การใช้ทรัพยากรวัตถุดิบผ้าทอที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ออกแบบสร้างสรรค์สวมใส่ได้หลายโอกาส ทันสมัย มีความพิเศษตอบโจทย์
ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดดีไซน์พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือ ผลงานนักศึกษาสาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเข้าร่วมในโครงการ Creative Young Designers Season 3 กิจกรรม Education Institute Support Activity (eisa) โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย โดยบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จัดขึ้นต่อเนื่อง สร้างความตระหนักถึงคุณค่าผืนผ้าในเชิงศิลปวัฒนธรรม
ทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มีความหลากหลาย ต่อยอดธุรกิจให้กับชุมชนผู้ผลิต และสานต่องานผลิตและแปรรูปสู่คนรุ่นใหม่ สร้างห่วงโซ่ที่มีความเข้มแข็ง ฯลฯ

Urbanism/Nong Bua Lampu ผลงานออกแบบครั้งนี้เป็นการดำเนินงานร่วมกับชุมชนผู้ผลิตผ้า กลุ่มทอผ้าภูริษาผ้าไทย จังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายช่องทางด้านการตลาด เป็นหนึ่งในผลงานแฟชั่นจาก 18 ชุมชน 16 สถาบันการศึกษาที่แสดงในงาน SX Sustainability Expo 2023 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ผ่านมา

พชร รัตนคุปต์ อาจารย์สาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิตให้มุมมองเล่าแนวคิดผลงานดีไซน์ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ว่า คอลเลกชันเป็นสไตล์ modern contemporary สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเครื่องแต่งกายที่มีทั้งความทันสมัยและความพิเศษ ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันที่ทั้งต้องทำงานและเข้าสังคมในแต่ละวัน

แรงบันดาลใจจากธรรมชาติของจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีทั้งเทือกเขา นํ้าตกที่สวยงาม มีทั้งความแข็งแรงและความสงบความลื่นไหลของสายนํ้า เปรียบเสมือนชีวิตคนทำงานที่ต้องแข็งแกร่ง แต่มีความสุขผสมผสานอยู่ โดยการออกแบบเสื้อผ้าของยัง ดีไซเนอร์ ผลงานนักศึกษา ได้ออกแบบผ้าทอที่มีอยู่ของกลุ่มทอผ้าภูริษาผ้าไทย นำมาออกแบบปรับลุคเหมาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ สวมใส่ได้หลายโอกาส สวยงามและทันสมัย

“จากการลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันพบว่าทางภูริษามีทั้งผ้าไหม ผ้าทอมือต่าง ๆ หากไม่นำมาใช้ก็จะหลงเหลือค้างอยู่ จึงนำมาออกแบบ นำผ้าที่มีผสมผสานร่วมกับผ้าขาวม้า สร้างความหลากหลายในผลงาน พัฒนารูปแบบสินค้าสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งนี้ในโครงการฯ แต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจะทำงานร่วมกับชุมชนต่าง ๆ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะดำเนินงานสร้างสรรค์ที่ต่างกัน”

อาจารย์สาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ อาจารย์พชร เพิ่มเติมอีกว่า การลงพื้นที่เรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชน ผู้ประกอบการ การทำงานร่วมกันยังเป็นเหมือนการเตรียมพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนเข้าสู่การทำงานจริง นักศึกษาได้เรียนรู้รอบด้าน ทั้งงานดีไซน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มศักยภาพการผลิต นำผ้าทอที่มีความหลากหลายนำมาสร้างสรรค์ ฯลฯ

นอกจากชุดเสื้อผ้า เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บครั้งนี้นำมาดีไซน์ กระเป๋าถือ เนกไท หมวก ฯลฯ ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า โดยเหลือผ้าทิ้งให้น้อยที่สุด โดยออกแบบตรงกับความต้องการ ทั้งนำเอกลักษณ์สถานที่ ความสวยงามของธรรมชาติจังหวัดหนองบัวลำภู นำมาสร้างสรรค์ เป็นสื่อสัญลักษณ์ ใช้เทคนิคการจับจีบ ตัดต่อผ้านำมาบอกเล่าแรงบันดาลใจ ผลงานจากคอลเลกชันนี้จึงมีความหลากหลาย ทันสมัย

ดีไซน์ในลุคเท่ที่เข้ากับลักษณะผ้าขาวม้า บอกเล่าเอกลักษณ์ผืนผ้าที่มีทั้งผ้าขาวม้า ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าทอมือที่กลุ่มผ้าทอสร้างสรรค์ มีความพิเศษของเส้นใยผ้าโดยเนื้อสัมผัสให้ความนุ่มนวล ทั้งนี้จากกระบวนการผลิตของกลุ่มทอผ้าซึ่งให้ความสำคัญกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างความยั่งยืน สร้างห่วงโซ่การผลิตผ้าขาวม้าผ้าทอมือที่เข้มแข็ง.