หากจะพูดว่าตอนนี้เป็นขาขึ้นของวงการภาพยนตร์ไทยคงไม่ผิดนัก เพราะนอกจากปีนี้จะมีหนังไทยเรียงคิวเข้าฉายแบบคึกคักแล้ว ยังมีหนังไทยที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ เรียกเสียงชื่นชมกระหึ่ม อย่าง “สัปเหร่อ” ภาพยนตร์จากจักรวาลไทบ้าน แนวสยองขวัญ ดราม่า คอเมดี้ ผลงานของผู้กำกับมากฝีมือ  ต้องเต –  ธิติ ศรีนวล ที่นอกจากจะกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลแล้ว เรื่องรายได้ก็ยังโชว์ฟอร์มดี สามารถทำเงินได้ 100 ล้านบาท  หลังเข้าฉายเพียง 6 วัน  และเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4  ก็กวาดรายได้ทะลุ 600 ล้านบาท  ขึ้นแท่นหนังไทยที่ทำรายได้มากที่สุดในรอบ 10 ปี  

แถมล่าสุด นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำคณะรัฐมนตรี พร้อม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ยังเหมาโรงชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย

โดยหลังจากที่ได้ดู นาย เศรษฐา  ก็ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวชื่นชมตัวหนัง ใจความว่า “สัปเหร่อ  คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสานผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการที่ผู้กำกับ และทีมงานภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง ควรค่าแก่การสนับสนุนครับ   รัฐบาลเราสนับสนุน Soft Power ทุกมิติ ด้านภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เราพร้อมที่จะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยพาวัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลกเป็น ‘จุดขาย’ ไปสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และความชื่นชอบให้กับประเทศไทยสุดท้ายนี้ หนังบอกเราให้มองเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ทำทุกอย่างให้เต็มที่ และดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุดครับ”

สำหรับ “สัปเหร่อ” นั้นเป็นเรื่องราวของพี่น้องชาวอีสาน ที่เล่าเรื่องราวแบบบ้าน ๆ ด้วย Message ที่เป็นแข็งแรงและสากล อย่าง “ความตายและความรัก” การจากลา การตัดใจ การเรียนรู้เพื่อก้าวต่อไป ผ่านพิธีกรรมท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอีสาน อีกทั้งคุณค่าและความสำคัญของอาชีพสัปเหร่อ ที่สำคัญตัวหนังยังพูดเป็นภาษาอีสานทั้งเรื่อง ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาวอีสานอันเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างน่าภูมิใจ  และด้วยทุนสร้างเพียง 10 ล้านบาท ทางทีมผู้สร้างยังสามารถสร้างกระแสได้มากขนาดนี้ หากได้รัฐบาลสนับสนุนพา “สัปเหร่อ” ไปยังสายตาชาวโลกได้ ก็น่าจะเป็นมูฟเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ของวงการหนังไทย ดีไม่ดีอาจทำให้หลายคน อยากเรียนรู้ภาษาถิ่น อย่าง ภาษาอีสานก็เป็นได้

ส่วนในมุม ต้องเต ได้เปิดใจผ่านรายการดังทางยูทูบช่อง Dailynews LIVE-TH ในรายการ Daily POP ถึงการมองว่า “สัปเหร่อ” ในมิติมากกว่าจะเป็น  Soft Power คือทำให้ภาครัฐได้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยว่า “ส่วนเรื่องเป็น Soft Power ที่รัฐบาลและคนสนใจผลักดัน ผมแทบไม่รู้จักคำว่า Soft Power เลยจริงๆ คือมันแค่มีทุนเดิมจากจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์อยู่ แล้วเรามาสานต่อ ได้ปลูกฝังเกี่ยวกับคนที่เล่าเรื่องแบบนี้ พอรัฐบาลมองเห็นกับเรา เรารู้สึกคือไม่ได้ภูมิใจแค่หนัง แต่รู้สึกว่ามีรัฐบาลที่มองเห็นแล้วว่ามันจะไปต่อ แล้วตรงนี้เขาสามารถผลักดัน ซัพพอร์ตตรงนี้ให้ไปต่อได้ หรือสนับสนุนวงการภาพยนตร์ให้ไปต่อได้ เลยรู้สึกว่าเราเป็นค่ายหนังเล็กๆ ที่สร้างปรากฏการณ์หรือกระแสให้รัฐบาลมองเห็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์”

