“ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจะไม่มีที่ยืนในสังคม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ให้ความสำคัญเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนต่อโลก ไม่ใช่เพียงการแสวงหาความสุขอย่างเดียวอีกต่อไป ดังนั้นธุรกิจด้านการท่องเที่ยว จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพื่อที่จะมีจุดยืนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และทำให้การท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้และสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฉายภาพถึงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกับความยั่งยืน

“ฐาปนีย์” ขยายความว่า หนึ่งในหัวใจสำคัญที่เราต้องสร้าง ‘‘ความมั่นคงทางการท่องเที่ยว” ด้วยการเสริมความแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานบนพื้นฐานของคุณภาพและความยั่งยืน เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการยกระดับประเทศครอบคลุมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสันติภาพด้วย ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงสันติภาพ เราให้ความสำคัญทั้งด้านความยั่งยืน และสันติภาพไปพร้อมกัน เพื่อให้ความสุขอย่างยั่งยืนในการท่องเที่ยว

เพราะฉะนั้นภายใต้การยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ทั้งองคาพยพสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงได้นำเรื่องความยั่งยืนมา
ไว้ 1 ใน 4 กลยุทธ์สำคัญ คือ S : Sustainably Now สร้างความเข้าใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงเป้าหมายความยั่งยืนให้เป็นรูปธรรม ซึ่ง ททท. ได้วางเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals : STGs) 17 เป้าหมาย ต่อยอดจากเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืน Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) ให้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวมีมาตรฐานในการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต เป็นการต่อยอดจากโครงการ SHA

สำหรับผู้ประกอบการที่มีการประเมิน 17 เป้าหมายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับประกาศนียบัตร “ดาวแห่งความยั่งยืน” มีอายุคราวละ 2 ปี โดยมีหลักเกณฑ์การประเมินดาวแบ่งเป็น 3 ระดับ โดยผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติได้ 3 ใน 17 ข้อของเป้าหมาย STG เช่น ลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง การคำนึงถึงความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว และการร่วมมือหลายภาคส่วน จะได้รับเครื่องหมาย STAR 3 และผู้ประกอบการรายใดต้องการเครื่องหมาย STAR 4 จะต้องทำให้ได้อีก 6 เป้าหมาย รวมเป็น 9 เป้าหมาย

ส่วนรายใดที่ต้องการ STAR 5 ต้องทำให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 เป้าหมาย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับเครื่องหมาย STAR แล้วจำนวน 179 แห่งแบ่งเป็นประเภท 5 ดาว 132 แห่ง 4 ดาว 17 แห่ง และ 3 ดาว 30 แห่ง ททท.คาดหวังให้ในปี 68 จะมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวได้รับดาวไม่ตํ่ากว่า 80% ของผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการไม่เข้าร่วมต่อไปจะไม่ได้รับการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ ททท. เพราะต้องการขับเคลื่อนนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นที่ ททท.ดำเนินการเพื่อเร่งยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการให้ขับเคลื่อนไปสู่การสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น โครงการ CF.Hotels สำหรับธุรกิจโรงแรมที่มีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีกิจกรรม
ต่าง ๆ ในการลดผลกระทบก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของโรงแรม, รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (รางวัลกินรี)
ที่ได้เพิ่มรางวัลประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนตํ่าเพื่อความยั่งยืน ให้กับแหล่งท่องเที่ยว ที่พักนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รายการนำเที่ยว หรือสถานประกอบการอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการจัดการคาร์บอนตํ่าอย่างเป็นรูปธรรม ใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ฐาปนีย์” ยังได้ระบุถึงแนวคิด “ปรับ-ลด-ชดเชย” เป็นกระบวนการสำคัญที่ ททท. นำมาพัฒนาธุรกิจและกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนให้กิจกรรมท่องเที่ยวแบบปกติของธุรกิจเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวแบบคาร์บอนตํ่า และพัฒนาไปสู่การเป็นต้นแบบธุรกิจท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ คือ “ปรับ” พัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนตํ่าสู่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ “ลด” ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบเข้มข้น และ “ชดเชย” ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยคาร์บอนเครดิตซึ่งได้มาจากกิจกรรมฟื้นฟู สร้างแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้เท่ากับศูนย์ เสมือนไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ ททท. ได้คัดสรร 5 แหล่งท่องเที่ยว จาก 3 ประเภทธุรกิจ คือ ชุมชน ฟาร์มสเตย์ และสมาร์ทฟาร์ม เพื่อนำเสนอเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ประกอบด้วย ชุมชนถํ้าเสือจ.เพชรบุรี ชุมชนริมคลองโฮมสเตย์ จ.สมุทรสงคราม ฟาร์มสเตย์ไร่ใจยิม จ.กาญจนบุรี ฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง จ.นครราชสีมา และสวนส้มโอไทยทวี จ.นครปฐม

ขณะเดียวกันได้ร่วมกับพันธมิตรองค์กรต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนต้นแบบ STGs STAR เช่น ล่าสุดร่วมกับ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือเอดับบลิวซี และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำโครงการ “AWC Stay to Sustain” เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจาก AWC มีพอร์ตโรงแรมที่หลากหลายทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองหลักทั่วประเทศได้ตั้งเป้าสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ในแต่ละปีประมาณ 500,000 ต้น รวมกว่า 5,000 ไร่ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการเข้าพัก 1 คืน ร่วมดูแลต้นไม้ 1 ต้น จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ราว 9-15 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี.