ตำนานของ ‘เรือโนอาห์’ ที่ช่วยชีวิตทั้งคนและสัตว์จำนวนมากให้รอดจากวิกฤตน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ในพระคัมภีร์ไบเบิล เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังคงมีการถกเถียงว่ามีความเป็นจริงซ่อนอยู่แค่ไหน รวมไปถึงการตามหาจุดจอดเรือโนอาห์ครั้งสุดท้ายที่แท้จริง

เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักโบราณคดีตุรกี-อเมริกันเชื่อว่าสามารถระบุจุดจอดที่แท้จริงของเรือโนอาห์ได้แล้ว โดยวิเคราะห์จากข้อมูลการก่อตัวทางธรณีวิทยาที่ทีมงานขุดค้นในพื้นที่บนยอดเขาที่มีรูปร่างคล้ายเรือขนาดใหญ่ในประเทศตุรกี 

เดิมที ทีมนักโบราณคดีหลายกลุ่มสันนิษฐานว่าพื้นที่บนยอดเขาอารารัตซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศตุรกี น่าจะเป็นจุดจอดเรือของโนอาห์ที่รอนแรมอยู่กลางน้ำเป็นเวลานานถึง 150 วัน ระหว่างที่เกิดน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ หลังจากมีฝนตกติดต่อกันถึง 40 วัน ตามเรื่องราวในพระคัมภีร์

เมื่อดูจากภาพถ่ายในมุมสูงของยอดเขาอารารัต จะมองเห็นพื้นที่ดังกล่าวมีรูปทรงคล้ายเรือขนาดใหญ่อย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำตัวอย่างของชั้นดินและชั้นหินจากพื้นที่ดังกล่าว กลับไปวิเคราะห์และได้ผลลัพธ์ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว บ่งบอกว่ามีเศษซากและวัสดุหลายชนิด เช่น ภาชนะจากดินเหนียว, สารประกอบจากท้องทะเลและอาหารทะเล ซึ่งตรวจอายุย้อนไปได้ถึง 5,500-3,000 ปีก่อนคริสตกาล อันเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม

สภาพของเนินดินและโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ดูคล้ายเรือยักษ์ในตำนานบนยอดเขาอารารัตเมื่อปี 2560
ภาพในอีกมุมหนึ่งของโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ปรากฏบนยอดเขาอารารัต ดูคล้ายเรือขนาดใหญ่อย่างชัดเจน

กรณีศึกษาล่าสุดนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยตุรกีและมหาวิทยาลัยในสหรัฐ รวม 3 สถาบัน และทำงานตามแนวคิดและข้อสันนิษฐานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2564 ในนามของ “ทีมวิจัยยอดเขาอารารัตและเรือของโนอาห์” โดยจุดประสงค์ของการขุดค้นซากปรักหักพังที่ได้รับความเสียหายจากดินถล่ม เพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทีมงานเพิ่งเริ่มขุดค้นกันตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565

พื้นที่ในการขุดค้นครั้งนี้อยู่ห่างจากชายแดนประเทศตุรกี-อิหร่านไม่ถึง 3 กม.  ในตำบลอากรี เมืองโดกูบายาซิด เน้นไปที่สิ่งที่ดูเหมือนโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ฝังอยู่ในดิน มันมีความยาว 164 เมตร ในเบื้องต้นพบว่าประกอบไปด้วยแร่ไลมอไนต์

เชื่อกันว่าโครงสร้างนี้เป็นซากเรือโนอาห์ที่เหลืออยู่และกลายเป็นฟอสซิล เห็นได้ชัดเจนว่ามีรูปร่างคล้ายเรือ อยู่บนยอดเขาอารารัตซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของตุรกี ด้วยความสูง 5,137 เมตร โดยพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งขุดค้นมาตั้งแต่ปี 2499 

จากการขุดค้นหินและดินตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ แล้วนำกลับไปวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยเทคนิคอิสตันบูล พบว่า ตัวอย่างบางชิ้นมีอายุเก่าแก่ราว 3,500-5,000 ปีก่อน เทียบได้ราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นช่วงที่เกิดน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ตามพระคัมภีร์ไบเบิล

ดร. ฟารุก คายา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิบราฮิม เชเชน ระบุว่า หลักฐานจากสิ่งที่ค้นพบในช่วงแรกของการวิจัยทำให้ทีมงานเชื่อว่ามีการทำกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่นี้ ระหว่างยุคหินและทองแดง โดยเฉพาะช่วงปี 5,500-3,000 ปีก่อนคริสตกาล

ดร. คายา กล่าวว่า เชื่อกันว่าเหตุการณ์น้ำท่วมโลกครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ 5,000 ปีก่อน ซึ่งการค้นพบของทีมงานก็บ่งชี้ว่ามีมนุษย์มาใช้ชีวิตอยู่ในละแวกนี้ในช่วงดังกล่าว แม้ว่าตอนนี้จะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปอะไรลงไป

ขนาดของกองดินและโครงสร้างที่ปรากฏบนยอดเขาอารารัตมีความใกล้เคียงกับขนาดของเรือโนอาห์ตามคำบรรยายในบทปฐมกาลของพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งระบุว่า “ยาว 300 ศอก กว้าง 50 ศอก และสูง 30 ศอก” ซึ่งเทียบกับมาตรวัดปัจจุบันคือ ยาว 157 เมตร กว้าง 26 เมตรและสูง 15 เมตร

ในพระคัมภีร์บรรยายว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสั่งให้โนอาห์ ผู้มีบุตร 3 คน สร้างเรือขนาดใหญ่ และรวบรวมสัตว์ทั้งหลายในโลกอย่างละ 1 คู่ แล้วนำลงเรือก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมล้างโลก

ภาพวาดจากจินตนาการ ถ่ายทอดช่วงเวลาที่เรือโนอาห์จอดที่ยอดเขาอารารัต

พื้นที่ขุดค้นและโครงสร้างรูปเรือตั้งอยู่ที่กม.ที่ 29 ทางตอนใต้ของเขาอารารัต ซึ่งในบทปฐมกาลระบุว่าเป็นจุดจอดเรือครั้งสุดท้ายของโนอาห์ แหล่งขุดค้นแห่งนี้มีชาวนาชาวเคิร์ดเป็นผู้ค้นพบคนแรกในปี 2491 และได้รับความสนใจจากนายทหารของกองทัพตุรกีระหว่างการทำแผนที่ขององค์การนาโต้ในปี 2494

ดร. คายา เน้นย้ำว่าความร่วมมือในการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่ในดินแดนเมโสโปเตเมียแห่งนี้มีความสำคัญมาก อีกทั้งเรื่องราวของเรือโนอาห์ต่างมีปรากฏอยู่คัมภีร์โบราณทั้งไบเบิลและกุรอาน รวมไปถึงบันทึกคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนายูดาห์ด้วย ทั้งนี้ วงการนักวิทยาศาสตร์ยังคงมีหน้าที่ตรวจสอบต่อไปว่า เรื่องราวในตำนานของศาสนาเหล่านี้ มีความน่าเชื่อถือหรือมีความจริงอยู่มากน้อยแค่ไหน อย่างไร 

ที่มา : jpost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES