ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวนี้ดูจะต้องฝ่าหล่มหลุมสารพัด ขณะที่มีคนไทยจำนวนไม่ใช่น้อยที่ลุ้นให้นโยบายนี้คลอดได้สำเร็จ ซึ่งท่ามกลางคลื่นลมที่นโยบายนี้ต้องเผชิญ…หากคลอดออกมาได้แล้ว…เอาเข้าจริง “จะแจกทั่วถึงแค่ไหน?” และ “จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้แค่ไหน?” ก็ต้องรอดูกัน อย่างไรก็ตาม…

กับ “เงินให้เปล่า” กับนโยบายเช่นนี้…

ก็มีทั้ง “ปุจฉา-วิสัชนา” ที่ “น่าพินิจ??”

เกี่ยวกับนโยบายกรณี “เงินให้เปล่า” ในภาพรวม ๆ นั้น…วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ จากการให้ข้อมูลสู่สาธารณะผ่านบทความไว้โดย ดร.พิทวัส พูนผลกุล สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเผยแพร่ไว้เมื่อ 26 ต.ค. 2566 ผ่านทาง www.pier.or.th ในชื่อบทความ “เศรษฐศาสตร์ “เงินให้เปล่า” : หลากมิติที่ต้องคิดให้กระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยได้ระบุถึง “นโยบายเงินให้เปล่า (cash transfers)” ไว้ โดยสังเขปมีว่า… ในทางเศรษฐศาสตร์ ทางทฤษฎี นโยบายลักษณะนี้ถือเป็นเครื่องมือกระจายรายได้ จากคนรวยสู่คนจนในรุ่นเดียวกัน โดย จัดเก็บภาษีเพิ่มเพื่อไม่ให้สร้างภาระการคลัง ส่วน จะกระจายรายได้ได้แค่ไหนเพียงใด? ขึ้นกับรัฐเก็บภาษีใครและนำเงินไปให้ใคร?

ดร.พิทวัส ระบุเกี่ยวกับ“นโยบายเงินให้เปล่า” ไว้ต่อไปว่า… การออกแบบนโยบายเงินให้เปล่าเช่นนี้ สำหรับในประเทศกำลังพัฒนานั้นมีความท้าทายอยู่หลายมิติ เพราะบริบทของประเทศกำลังพัฒนานั้นรัฐมักจัดเก็บภาษีได้ค่อนข้างต่ำ และมักจะไม่มีข้อมูลรายได้กับทรัพย์สินของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น ในบทความดังกล่าวนี้จึงเน้นการวิเคราะห์ที่เป็นการ ชั่งน้ำหนักระหว่าง “ปัจจัยต่าง ๆ” ที่จะต้องคำนึงถึง เมื่อจำเป็นจะต้องออกแบบนโยบายเงินให้เปล่าเช่นนี้ ไม่ว่าจะเรื่อง การเก็บภาษีกับการบิดเบือนแรงจูงใจ, การให้เงินแบบถ้วนหน้าหรือแบบคัดกรอง, การตกหล่นและรั่วไหล ในขณะที่มีงบประมาณอยู่อย่างจำกัด และรวมถึง“กลไกที่ใช้คัดกรองผู้ที่จะได้รับเงิน” ที่ประเทศกำลังพัฒนา…

มักจะ “มีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์??”

นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรูปแบบนี้ไว้เพิ่มเติมว่า…“นโยบายเงินให้เปล่า” เป็นหนึ่งในนโยบายที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ที่มีเป้าหมายคือ เพื่อลดความยากจนเฉพาะหน้า ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศรายได้ต่ำและประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่นำนโยบายแบบนี้มาใช้ ด้วยการ มอบเงินให้เปล่าให้กับครอบครัวที่ยากจน ภายใต้กลไกของเงินให้เปล่า คือ… การจัดสรรปันส่วนทรัพยากรในเศรษฐกิจใหม่โดยภาครัฐ หรือกล่าวง่าย ๆ ได้ว่า…เป็นการนำเงินจากคนรวยไปให้คนจน เพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคม และ เพื่อช่วยลดความยากจนของประเทศในภาพรวม

