จากกรณีที่นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด นักโทษชายตามคำพิพากษาศาลจังหวัดพัทลุง คดีแดงที่ อ.1816/2565 ตามอำนาจศาลจังหวัดพัทลุงพิพากษา จำคุก 20 ปี 6 เดือน เริ่มรับโทษเมื่อ 11 มกราคม 2565 ต่อมาย้ายมารับโทษในเรือนจำความมั่นคงสูง ณ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และเมื่อต้องเข้าพบทันตแพทย์ตามนัดหมายเดิมน้้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ต่อมาแพทย์ได้มีการแจ้งเลื่อนนัดการรักษา อีกทั้งนายเชาวลิตได้มีอาการคล้ายวูบหมดสติจึงต้องนอนแอดมิทที่ห้องผู้ป่วย 1 คืน ก่อนฉวยโอกาสระหว่างที่สองเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ก่อเหตุสะเดาะตรวนกุญแจข้อเท้าในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 22 ต.ค. และหลบหนีไปพร้อมกับผู้ให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 8-9 เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ อยู่ระหว่างไล่ล่าจับกุมตัว ทั้งยังมีรายงานด้วยว่าเจ้าตัวได้หนีออกนอกประเทศไปยังประเทศมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องนั้น
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ว่า ทราบเบื้องต้นว่าในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้ (25 ต.ค.) คณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจะมีการลงพื้นที่ ส่วนของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชก็ได้ดำเนินการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในวันเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ข้อมูลประเด็นต่างๆจะยังไม่สามารถเปิดเผยได้ อาทิ ประเด็นการนัดหมายของแพทย์ การเลื่อนนัดหมาย การเปลี่ยนโซ่ตรวน เป็นต้น ส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อยู่ระหว่างติดตามตัวผู้ต้องหา นอกจากนี้จริงๆแล้วเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่รับหน้าที่ในการเฝ้าไข้นายเชาวลิตมีจำนวน 2 ผลัด คือ ผลัดเช้า 2 ราย และผลัดบ่าย 2 ราย จึงทำให้มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้งหมด 4 ราย ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีหนึ่งในผู้คุมแจ้งให้ผู้คุมราชทัณฑ์ที่อยู่ผลัดกลางวันไม่ต้องเข้ามาในช่วงกลางวันแต่ให้เข้ามารับหน้าที่ในช่วงกลางคืนแทนนั้น ในเรื่องนี้ตนยังไม่ได้รับทราบรายละเอียด แต่แน่นอนว่าผลัดกลางคืนในช่วงเกิดเหตุ มี 2 ผู้คุมราชทัณฑ์ ยืนยันว่าทุกประเด็นอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้ง 4 ราย มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องใดหรือมีการเอื้อประโยชน์ต่อการหลบหนีครั้งนี้ของนายเชาวลิตหรือไม่ มีความใกล้ชิดสนิทสนมอย่างไรหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 4 รายพักราชการไว้ก่อนแต่อย่างใด
นายณรงค์ เผยอีกว่า คณะกรรมการจะมีการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่ผู้คุมที่รับหน้าที่เฝ้าไข้นายเชาวลิต แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำซึ่งก็คือ นายณรงค์ หนูคง ผบ.เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เพราะในการนัดหมายของแพทย์นั้น แพทย์จะต้องมีใบความเห็นเสนอมายังผู้บัญชาการเรือนจำ เพื่อที่ให้ ผบ.เรือนจำฯ อนุญาตให้นำตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตามความเห็นแพทย์ แต่ในกรณีที่ผู้ต้องขังอาจมีการวางแผนวูบหมดสตินั้น ในส่วนนี้ก็จะต้องดูในรายละเอียดให้ชัดเจน และคณะกรรมการจะต้องไปสอบถามกับแพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้อีกด้วยว่าผู้ต้องขังมีประวัติการรักษาอย่างไร แล้วทำไมวันนั้นหมอจึงเลื่อนนัด
เมื่อถามว่าทางผู้คุมได้มีการให้การกับคณะกรรมการอย่างไรบ้างถึงกรณีที่เปลี่ยนโซ่ให้นายเชาวลิตนั้น นายณรงค์ ระบุว่า ทางผู้ต้องขังอ้างว่ามันหลวมเลยต้องเปลี่ยนให้กระชับขึ้น ส่วนรายละเอียดเชิงลึกขอละเว้นการเปิดเผยไว้ก่อน ทั้งนี้ การแหก รพ.ครั้งนี้ นายเชาวลิต ถือเป็นการแหกคุกครั้งแรก ส่วนพฤติกรรมที่ผ่านมาเวลาอยู่ภายในเรือนจำฯ นิสัยผู้ต้องขังส่วนใหญ่ก็เหมือนแมว แต่เมื่อออกมาข้างนอกก็จะมีลักษณะอีกแบบ และหากเจ้าตัวเป็นคนเรียบร้อยคงไม่ถูกย้ายพฤติการณ์มาจากเรือนจำกลางพัทลุง เพราะมีพฤติการณ์ไม่เรียบร้อย
เมื่อถามถึงกรณีที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ กรณีผู้ต้องขังหลบหนี หากภายใน 48 ชม. ไม่สามารถติดตามตัวกลับมาได้ ผู้บัญชาการเรือนจำจะต้องถูกย้ายนั้น นายณรงค์ ยืนยันว่าไม่มี เพราะระเบียบ 48 ชม.ดังกล่าว คือ อำนาจที่ให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปติดตามผู้ต้องขังแต่หลังจาก 48 ชม. จะต้องมีการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปร่วมในการติดตามผู้ต้องขังด้วย เพราะการจะเข้าไปเคหะสถาน ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปด้วย เพราะราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจในการออกหมายค้นหรือหมายจับ แต่ราชทัณฑ์จะมีหน้าที่ในการติดตามจับกุมตัวมาขังตามโทษเดิม และ ผบ.เรือนจำฯ ยังคงไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ เพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ระดับฝ่ายผู้บริหาร เพราะเหตุที่เกิดขึ้นค่อนข้างเสียหายร้ายแรงต่อองค์กรและสังคมรวมถึงยังไม่สามารถติดตามตัวผู้ต้องขังได้.