มีข่าวกระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ จะยกเลิกสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำแรกจากประเทศจีน แล้วเปลี่ยนเป็นการซื้อเรือฟริเกต เรือรบ 3 มิติ (อากาศ-ผิวน้ำ-ใต้น้ำ) ลำละประมาณ 14,000-17,000 ล้านบาท จากประเทศจีนแทน

ย้อนกลับไปวันที่ 18 เม.ย. 60 คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม อนุมัติซื้อเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า รุ่นหยวน คลาส S-26T จากประเทศจีน 1 ลำ วงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท แบ่งชำระเงิน 7 ปี 17 งวด ประเดิมงวดแรกปี 60 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 61-66 ชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท

โดยมี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ (ในขณะนั้น) ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำเป็นผู้แทน พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. ไปลงนามกับบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. ในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 โดยมีกำหนดส่งมอบเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทยในปี 70

สำหรับสาระสำคัญในการทำข้อตกลงจ้างนั้น กำหนดให้เรือดำน้ำ S-26T มีเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น MTU396 จากเยอรมนี 3 เครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพราะจีนไม่เคยต่อเรือดำน้ำขายให้ใครเลย แม้แต่กองทัพเรือจีนก็ใช้เรือดำน้ำจากรัสเซียทั้งนั้น ไทยจึงเป็นลูกค้ารายแรกของเรือดำน้ำจากจีน

ดังนั้นเมื่อจีนเป็น “มือใหม่” ในการต่อเรือดำน้ำ จึงต้องใช้บริการเครื่องยนต์เยอรมนี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เข้ามาติดตั้งในเรือดำน้ำที่จีนเป็นคนต่อ แต่เนื่องจากภายหลังเยอรมนีมีนโยบายระงับการส่งออกสินค้าที่อยู่ในรายการควบคุม ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องยนต์ อะไหล่ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงของเยอรมนี ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเยอรมนี

ทางฝ่ายจีนจึงไม่รู้ว่าจะหาเครื่องยนต์จากไหนมาใส่ ครั้นจะใส่เครื่องยนต์ที่จีนเพิ่งพัฒนาขึ้นมา ก็ผิดเงื่อนไขของสัญญา และที่สำคัญคือคุณภาพ-มาตรฐานเครื่องยนต์จีน คนใช้งานคือทหารเรือไทยยอมรับได้หรือเปล่า?

“พยัคฆ์น้อย” ขอเสนอแนะเรื่องเรือดำน้ำที่กำลังมีปัญหา เพราะหาเครื่องยนต์มาใส่ตามสัญญาไม่ได้ ไปยังนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ก่อนที่นายสุทินจะถูกพรรคก้าวไกล “ล็อกเป้า” ถล่มจมไปพร้อมกับเรือดำน้ำจีน ดังนี้

1.เรือดำน้ำ ไม่เกี่ยวกับเรือฟริเกต เป็นคนละเรื่อง คนละเวลา อย่าเอามาปนกัน อย่าจับแพะชนแกะให้คนสับสน

2.ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่า ซื้อเรือดำน้ำแล้วไม่ได้เรือดำน้ำตามสัญญา ใครผิดสัญญา?

3.ถ้าจีนผิดสัญญา ต้องบังคับตามสัญญา คือเอาเงิน 7,000-8,000 ล้านบาท ที่ไทยจ่ายไปแล้วมาคืนก่อน อย่าเพิ่งพูดถึงเรือฟริเกต

4.ถ้าจีนคืนเงินก้อนนี้เมื่อไหร่ จะรู้ทันทีตามที่สังคมไทยซึ่งติดตามเรื่องดังกล่าวมานาน เนื่องจากตั้งข้อสงสัยเรื่อง “เงินทอน” และเป็นการซื้อ-ขายกันแบบ “จีทูจี” จริงหรือไม่!

“พยัคฆ์น้อย” ค่อนข้างมั่นใจว่าในการพบกันระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เมื่อสัปดาห์ก่อน ไม่มีการพูดถึงปัญหาเรือดำน้ำ

เศรษฐา” เผย “สี จิ้นผิง” รับปากเยือนไทย เจรจา "เรือดำน้ำ"

5.ต้องฝากไปยัง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช. ควรตั้งแท่นตรวจสอบว่ากองทัพเรือจะได้ “เงินคืน” กลับมาครบหรือไม่? หรือ “ตกหล่น” ไปตรงไหนบ้าง? หลังจากนั้นความจริงจะกระจ่างเพิ่มขึ้นไปอีกว่าเป็นสัญญา “จีทูจี” หรือไม่?

เมื่อสั่งซื้อเรือดำน้ำแล้วไม่ได้เรือดำน้ำ ไม่ได้เครื่องยนต์ตามสัญญา ก็ต้องบังคับตามสัญญากับบริษัทนั้น คือ ต้องคืนเงินกลับมาก่อน ส่วนเรื่องอื่นไว้คุยกันภายหลัง

ตอนนี้หลายคนลุ้นว่า ถ้าถึงขั้นตอนการ “คืนเงิน” จะมีอะไรโผล่มาหรือไม่อย่างไร? และจะนำไปสู่การไขปริศนาเรื่อง “เงินทอน-จีทูจี” หรือไม่?

ดังนั้นนายสุทินต้องอย่าใจร้อน หรือว่าเป็น รมว.กลาโหม ยังไม่ถึง 2 เดือน แต่เคลิ้มไปกับเสียงของพลแตรเป่าทำความเคารพเช้า-เย็น เสียแล้ว!!

——————–
พยัคฆ์น้อย