สำหรับ“ข้อดีเงินให้เปล่า” นั้น ก็ได้มีการระบุไว้ว่า… นโยบายรูปแบบนี้ มีจุดเด่นคือ..การให้ผลที่รวดเร็ว ดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพในการลดความยากจนเฉพาะหน้า อย่างไรก็ตาม การที่จะออกแบบนโยบายให้มีรายละเอียดและเหมาะสมนั้น ก็ “มีความท้าทายหลายด้านที่รัฐต้องคิดอย่างรอบคอบ” โดยเฉพาะภายใต้บริบทกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา…ซึ่งนี่ก็ “รวมถึงประเทศไทย” ด้วย โดยประเทศกลุ่มนี้มักจะมีอุปสรรคจากการมีข้อมูลรายได้ที่ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งรัฐยังจัดเก็บภาษีได้ต่ำ

แล้ว…“เงินให้เปล่าควรมาจากไหน??”

ประเด็นนี้ในบทความบทวิเคราะห์โดย ดร.พิทวัส ก็ได้แจกแจงไว้ว่า… ในทางทฤษฎี “นโยบายเงินให้เปล่า” ถือเป็น “นโยบายกระจายรายได้” คือ “รัฐนำเงินจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง” ในปีเดียวกัน โดย “ออกแบบการให้เงินควบคู่ไปกับการเก็บภาษีเพิ่ม” เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ตามที่รัฐต้องการ ซึ่งหากเป็นไปตามหลักการแบบนี้ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อดุลการคลังหรือหนี้สาธารณะของภาครัฐ เพราะรัฐเพียงแค่ทำบทบาทในการโยกย้ายรายได้จากคนรวยไปให้คนจนเพื่อสร้างความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน โดยยัง คำนึงถึงประสิทธิภาพเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงวินัยทางการคลัง

แล้ว…“จะเกิดอะไรถ้ารัฐใช้นโยบายเงินให้เปล่าโดยไม่เก็บภาษีเพิ่มหรือไม่หารายได้เพิ่ม?”กรณีนี้ในบทความดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า… เมื่อมองจากมุมมองระหว่างรุ่น นโยบายการคลังจะมีลักษณะของ เกมผลรวมศูนย์ (zero-sum game) คือเมื่อมีคนรุ่นหนึ่งได้ประโยชน์ ก็จะมีคนอีกรุ่นหนึ่งเสียประโยชน์ โดยหาก “นิยามภาษีสุทธิ” คือภาษีที่รัฐเก็บได้ หักด้วยเงินให้เปล่าที่รัฐจ่ายออกไป เมื่อมีการให้เงินให้เปล่ามากกว่าภาษีที่รัฐเก็บจากคนในปัจจุบัน ก็จะส่งผลทำให้รัฐจะต้องเก็บภาษีจากคนรุ่นหลังเพิ่มขึ้นกว่าเงินให้เปล่าโดยอัตโนมัติ …เป็นคำอธิบายโดยสังเขปถึง “ผลจากเงินให้เปล่า” ในกรณีนี้

ทั้งนี้ ดร.พิทวัส พูนผลกุล ได้ย้ำไว้ในบทความนี้ว่า… “นโยบายเงินให้เปล่า” ถือเป็น “ความท้าทายของประเทศกำลังพัฒนา” โดยเฉพาะเงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้า ยิ่งถ้าภาครัฐยังขาดข้อมูลรายได้ที่รอบด้าน ก็อาจไม่เกิดการกระจายรายได้ในแบบที่รัฐต้องการ ซึ่งด้วยประเทศกำลังพัฒนามักมีฐานภาษีเงินได้ที่แคบ ทำให้งบประมาณประเทศมีค่อนข้างน้อย และด้วยข้อจำกัดนี้ “การใช้เงินจากภาษีการบริโภค” นั้น “อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า” …นี่เป็นอีกส่วนจากบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ

ว่าด้วยเรื่อง “นโยบายแจกเงินให้เปล่า”

ที่ก็ “มีเศรษฐศาสตร์-มีทฤษฎีรองรับ”

แต่…“ที่ไทยจะทำก็ยังไม่รู้จะยังไง??”.