าเราแยกขยะเองที่บ้าน ก็เป็นความจริงว่าคนที่แยกเองก็ไม่รู้ว่าขยะที่เราแยกจุดจบมันอยู่ที่ไหน เช่นเดียวกับระบบรีไซเคิลแล้วไปไหน แต่พรีเชียส พลาสติก อยากจะบอกว่า ไม่ยากขนาดนั้น แต่คุณแค่ต้องทำให้ถูกขั้นตอน ไม่จำเป็นว่าเราอยากรีไซเคิลพลาสติกแล้วต้องทำในโรงงานใหญ่เท่านั้น อาจต้องเปลี่ยนคือย่อสเกลให้เล็กลง และกระจายออกไปให้ทั่วประเทศ ช่วยลดขยะลดน้อยลง

เช่นเดียวกันต้องการทุนสนับสนุนจากรัฐ เพราะว่าเรื่องรณรงค์แล้วยังไงต่อ หรือจริง ๆ ต้องมีกฎหมายบังคับใช้ คุณผลิตเท่าไหน? และต้องกำจัดไปเท่าไหน? ไม่มีกฎหมาย ขยะตกหล่นไม่รู้จะจัดการยังไง จากประสบการณ์ที่ทำมาแล้ว 5-6 ปี มันก็เลยเริ่มชำนาญทั้งเรื่องอุณหภูมิหลอมที่พอดีและไม่ปล่อยมลพิษ”

ไอเดียการทำสตูดิโอแบบ พรีเชียส พลาสติก มีหลายแห่งในต่างประเทศ และสตูดิโอที่เยาวราชเป็นหนึ่งที่ได้รับการปักธงว่าในประเทศไทย มีกลุ่มคนที่ทำงานศิลปะโดยใช้ขยะพลาสติกมาสร้างชิ้นงานใหม่ได้ …ไม่รู้ว่าจะเข้าข่ายพลังซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนหรือไม่.