“…จากโจทย์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด เราได้มีการนำมาต่อยอดใช้กับเด็ก ๆ…ถึงแม้โควิด-19 จะผ่านไปแล้ว โดยมีเป้าหมายคือเพื่อสร้างพื้นที่แห่งโอกาส และหยุดเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบ” …หนึ่งในตัวแทนคณะครูระบุถึง “หัวใจสำคัญ” ในการคิดค้นและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภายในโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และ “วิถีชีวิตของเด็ก ๆ” ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ขอนำเรื่องราวการฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดของคุณครูและนักเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้มาบอกเล่าต่อ… โดยเป็นเรื่องราวการใส่ใจวิถีชีวิตเด็ก ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบโรงเรียน…

0828_บทความ 174


“ตอนโควิด-19 ปี 2564 ถือเป็นบททดสอบใหญ่ที่เราต้องเผชิญ โดยภารกิจใหญ่ของเราคือ ต้องจัดการศึกษาให้ได้ ซึ่งเวลานั้น เรามีการเยี่ยมบ้านกับสำรวจความพร้อมของนักเรียน และพบว่ามีเด็กที่หลุดไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเด็กบางคนต้องไปทำงาน เราก็เลยกลับมาคุยกันในกลุ่มครูว่าเด็กที่หลุดออกไป หรือที่ค่อย ๆ ห่างจากการเรียนไปเรื่อย ๆ เราจะทำยังไงให้กลับมาเรียน ทำให้เราตระหนักว่าระบบการศึกษาออนไลน์ทำอะไรได้มากกว่าแค่สอนผ่าน Zoom แต่ยังช่วยได้มากในเรื่องของการจัดทำบทเรียนสำเร็จรูปที่เหมาะกับนักเรียนทุกคน” …เป็นอุปสรรคที่เจอเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว และแนวทางแก้ ที่ “ครูนุชนาถ” หรือ “ดร.นุชนาถ สอนสง” ผู้อำนวยการ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี บอกเล่าไว้ผ่านบทความใน เว็บไซต์ กสศ. เป็นที่มาในการริเริ่มผลักดันจัดการศึกษาทางเลือกให้นักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ ที่ส่งผลทำให้เด็กสามารถจบการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ จากที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ จนมีเด็กหลุดจากระบบกลางทาง หรือไม่ก็ต้องหันหลังให้โรงเรียนเพื่อไปหางานทำ เพราะเด็ก ๆ เจอกับข้อจำกัดของระบบการศึกษาที่มีเพียงรูปแบบเดียว โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นของโรงเรียนแห่งนี้เกิดจากการคิดค้น “โมเดล 1 โรงเรียน 3 ระบบ” ขึ้นมาแก้ปัญหา

รายละเอียดของโมเดลนี้ ผอ.โรงเรียนคนเดิมได้มีการบอกเล่าไว้ว่า… จริง ๆ รูปแบบการเรียนทางเลือกนั้น โรงเรียนได้เริ่มต้นทำมาตั้งแต่ 2550 เพื่อเด็กที่ติดบางวิชา หรือเด็กที่ออกไปทำงาน…สามารถกลับเข้ามาสู่ห้องเรียนได้สัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำมาตั้งแต่ก่อนที่ระบบออนไลน์ยังไม่สะดวกเท่าปัจจุบันนี้ จนเวลาผ่านไปเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้น ทำให้การจัดการศึกษาทางเลือกรูปแบบนี้ทำได้ง่ายขึ้น …ทาง ดร.นุชนาถ เล่าไว้ถึงความก้าวหน้าของโมเดล 1 โรงเรียน 3 ระบบที่ว่านี้ ก่อนจะขยายความการจัดการศึกษารูปแบบนี้ว่า… ห้องเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนจัดทำขึ้น ไม่ใช่เพียงการสอนแบบเรียลไทม์เท่านั้น แต่เป็นห้องเรียนที่ รวบรวมเนื้อหาแต่ละวิชามาจำแนกและจัดหมวดหมู่ด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ จากนั้นนำชุดความรู้ที่จัดทำขึ้นไปไว้ในระบบออนไลน์เพื่อเป็น “บทเรียนสำเร็จรูป” ให้ครูและนักเรียนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนทบทวนซ้ำได้ หรือเรียนจากที่ไหนเวลาใดก็ได้ ส่วนรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น ทางโรงเรียนก็ได้มีการวางแผนเพื่อปูแนวทางไว้แล้ว โดยนำข้อมูลที่ได้จากการนำบทเรียนและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมา “ถอดบทเรียน” เพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด โดยมีหลักสำคัญคือต้องไม่เพิ่มภาระครู

