ทั้งนี้ วิวาทะร้อนแรงที่เกิดขึ้นรุนแรงถึงขั้นมีการ “กล่าวหา” ว่ากับบางคนที่ออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อ “มีนิสัยขี้โกหก?-มีนิสัยชอบโกหก?” ซึ่งกลายเป็น “วาทกรรมเดือด” จาก “กรณีร้อน” ที่สังคมไทยก็ให้ความสนใจติดตามกันว่า…จะมีบทสรุปลงเอยจริง ๆ อย่างไร? จะลามไปถึงกรณีใด ๆ อีกหรือไม่?… อย่างไรก็ตาม กับภาพรวมทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับเรื่อง “โกหก” นั้น…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลที่น่าสนใจใน “มุมจิตวิทยาสังคม” มาสะท้อนให้ลองพิจารณา…

ในทางวิชาการก็ได้มีการศึกษาเรื่องนี้

นี่เป็น… “หนึ่งในกลไกชีวิตของมนุษย์”

โดยมีคำแนะนำ… “เคล็ดลับจับโกหก??”

เกี่ยวกับเรื่องนี้…ได้มีการอธิบายไว้โดย ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา อาจารย์แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ข้อมูลไว้ผ่านบทความใน www.psy.chula.ac.th โดยมีการตั้งประเด็นคำถามเอาไว้ว่า “การโกหกเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน?” ซึ่งคำตอบของประเด็นนี้ ผศ.ดร.ทิพย์นภา ระบุไว้ว่า… เพื่อจะหาคำตอบ ก็มีนักจิตวิทยาในต่างประเทศให้ผู้เข้าร่วมวิจัยจดบันทึกประจำวันอย่างละเอียดแล้วนำมาวิเคราะห์ โดยพบว่า… คนทั่วไปมักพูดโกหกโดยเฉลี่ยวันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งแสดงว่า…แต่ละวันมีโอกาสไม่น้อยที่คนเราต้องเจอคำโกหก หรือไม่ก็โกหกเสียเอง

แล้ว “เรื่องอะไรที่คนเรามักจะโกหก?” ซึ่งประเด็นนี้จากการศึกษาวิเคราะห์ก็ได้พบว่า… เรื่องที่คนชอบพูดโกหกบ่อยที่สุดได้แก่เรื่องความรู้สึก ความชอบ เจตคติ ความคิดเห็น และ รองลงมาคือการกระทำที่ได้ทำไปแล้ว รวมถึง ความสำเร็จและล้มเหลวของตนเอง…นี่เป็น “หัวข้อที่คนเรามักจะพูดโกหก” จากการศึกษาในทางจิตวิทยา

ส่วน “สาเหตุอะไรที่ทำให้ต้องโกหก?” นั้น… ทางอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ท่านดังกล่าวได้แจกแจงถึงประเด็นนี้ไว้ว่า… เหตุผลของการโกหก” นั้นมีตั้งแต่… เพื่อผลประโยชน์ เพื่อความสะดวกสบายของตัวเอง ไปจนถึง… เพื่อปกปิดการกระทำที่ผิดศีลธรรมจริยธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ และบ่อยครั้งการโกหกก็มีเป้าหมาย เพื่อปกป้องจิตใจตนเองและผู้อื่นจากความเจ็บปวด จากความขัดแย้ง จากความไม่ลงรอยกัน ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่า…โกหก” เป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนที่ทำความผิด แต่ “เกิดได้ในชีวิตประจำวัน”

นี่เป็น “มุมธรรมดาที่ไม่ธรรมดา!!”

