สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ว่า "ตัวแทนชาวฮ่องกง" จากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ส่วนใหญ่มีจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนแผ่นดินใหญ่ ประมาณ 4,800 คน ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.6% ของประชากรทั้งเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ ซึ่งมีประมาณ 7.5 ล้านคน ใช้สิทธิเมื่อวันอาทิตย์ เพื่อเลือกสมาชิกส่วนหนึ่งเข้าสู่คณะกรรมาธิการ 1,500 คน ซึ่งจะทำหน้าที่เลือกหัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกงคนใหม่ ในเดือน มี.ค.ปีหน้า
ขณะที่ก่อนถีงวันนั้น คณะกรรมาธิการทั้ง 1,500 คน จะทำหน้าที่สรรหาสมาชิก 40 คน จากทั้งหมด 90 ที่นั่ง ในสภานิติบัญญัติ ( เล็กโค ) ในเดือน ธ.ค.นี้ โดยที่เหลืออีก 30 ที่นั่ง จะมาจากกระบวนการคัดสรรพิเศษ หมายความว่าจะมีสมาชิกเล็กโคเพียง 20 คนเท่านั้น มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
SCMP Clips

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจน ว่าจำนวนคณะกรรมาธิการซึ่งจะได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้ มีทั้งหมดกี่คน แต่มีผู้สมัครเพียง 364 คนเท่านั้น เนื่องจาก "โควตาที่เหลือ" เป็นของสมาชิกเดิม และมาจากการคัดเลือกตามสาขาอาชีพร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็น "พื้นฐานสำคัญ" นั่นคือตัวแทนทุกคนทั้งผู้เลือกและผู้ถูกเลือก "ต้องมีจิตวิญญาณของความรักชาติ" ด้านสื่อท้องถิ่นรายงานเพิ่มเติม ว่าบุคคลซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบรรดานายทุน "จะมีบทบาทน้อยลง"
ผู้มีสิทธิลงคะแนนเดินเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งเป็นคูหาเลือกตั้งคณะกรรมาธิการ “ผู้รักชาติ” ซึ่งเป็นกระบวนการแรก หลังการยกเครื่องระบบการเลือกตั้งตามแนวทาง ที่กำหนดโดยสภาแห่งชาติในกรุงปักกิ่ง
สำหรับการเลือกตั้งของฮ่องกงครั้งนี้ เป็นไปมติของสภาประชาชนแห่งชาติ ( เอ็นพีซี ) ในกรุงปักกิ่ง เมื่อช่วงต้นปีนี้ ในการบัญญัติกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1 และมาตรา 2 ของเบสิกลอว์ ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง "เพื่อการปฏิรูปกลไกการเลือกตั้งของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง"  
อย่างไรก็ตาม ก่อนการส่งมอบเกาะฮ่องกงอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว จีนและสหราชอาณาจักรลงนามร่วมกันใน "ปฏิญญาร่วมจีน-บริติช" เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2527 และมีผลอย่างเป็นทางการหลังทั้งสองประเทศร่วมให้สัตยาบันในเดือน พ.ค. 2528 ว่าด้วยการส่งมอบเกาะฮ่องกงจากสหราชอาณาจักร กลับคืนสู่จีนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 ก.ค. 2540 หลังครบสัญญาเช่า 99 ปี และรัฐบาลปักกิ่งจะมอบอธิปไตยให้แก่ฮ่องกง ในฐานะเขตบริหารพิเศษ สามารถมีระบบการเมืองและเศรษฐกิจตามหลักทุนนิยมได้ หรือ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 50 ปี หรือจนถึงปี 2590.

เครดิตภาพ : AP