พบปี 65 นักลงทุนบุคคลกว่า 7 แสนคน สัดส่วน 79% ของกลุ่มตัวอย่าง ซื้อขายหุ้นยั่งยืนอย่างน้อย 1 บริษัท และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูงถึงวันละ 14,245 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนบุคคลทั้งหมด รวมถึงนักลงทุนสถาบันทั่วโลกมีการลงทุนในความยั่งยืนมากขึ้น

 ‘ศรพล ตุลยะเสถียร’ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ตลท. ได้เปลี่ยนชื่อเดิมจาก ‘หุ้นยั่งยืน THSI’ (Thailand Sustainability Investment) เป็น ‘หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings’ พร้อมทั้งประกาศผลการประเมินในรูปแบบรายชื่อบริษัทจดทะเบียนและระดับ SET ESG Ratings เป็นปีแรก ต่างจากเดิมที่ประกาศผลเป็นรายชื่อบริษัทจดทะเบียนเท่านั้นซึ่งจะเริ่มใช้ชื่อ SETESG Index เริ่มใช้และเผยแพร่บนเว็บไซต์พร้อมกับประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2566 ในวันที่ 6 พ.ย. 66

โดย SET ESG Ratings คือ ผลการประเมินหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำขึ้น โดยประเมินจากข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ของบริษัทจดทะเบียน

สำหรับ SET ESG Ratings แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ BBB, A, AA และ AAA ตามผลคะแนนรวมจากการประเมิน ดังนี้ 1) 90-100 คะแนน ได้รับ Ratings ระดับ ‘AAA’ 2) 80-89 คะแนน ได้รับ Ratings ระดับ ‘AA’ 3) 65-79 คะแนน ได้รับ Ratings ระดับ ‘A’ 4) 50-64 คะแนน ได้รับ Ratings ระดับ ‘BBB’

บริษัทที่จะได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ต้องผ่านเกณฑ์2 ด้าน ได้แก่  1) เกณฑ์คะแนนการประเมินความยั่งยืน บริษัทต้องมีคะแนนจากการตอบแบบประเมินตั้งแต่ 50% ของคะแนนเต็มในแต่ละมิติเศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล,สิ่งแวดล้อม และสังคม มีการถ่วงหนักของคะแนนตามประเด็นที่เป็นสาระสำคัญตามกลุ่มอุตสาหกรรมในแต่ละมิติ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะถูกคำนวณนํ้าหนักเพิ่มขึ้นในหมวดที่เกี่ยวข้องกับมิติสิ่งแวดล้อม

2) เกณฑ์ด้านคุณสมบัติ บริษัทจะต้องผ่านคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น ผลการประเมินคุณภาพการรายงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Reporting หรือ CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น ผลการกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน การไม่ถูกลงโทษในประเด็นด้าน ESG การเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เป็นต้น

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะติดตามบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ตลอดกระบวนการ หากบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคัดชื่อบริษัทออกจากผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings

 สำหรับความแตกต่างระหว่าง SET ESG Ratings และ Credit Ratings นั้นสำหรับ SET ESG Ratings เป็นการประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG เท่านั้น และนำมาจัดระดับ Rating ตามคะแนนรวมของบริษัท ไม่ใช่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้น ดังนั้น ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้งาน SET ESG Ratings ยังต้องพิจารณาข้อมูลด้านการเงินและข้อมูลอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยทุกครั้ง

ส่วน Credit Ratings คือ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีอยู่ 2 แบบหลัก คือ 1.การจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสะท้อนความแข็งแกร่งขององค์กรโดยดูจากฐานะการเงินและ ความเสี่ยงของธุรกิจร่วมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ

2. การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้.