สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ว่าองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) เผยแพร่รายงานซึ่งจัดทำเป็นปีที่สองติดต่อกัน ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ไอแอลโอ ) เกี่ยวกับผลกระทบจากการทำงานที่มีต่อชีวิต ปรากฏว่า เฉพาะเมื่อปี 2559 มีประชากรโลกประมาณ 1.9 ล้านคน ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงานประจำวัน
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุปัจจัยเสี่ยงต่อการทำงาน 19 ประการ ซึ่งรวมถึงการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานในแต่ละวัน ขณะเดียวกัน ยังมีการระบุเกี่ยวกับ มลพิษทางอากาศ การได้รับสารกระตุ้นที่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินหายใจ การได้รับสารก่อมะเร็ง และมลพิษทางเสียง
ขณะที่ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงานมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และมีอายุเฉลี่ย 54 ปี
อนึ่ง ดับเบิลยูเอชโอและไอแอลโอเคยร่วมกันจัดทำ และเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว ว่าย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ประชากรโลก 745,000 คน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและความผิดปกติของระบบการทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลจากการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นมากถึง 55% จากเมื่อปี 2543 โดยอาการป่วยซึ่งส่งผลจนเกิดการเสียชีวิตเป็นภาวะสะสมที่อาจยาวนานกว่า 10 ปี เมื่อจำแนกตามภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งร่วมถึงจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นพื้นที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุด
สำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 194 ประเทศ สรุปว่าการทำงานต่อสัปดาห์ 55 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง 35% และเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดอีก 17% เมื่อเทียบกับการทำงานเฉลี่ย 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์.

เครดิตภาพ : AP