ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานข่าว ยูเนสโก ได้ประกาศรับรองให้ “เชียงราย-สุพรรณบุรี” เป็น “เมืองสร้างสรรค์” ร่วมกับเมืองอื่นทั่วโลก รวม 55 เมือง โดย… “เชียงราย-เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ“ ขณะที่… “สุพรรณบุรี-เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ซึ่งเรื่องนี้กรณีนี้ก็นับว่าเป็นอีกความสำเร็จของประเทศไทยเรา โดยทั้ง 2 เมืองดังกล่าวก็คงจะคึกคักขึ้นกว่าเดิม และก็น่าจะทำให้หลาย ๆ พื้นที่เกิดการตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในการ…

ยกระดับ” อีกหลาย ๆ เมืองของไทย

เพื่อ “ลุ้นก้าวสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์”

เกี่ยวกับการรับรองให้ “เชียงราย-สุพรรณบุรี” เป็น “เมืองสร้างสรรค์แห่งใหม่” นั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา จากการที่ยูเนสโกประกาศรับรอง 55 เมืองทั่วโลกให้มีฐานะเป็น “เมืองสร้างสรรค์” โดยเชียงรายและสุพรรณบุรีนั้นได้รับการรับรองจากทางยูเนสโกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ใน 2 ด้าน คือเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ส่วนสุพรรณบุรีถูกรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี โดยจะมีการเชิญตัวแทนทั้ง 2 เมืองของไทยให้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (the UNESCO Creative Cities Network 2024) ที่ประเทศโปรตุเกส ในช่วงเดือน ก.ค. 2567 ซึ่งต้องย้ำว่า…

เป็นอีกความสำเร็จของไทยเกี่ยวกับยูเนสโก

โดย “ไทยมีเมืองสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น”

ทั้งนี้ นอกจาก “เชียงราย-สุพรรณบุรี” ซึ่งยูเนสโกประกาศรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์เมื่อเร็ว ๆ นี้… ก่อนหน้านี้ก็มี 5 เมืองของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์ ได้แก่…ปี 2558 “ภูเก็ต-เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร”, ปี 2560 “เชียงใหม่-เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน”, ปี 2562 “กรุงเทพฯ-เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบรวมถึง “สุโขทัย-เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน” และปี 2564 “เพชรบุรี-เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร” โดยจังหวัดหรือเมืองแต่ละแห่งดังที่ระบุมานี้ มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ในด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป

ถามว่า… เป็นเมืองสร้างสรรค์เป็นอย่างไร? และ…มีอะไรจึงจะเข้าข่ายเข้าเกณฑ์ได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์? กับการอธิบายเรื่องนี้ทางยูเนสโกได้มีการให้ “คำจำกัดความ” ไว้ว่า… “เมืองสร้างสรรค์” คือการร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐในการ สร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจ และการ นำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีท้องถิ่น มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำสู่การเป็น “เมืองที่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์”

ส่วน ประเภทเมืองสร้างสรรค์มี 7 ประเภท ได้แก่… 1.เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature) 2.เมืองแห่งภาพยนตร์
(City of Film) 3.เมืองแห่งดนตรี (City of Music) 4.เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Arts) 5.เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) 6.เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media art) 7.เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy) โดย เมืองของประเทศไทยได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์แล้ว 4 ประเภทยังขาด 3 ประเภท นั่นคือ… เมืองแห่งวรรณกรรม เมืองแห่งภาพยนตร์ เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็น่าลุ้น…

ที่ใดจะได้เป็นเมืองสร้างสรรค์อีกบ้าง?…

ต่อไป “ไทยจะได้ครบ 7 ประเภทมั้ย?”

ทั้งนี้ กับ “ที่มา” ของ “แนวคิดเมืองสร้างสรรค์” นี้ มีข้อมูลในเว็บไซต์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สศส.) อธิบายไว้ว่า…เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก หรือ “UCCN” นั้นเกิดจากการที่ทางยูเนสโกต้องการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมผ่านมิติวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีเมืองที่ได้รับการรับรองแล้วเกือบ 300 เมือง ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล ณ ปี 2564) โดย “หัวใจสำคัญ” ของ “เมืองสร้างสรรค์” นั้นจะ เน้นการเป็นเมืองน่าอยู่…มากกว่าเน้นการเป็นเมืองน่าเที่ยว

ขณะที่ข้อมูลของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้มีการระบุถึง “ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นเมืองสร้างสรรค์” ไว้ว่า… มีอาทิ… ช่วยให้เกิดการสนับสนุนการสร้างงาน, ส่งเสริมให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมบนพื้นฐานความหลากหลายทางสังคม, ก่อให้เกิดการเจรจาระหว่างวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน, นำสู่การสร้างโอกาสของเมืองผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เชิงสร้างสรรค์ที่มีอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี “เมืองสร้างสรรค์” ไม่ใช่การปรับปรุง-พัฒนาเมืองเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้อง เป็นการพัฒนาเมืองที่มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมซึ่งเอื้อให้เกิดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การพัฒนาเมืองซึ่งเกิดขึ้นนั้นตอบโจทย์ให้แก่คนท้องถิ่น …เหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจโดยสังเขป

“เป็นเมืองสร้างสรรค์” นั้น “เป็นแล้วดี

และก็ดูจะ “เกี่ยวโยงซอฟต์พาวเวอร์

โดย…”จะดีจริงก็ต้องสร้างสรรค์จริง”.