แล้วเรา “จะรู้ได้อย่างไรว่าคู่สนทนากำลังโกหก?” กับประเด็นนี้ก็ได้มีการอธิบายไว้ว่า… การ “จับโกหก” นั้นอาจ ดูได้จากสัญญาณพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกมา เช่น “สัญญาณด้านอารมณ์ความรู้สึก” โดยที่การโกหกคือการพูดเรื่องที่ไม่เคยเกิด หรือไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นจริง หรือไม่ตรงกับความจริง ก็จึงย่อมมีร่องรอยอารมณ์ที่ซ่อนไว้รั่วไหลออกมา ผ่านสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติที่ยากจะควบคุมได้ จนทำให้เห็นสัญญาณแสดงออกมา เช่น พูดด้วยเสียงสูงกว่าปกติ พูดเร็วและดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อย และสัญญาณดังกล่าวนี้ จะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อผู้พูดรู้สึกว่ากำลังถูกจับตาอยู่ จะแสดงออกมาผ่านการ… พูดด้วยเสียงต่ำกว่าปกติ พูดช้า มีสีหน้าเศร้า และเหลือบตามองลงต่ำบ่อย ๆ

สำหรับ กรณีมีการพยายามซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง ทาง ผศ.ดร.ทิพย์นภา ชี้ไว้ว่า… กรณีนี้ผู้พูดโกหกจะต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างการแสดงอารมณ์ความรู้สึก 2 อย่าง โดยปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ และมักจะแสดงความรู้สึกแรกที่แท้จริงออกมาในแวบแรกที่เริ่มพูดโกหก ซึ่งถ้าคู่สนทนา มีสีหน้าแวบแรกที่ขัดแย้งกับสีหน้าและคำพูดที่แสดงต่อมา นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า…คนนั้นกำลังปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของเขาไม่ให้คนอื่นรู้?

ทั้งนี้ วิธี “จับโกหก” ยังอาจจะดูจาก “สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางปัญญา” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้พูดจะต้องใช้ความคิดมากกว่าปกติ-มากกว่าเวลาพูดความจริง โดยการโกหกผู้พูดต้องใช้สมองและใช้ความคิดเพื่อจะสร้างเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงขึ้นมา อีกทั้งในขณะที่พูดโกหกยังต้องพยายามควบคุมสีหน้า ท่าทาง เพื่อจะให้ดูสมจริงสมจัง เป็นธรรมชาติ ไม่มีพิรุธ แต่คนที่พูดโกหกก็อาจมีกิริยาท่าทางที่แสดงถึงการต้องใช้ความพยายามทางความคิดมากกว่าปกติ เช่น ตอบคำถามช้ากว่าปกติ ลังเลในการพูด เคลื่อนไหวร่างกายน้อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการ…

เกร็ง “เพราะจดจ่ออยู่กับการแต่งเรื่อง”

และจากลักษณะของเรื่องราวและคำพูด… ด้วย เรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหก นั้น หากผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวมาก่อน เรื่องที่เล่าก็จะ เล่าไม่ค่อยราบรื่น มักมีแต่ข้อมูลพื้น ๆ ไม่มีรายละเอียด ซึ่งเวลาที่ต้องแต่งเรื่องภายในเวลาที่จำกัดคนเรามักสร้างเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้เท่าที่นึกออกในขณะนั้น ไม่สามารถให้รายละเอียดเจาะจงได้ ส่วนกรณีเตรียมตัวโกหกมาดี เรื่องที่เล่าก็จะ ฟังดูเหมือนซ้อม-เหมือนท่องมา ราบรื่นเกินไปจนไม่น่าเชื่อ และการใช้คำพูดเมื่อพูด “โกหก” นั้น เรื่องที่พูดมักจะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกทางลบมากกว่าปกติ เล่าแบบไม่เต็มเสียง มักใช้สรรพนามเรียกตัวเองน้อยกว่าเวลาพูดเรื่องจริง

ในทางจิตวิทยา…มีหลัก “มีวิธีจับโกหก”

แต่… “จับโกหกคนการเมืองก็ไม่ง่ายนะ”

ต่อให้ “สัญญาณโผล่…ก็มักตีหน้าซื่อ!!”.