นอกจาก “สัปเหร่อ” แล้ว อีกหนึ่งหนังไทยที่กำลังทำผลงานอย่างโดดเด่นก็คือ “ธี่หยด”  ภาพยนตร์เขย่าขวัญ จากตำนานเรื่องเล่าสุดหลอนในกระทู้พันทิป ที่แฟน ๆ ต่างรอคอย ซึ่งโชว์ฟอร์มได้สมศักดิ์เช่นกัน โดยเข้าฉายในวันแรกก็ทุบสถิติเปิดตัวทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของปี 66 ด้วยรายได้ทั่วประเทศ 39 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ฉายในระบบ IMAX ก็มีสถิติเปิดตัวสูงสุดของ IMAX Thailand ในปีนี้ เมื่อมีผู้ชมซื้อตั๋วมากกว่า 10,000 คน และตอนนี้ยังคงหลอนแรงไม่หยุด กวาดรายได้ทะยานสู่ 200 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยไปอีกเรื่องแล้ว! เรียกว่าประสบความสำเร็จตามมาติด ๆ

ทั้งนี้การที่ภาครัฐสนใจภาพยนตร์ไทยและอยากสนับสนุนนั้นถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่หากสามารถทำมากกว่าการเหมาโรงภาพยนตร์เพื่อรับชมได้ ลงทุนกับอุตสาหกรรมหนังไทยให้มากกว่านี้ ก็เชื่อว่าจะทำให้คนทำหนังไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่จะมีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ  โดยเฉพาะการผลักดันหนังไทย เป็น Soft Power เข้าสู้บนเวทีโลก ประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงอัตลักษณ์ และความน่าสนใจในแบบไทย ๆ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวภาพยนตร์  ก็น่าจะดึงเงินนักท่องเที่ยวมาสู่เมืองไทยไม่น้อย

โดยในปีนี้ยังคงมีหนังไทยที่กำลังฉาย หรือจ่อคิวลงโรงหนังอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “14 อีกครั้ง (I Love You Two Thousand)” ภาพยนตร์โรแมนติก-คอเมดี้ ที่พาย้อนคิดถึงความทรงจำสมัยยุค Y2K กับเรื่องราวของรักครั้งแรกช่วงวัยรุ่นวัย 14 ปี ที่ยากจะลืมเลือน มาพร้อมโลเคชั่นที่สวยงามใน จ.จันทบุรี เป็นสถานที่หลักของการถ่ายทำ

โดยทาง ททท. จันทบุรี ได้ปล่อย “7 พิกัด ตามรอยหนัง” ได้แก่ ลาดน้ำพุ จุดขึ้นรถแท็กซี่ จันท์ – ขลุง , สวนผลไม้จันทบุรี , เมืองขลุง , น้ำตกตรอกนอง , สะพานปลาด่านขลุง , ต้นยางนา ถนนสุขุมวิทสายเก่า และ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อีกทั้งยังเปิดเมนูตามรอยหนังเรื่อง โดยระบุว่า จันทบุรี ขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารการกิน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และมีอัตลักษณ์เฉพาะ สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความหลากหลายของเชื้อชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ทั้งทะเล ภูเขา รวมไปถึงพืชสมุนไพรท้องถิ่น .ก่อนแจกเมนูอร่อย ทั้ง ปาท่องโก๋ น้ำจิ้ม ที่เมืองจันท์แตกต่างไม่เหมือนใคร เพราะทานคู่กับน้ำจิ้มที่มีรสหวานอ่อน ๆ อมเปรี้ยวนิด ๆ รวมถึง ข้าวมันไก่ น้ำพริกเผา , แกงหมูชะมวง เมนูขึ้นชื่อของจังหวัด , น้ำพริกเกลือ หรือ น้ำจิ้มซีฟู๊ด , ทะเลรวมลวก และ แกงส้มไข่ปลาเรียวเซียว เป็นต้น

ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีแต่หากได้งบจากทางภาครัฐในการสนับสนุน ทั้งการประชาสัมพันธ์ตัวหนังและแหล่งท่องเที่ยวให้ดังมากขึ้นอีก และไปไกลกว่าแค่ในเพจเฟสบุ๊ค “ททท.สำนักงานจันทบุรี” โดยเฉพาะในหมู่ชาวต่างชาติ  ก็น่าจะทำให้การท่องเที่ยวในตัวจังหวัดจันทบุรีคึกคักขึ้นไม่น้อย

รวมทั้งยังมี “นักรบมนตรา : ตำนานแปดดวงจันทร์”  ภาพยนตร์แอนิเมชันแนวไซไฟ แอคชั่น แฟนตาซี ที่นาน ๆ จะมีให้เห็นทีในโรงภาพยนตร์ ผลงานจาก “RiFF Studio” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีเรื่องดัง “รามเกียรติ์” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทย อีกทั้งยังมีความผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตไทยแต่โบราณกาล โดยนำมาเล่าเรื่องแบบร่วมสมัยและเป็นสากล อย่างการทำสงครามระดับจักรวาล ผสานความเชื่อทางวรรณกรรม เข้ากับความไฮเทคสุดล้ำ แปลงร่างเป็นหุ่นยนตร์  ปล่อยพลังโบ้มบ้าม เรียกว่านอกจากสะท้อนวัฒนธรรมทางวรรณกรรมของไทยแบบย่อยง่ายแล้ว  ยังเป็นพิสูจน์ให้เห็นถึงฝีมือคนทำหนังในการสร้างสรรค์งานอนิเมชั่นของคนไทย ที่ไม่แพ้ชาติไหนเช่นกัน