ดร.นุชนาถ สอนสง

ดร.นุชนาถ ได้เล่าเอาไว้อีกว่า… จากห้องเรียนวันศุกร์ที่คิดขึ้น ก็ได้นำมา “ต่อยอด” พัฒนาสู่การคิดค้นนวัตกรรมสร้างโอกาส เพื่อใช้รองรับเด็กที่หลุดออกไปนอกระบบ โดยใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ได้มีการระบุไว้ว่า การจัดการศึกษาจะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.การศึกษาในระบบ 2.การศึกษานอกระบบ 3.การศึกษาตามอัธยาศัย โดยสถานศึกษาจะจัดการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือจะจัดทั้ง 3 รูปแบบก็ได้ ทางโรงเรียนจึงอยากทลายกรอบจำกัดของการศึกษาเพียงรูปแบบเดียวที่โรงเรียนใช้อยู่ ด้วยการ ออกแบบให้มีทั้ง 3 ระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็ก ที่หลุดจากโรงเรียน

“ตั้งแต่ปี 2555 โรงเรียนได้เริ่มดัดแปลงห้องเรียนห้องหนึ่งในอาคารหลังเก่าให้เป็นห้องเรียนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนตกค้าง ซึ่งครูแต่ละรายวิชาจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสอน เมื่อครบชั่วโมงแล้วก็จะให้เด็กสอบวัดประเมินผล และจะออกวุฒิการศึกษาให้เมื่อผู้เรียนเก็บหน่วยกิตได้ครบตามหลักสูตร” …ดร.นุชนาถ เล่าไว้ถึงช่วงเริ่มต้นของการดำเนินการภายใต้โมเดลนี้ ที่ต่อมาก็ได้มีการนำมาขยายผลเพิ่มขึ้นในปี 2564 ในช่วงที่มีวิกฤติโควิด-19 โดยมีการเล่าไว้ต่อไปว่า… ช่วงเวลานั้น เด็กนักเรียน 400 คน ทุกระดับชั้นของโรงเรียน คือกลุ่มเสี่ยงที่พร้อมหลุดจากระบบได้ทุกเมื่อ ดังนั้นภารกิจใหญ่คือต้องจัดการศึกษาให้เด็กไปต่อได้ จึงมีการนำประสบการณ์ที่โรงเรียนสั่งสมมาทั้งหมดมาใช้ เริ่มด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อดูความพร้อมของเด็กเป็นรายคนว่าน่าจะเหมาะกับการเรียนรูปแบบใด แล้วกลับมาหาวิธีจัดการศึกษาที่เหมาะสม อาทิ จัดทำใบงานจัดการศึกษาแบบออนแฮนด์ (on-hand) ควบคู่กับทดลองให้ครูหาทางสร้างพื้นที่เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์

“การเรียนออนไลน์นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียนพร้อมกันทุกคน เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งเรื่องเวลาและอุปกรณ์ อีกทั้งเด็กบางคนต้องตามพ่อแม่ไปอยู่ที่อื่น บางคนไปอยู่กับปู่ย่าตายาย ทำให้ไม่มีใครช่วยดูแล บางบ้านก็มีอุปกรณ์สื่อสารแค่เครื่องเดียว ทำให้คุณครูจึงเกิดไอเดียในการผลิตบทเรียนสำเร็จรูปขึ้นมา แล้วไปแขวนไว้ในห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเรานำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ที่สุด” …ผอ.โรงเรียนคนเดิมระบุไว้

