และผู้ที่มีบทบาทสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ก็คือ องค์กรธุรกิจหรือภาคเอกชนที่หากสามารถดำเนินกิจการให้สอดคล้องและผลักดันไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมีความยั่งยืนสามารถดึงดูดเงินลงทุนและสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจได้มากขึ้น

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้ร่วมมือกันจัดทำ SDG Guidebook for Thai Listed Companies หรือ “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG” เพื่อเป็นแนวทางให้แก่บริษัทจดทะเบียนในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ในการปฏิบัติงานและวัดผลด้วย SDG Impact Measurement and Management หรือ IMM ที่พัฒนาขึ้นตามกรอบของ SDG Impact Standards ซึ่งจะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งสามารถวัดผลและเปิดเผยข้อมูลผลสำเร็จของงานดังกล่าวในรายงานประจำปี 56-1 One Report ได้

โดยที่ SDG Impact Standards คือ เครื่องมือที่เป็นแนวทางปฏิบัติแบบสมัครใจที่จะช่วยเหลือภาคธุรกิจและนักลงทุนในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้ในการบริหารและการตัดสินใจที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำรวจกลุ่มองค์กรต่าง ๆ อาทิ องค์กรบริษัท กองทุน ผู้ออกตราสารหนี้ และ OECD-UNDP Impact Standards สำหรับระดมทุนเพื่อการพัฒนา โดยมาตรฐานเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้มีความมั่นใจในการพัฒนาตัดสินใจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ สามารถจัดการความเสี่ยงและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้

ทั้งนี้ SDG Guidebook และ SDG Impact Standards จึงเป็นคู่มือและแนวทางปฏิบัติแบบสมัครใจที่เป็นประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุนรวมทั้งผู้กำกับดูแล โดยช่วยสร้างมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่การเติบโตของธุรกิจและส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“อภิญญา สิระนาท” Head of Expioration โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) บอกว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนตื่นตัวในการนำความยั่งยืนเข้ามาดำเนินธุรกิจ หลายบริษัมมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ด้านภาคเอกชนอย่าง ก.ล.ต. ได้ประกาศกฎ 56-1 One Report ออกมา และมีการนำมิติด้านความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดเผยข้อมูล

ส่งผลให้ UNDP ได้เห็นถึงความสำคัญจึงเข้ามาช่วย ก.ล.ต. ออกคู่มือ SDG Guidebook เพื่อ บริษัทจะได้มีการเปิดเผยข้อมูลในมิติของความยั่งยืน ให้เป็นมาตรฐานสากล โดยมีจุดประสงค์หลัก 2 ประการ คือ 1.เป็นเหมือนไบเบิ้ลให้แก่ภาคเอกชนที่สนใจดำเนินธุรกิจให้ตอบโจทย์ SDG ในเรื่องของความยั่งยืนเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ และ 2.การวัดและการประเมินผล

อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG นั้นประกอบด้วย 17 ประการ คือ  1. ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ 2. ยุติความหิวโหยบรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 3. สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย 4. สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 5. บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง

เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีนํ้าดื่ม และสุขอนามัยสำหรับทุกคน และมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน 7. สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา 8. ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุมและยั่งยืน จ้างงานเต็มที่ 9. สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความอดทน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม 10. ลดความไม่เสมอภาคในประเทศและระหว่างประเทศ เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุมปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน 12. สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

13. ปฏิบัติการเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น 14. อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน 15. ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน 16. ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และ 17. เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับโลก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายทั้ง 17 ประการล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ที่เล็งเห็นว่าการกำจัดความยากจน และความขาดแคลนอื่น ๆ จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและการศึกษา ลดความเหลื่อมลํ้าและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและอนุรักษ์มหาสมุทรและพื้นป่าด้วย.