เยอรมนีกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดทุก 4 ปี ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติชุดที่ 20 จำนวน 709 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ “มีความสำคัญเป็นพิเศษ” และ “เป็นที่น่าจับตาอย่างมาก” โดยเฉพาะในทวีปยุโรป เนื่องจากเยอรมนีจะมีนายกรัฐมนตรี “คนใหม่” เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี เพราะนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ประกาศจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ที่หมายถึงการวางมือทางการเมือง

DW News
DW News

แมร์เคิลมีบทบาทสำคัญทางการเมือง ทั้งในประเทศ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนี สามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่และได้รับความเกรงอกเกรงใจ ในระดับเทียบเท่ากับผู้นำโลกอีกหลายประเทศในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐ ประธานาธิบดีฌัก ชีรัก ผู้นำฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ผู้นำสหราชอาณาจักร

คุกกี้ทำเป็นใบหน้าของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล วางขายที่เบเกอรีแห่งหนึ่ง ในเมืองไวล์บัค ทางตะวันตกของเยอรมนี

ชาวเยอรมันส่วนใหญ่เรียกเธอว่า “แม่” ทั้งจากบุคลิกภาพ และการถ่ายทอดนโยบายในเชิงปฏิบัติ ที่ประชาชนมองว่า ให้ความรู้สึกเหมือน “ครอบครัว” และ “พึ่งพิงและไว้ใจได้เสมอ” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แมร์เคิลปฏิรูปเยอรมนีในแบบพลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยได้รับการขนานนาม “คนป่วยแห่งยุโรป” กลายเป็น มหาอำนาจและเสาหลักทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ถึงขั้นที่ว่า มีหลายเรื่องซึ่งสหภาพยุโรป ( อียู ) ต้องรอให้แมร์เคิล “ขยับก่อน” แล้วความเห็นของเธอจะกลายเป็นพื้นฐานของการอภิปรายเป็นวงกว้าง เพื่อใหได้ฉันทามติสำหรับทั้งอียู

อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กลุ่มคนหนุ่มสาวในเยอรมนีเริ่มมีมุมมองต่อผู้นำหญิงของประเทศแตกต่างออกไป หลายคนมองเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ระหว่างฝั่งตะวันออกกับตะวันตกที่ยังสัมผัสได้อยู่ และวิจารณ์ว่าแมร์เคิลแก้ไขได้ไม่ดี มองว่าเธอยังปฏิรูปการศึกษาได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และการเปลี่ยนแปลงเยอรมนีในภาพรวม เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล

DW News

ในขณะที่เส้นทางการเมืองของแมร์เคิลกำลังจะปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่และเป็นที่จดจำของคนทั้งโลก แต่เส้นทางของการชิงชัยของผู้ที่จะมารับตำแหน่งแทนเธอยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวเยอรมันในเดือนนี้ จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ “ฟรังค์ฟัวร์เทอร์ อัลเกไมเนอ” หนึ่งในสื่อใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศ ปรากฏว่า 40% ของผู้ตอบแแบสอบถามซึ่งล้วนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ยังคงตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด เพิ่มขึ้นจาก 35% ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2560 ส่วนสถิติผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจก่อนวันเลือกตั้งอยู่ที่เพียง 24% เมื่อปี 2556

เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดขึ้นเกี่ยวกับเหตุผลที่ยังตัดสินใจไม่ได้ กลุ่มตัวอย่างของฟรังค์ฟัวร์เทอร์ อัลเกไมเนอ ตอบว่า ยังไม่มีตัวแทนผู้สมัครหมายเลขหนึ่งคนใด “น่าสนใจ” และประชาชนคิดว่า “มีศักยภาพเพียงพอ” นอกจากนี้ สถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง และกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งยังไม่มีความมั่นใจ ว่าพรรคการเมืองที่ตัวเองเลือกจะมีบทบาทอย่างไร ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล หรือแม้แต่การรวมตัวเป็นพันธมิตรฝ่ายค้าน

บิลบอร์ดหาเสียงของสองผู้สมัครตัวเก็งเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนใหม่ คือนายอาร์มิน ลาเชต ( คนซ้าย ) และนายโอลาฟ โชลซ์ ( คนขวา )

ทั้งนี้ ตัวแทนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี ( ซีดียู ) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน ( ซีเอสยู ) คือนายอาร์มิน ลาเชต ซึ่งถือเป็นทายาทการเมืองของแมร์เคิล ขณะที่ตัวแทนพรรคสังคมประชาธิปไตย ( เอสพีดี ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่อันดับ 2 และเป็นพรคร่วม “รัฐบาลผสมใหญ่” ชุดปัจจุบันกับพรรคซีดียู/ซีเอสยู คือนายโอลาฟ โชลซ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง ทั้งคู่มีคะแนนนิยมสูสีคู่คี่กันมาตลอด ตามผลการสำรวจความคิดเห็นของทุกโพล โดยผลสำรวจล่าสุดของสถานีโทรทัศน์อาร์ทีแอล ให้โชลซ์มีคะแนนนำเหนือลาเชต ที่ 25% ต่อ 21%

หากวัดจากเพียงเท่านี้ หมายความว่า โชลซ์มีโอกาสมากกว่า ในการคว้าชัยชนะและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโอกาสของลาเชตจะสูญสิ้นไปเลยเสียทีเดียว เพราะหากแม้เข้าเส้นชัยเป็นที่สอง แต่สามารถเจรจาตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กได้ก่อน โดยเฉพาะกับพรรคที่เป็นตัวแปรของการเลือกตั้งแห่งชาติทุกครั้งในระยะหลัง คือพรรคประชาธิปไตยเสรี ( เอฟดีพี ) พันธมิตรพรรคซีดียู/ซีเอสยู ก็ยังสามารถครองสถิติการเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลได้ต่อไปเช่นกัน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AP, REUTERS