ทั้งนี้ เมื่อวิกฤติโควิด-19 ซาลง แต่กลับพบว่าจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบยังคงสูงอยู่ โรงเรียนก็จึงเริ่มทบทวนการจัดการศึกษาที่เหมาะสมตามความจำเป็นของผู้เรียนแต่ละคน ด้วยการนำ “หลักคิด” เรื่องการ “จัดการศึกษา 3 ระบบ” มาใช้ โดย นำปัญหาเด็กแต่ละคนมาเป็นโจทย์ เพื่อออกแบบหลักสูตรให้ลงตัวกับเด็กแต่ละราย ซึ่งปัญหาที่เด็กเจอส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาความยากจน การด้อยโอกาส การอยู่ในครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลทำให้เด็กสามารถหลุดจากระบบได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังระดมสมองคุณครูด้วยกันเพื่อหาแนวทางว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรโดยไม่ยึดติดรูปแบบใดตายตัว จากนั้นจึงเตรียมความพร้อมให้คุณครู และสื่อสารกับผู้ปกครอง ชุมชน เพื่อให้เข้าใจแนวทางแบบนี้

ทาง ผอ.โรงเรียนคนเดิมยังได้อธิบายสรุปถึง “แนวทางพัฒนา” ภายใต้ “โมเดล 1 โรงเรียน 3 ระบบ” นี้ไว้ว่า… จะมี 4 กลยุทธ์ หลัก ๆ คือ… 1.พัฒนาข้อมูลสารสนเทศ ให้มีระบบดูแลช่วยเหลือและระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียน 2.พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กแต่ละกลุ่ม ให้มีทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย 3.พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ตรงตามบริบทชีวิต และสอดคล้องกับยุคสมัย และ 4.พัฒนากลไกภาคีเครือข่ายความร่วมมือ

“ครูนุชนาถ” ผู้อำนวยการ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ยังได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านบทความใน เว็บไซต์ กสศ. ไว้ด้วยหลักใหญ่ใจความที่ว่า… “การศึกษาที่มีทางเลือก ไม่ใช่แค่การพาเด็กกลับห้องเรียน แต่จะต้องสามารถป้องกันเพื่อไม่ให้วังวนเหล่านี้วนเวียนซ้ำด้วย” การทลายกรอบจำกัดเดิม ๆ ไปสู่การศึกษาที่มีทางเลือกได้นั้น… “ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องมีฐานความเข้าใจ และต้องมองเห็นสภาพรอบตัวเด็กและผู้ปกครองให้ได้เสียก่อน…จึงจะเข้าใจสิ่งที่เด็กต้องต่อสู้อยู่”.

ภารกิจ ‘หล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจ’
“ดร.นุชนาถ สอนสง” ผู้อำนวยการ โรงเรียนนิวิฐราษฎร์อุปถัมภ์ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี สะท้อนย้ำถึง “หัวใจสำคัญ” ของ “การศึกษาทางเลือก” ไว้ด้วยว่า… การศึกษาที่มีทางเลือกไม่ใช่แค่ค้นหาแล้วพาเด็กกลับมาสู่ห้องเรียน เพราะถ้าทำเท่านั้นก็จะเท่ากับว่าพาเด็กให้ต้องกลับมาเจอกับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่เคยผลักให้เขาหลุดออกจากระบบไปแล้วรอบหนึ่ง แล้วสุดท้ายเหตุการณ์ก็จะเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำ ดังนั้นก่อนที่จะจัดการศึกษานั้นก็ จะต้องรู้พื้นฐานที่สำคัญให้ได้เสียก่อนว่าเด็กหลุดออกไปเพราะอะไร? ความต้องการของเด็กคืออะไร? และผู้ปกครองต้องการการสนับสนุนจากโรงเรียนในเรื่องใดบ้าง? ทั้งนี้ “เพื่อให้เกิดพื้นที่แห่งโอกาส” สำหรับเด็ก ๆ โดยโรงเรียนควรที่จะต้องทำหน้าที่ “หล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจ” และทำให้เด็กนั้นเห็นว่าทางเลือกการศึกษาไม่ได้มีแค่ทางเดียว แต่ยังมีพื้นที่อีกมากมายที่พร้อมให้โอกาส.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน
(กสศ. : ข้อมูล-ภาพ)