หรือจะเป็น “มนต์รักนักพากย์” ผลงาน อุ๋ย – นนทรีย์ นิมิบุตร ที่ฉายทาง “Netflix” ภาพยนตร์ที่พาแฟน ๆ ไปสัมผัสมนต์เสน่ห์ของนักพากย์ไทยช่วงปี 1970 ยุคของฟิล์ม 16 มม. ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไทย มาเปิดมุมมองให้ทุกคนได้เห็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่คู่เมืองไทยมาช้านาน อย่าง “นักพากย์” ซึ่งสร้างความสุขให้คนไทยมานับแต่สมัยเป็นหนังกลางแปลง เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดูหนังในโรงภาพยนตร์ ไปจนถึงการฉายผ่านสตรีมมิ่ง ที่อาชีพนักพากย์ ให้เสียงภาษาไทย ยังคงมีบทบาทสำคัญในวงการภาพยนตร์  

แถมในหนังยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือแม้แต่บรรยากาศสนุก ๆ ของงานวัด ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งงานรื่นเริงสุดไอคอนิกของเมืองไทย  และหากประชาสัมพันธ์ดี ๆ ให้ได้เห็นถึงเสน่ห์ของนักพากย์ไทย ก็อาจทำให้คนต่างชาติอยากเดินทางชมหนังกลางแปลงที่เมืองไทย

หรืออาจทำให้เทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ที่ทาง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และ สมาคมหนังกลางแปลงแห่งประเทศไทย กำลังจัดอยู่นั้น กลายเป็นอีกหนึ่งเทศกาลหรือจุดแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองไทย ที่คนทั่วโลกอยากมาดูกับตาก็เป็นได้

นอกจากนี้ยังมี “เพื่อน(ไม่)สนิท” หนังแนว  Coming of age ที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยในการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Oscars ครั้งที่ 96” สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม  , “อยากตาย อย่าตาย (มรณา คาเฟ่)” หนังโรแมนติก  ดราม่า  แฟนตาซี   , “ของแขก” หนังสยองขวัญ

รวมถึงหนังไทยที่จ่อฉายลงโรงภาพยนตร์ตลอดปีนี้ ทั้ง “Red Life” หนังดราม่า ระทึกขวัญ , “มนต์ดำสั่งตาย” หนังสยองขวัญ , “สลิธ โปรเจกต์ ล่า” หนังแอคชั่น โรแมนติก ที่นำเสนอโลกในยุคดิสโทเปีย (Dystopia) , “4KINGS 2” ภาคต่อหนังไทยที่เคยสร้างปรากฏการณ์ โดยจะสานต่อเรื่องราวของนักเรียนอาชีวะยุค 90 ซึ่งถือเป็น Sub Culture (วัฒนธรรมย่อย) ของสังคมไทย และ “นาค เรื่องเล่าจากชาวบ้าน” หนังที่สะท้อนความเชื่อและศรัทธาที่อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนาน  อย่าง พญานาค อีกทั้งยังมีประเพณีและวัฒนธรรม รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยว วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม จิตกรรม ที่เกี่ยวโยงกับพญานาคอีกมากมาย หากได้รับการสนับสนุนดี ๆ อาจดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชม ซื้อของที่ระลึก ดึงเม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ในแง่ของธุรกิจและการสร้างหนัง หากได้รับการซัพพอร์ทอย่างเต็มรูปแบบจากทางรัฐ กระตุ้นให้คนอยากดูหนังไทย ก็จะช่วยปลุกธุรกิจนี้ให้กลับมาเฟื่องฟู เกิดการจ้างงานตั้งแต่เบื้องหน้า ไปจนถึงเบื้องหลัง ยันผู้ประกอบการโรงหนัง ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงรอคอยการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมจากทางรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การช่วยในเรื่องของลงโรงฉาย ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์สู่สายตาชาวโลก เป็นต้น

เมื่อปรากฏการณ์ “สัปเหร่อ” เป็นเหมือนประตูที่เปิดให้หน่วยงานรัฐมองเห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมันไปได้ไกล และมีศักยภาพพอที่จะนำมาใช้เป็น Soft Power  สร้างชื่อเสียงให้เมืองไทยได้ ก็อย่าปล่อยให้กระแสของหนังไทยครั้งนี้ผ่านพ้นไปอย่างไร้ความหมาย แต่อยากให้มีนโยบายที่ทำให้คำว่า “Soft Power ในมิติหนังไทย” ถูกสนับสนุนจนกลายเป็นรูปธรรม  เพื่อดึงเม็ดเงินจากในประเทศและทั่วโลก กระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นได้จริง ๆ

ชาวบ้าน 1/4