ซึ่งเป็นรูปแบบของการสร้างธุรกิจแบบเทคคอมพานีที่ต้องทำให้ตลาดเติบโตก่อน ด้วยการใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล เพื่อหวังผลในระยะยาวที่ผู้บริโภคขาดบริการรูปแบบนี้ไม่ได้ ในมุมของการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน มาดูว่า แพลตฟอร์มแกร็บ เดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร

ไม่เน้นแค่ตัวเงินแต่มุ่ง 3 ด้าน

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย บอกว่า ESG (Environment Social Governance) หนึ่งในแนวคิดเพื่อความยั่งยืนที่กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ นำมาใช้เป็นปัจจัยในการเลือกลงทุน โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่หาผลกำไรที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ด้านคือ สิ่งแวดล้อม สัมคม และธรรมาภิบาล แกร็บ ใน 8 ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองทิศทางเรื่องการลดการปลดปล่อยคาร์บอน และเรื่องการลดการใช้ขยะพลาสติก

“เรื่อง ESG จริง ๆ แล้ว ธุรกิจที่ทำมีเรื่องของ ESG อยู่แล้วระดับหนึ่ง ด้วยคอนเซปต์ที่ไม่ใช่เอากำไรไปสร้างโรงเรียน หรือตอบแทนรูปของภาษี แต่คือคอนเซปต์ของการทำ sustainability อยู่คู่กับสังคมโดยเนื้องานเรามันสร้างตรงนั้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่รู้สึกว่ามันขาดคือตัว E อันนี้เราจะทำยังไงให้เราสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการขับเคลื่อนหรือแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้”

ลดขยะพลาสติก 3,000 ล้านชิ้น

วรฉัตร บอกว่า แกร็บในประเทศไทยตั้งเป้าว่าในปี 2040 หรือ พ.ศ. 2583 แพ็กเกจจิ้งจะเป็น Circular Economy หรือเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มจากลดละเลิก เปลี่ยนจากการใช้พลาสติกมาเป็นกระดาษ ทุกวันนี้จะเริ่มเห็นว่าถุงอาหารแกร็บฟู้ดเป็นถุงกระดาษ แก้วกระดาษ 90% ซึ่งได้ร่วมมือกับบริษัทใหญ่ในการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งที่รักษ์โลก

“ปัจจุบันเราผลักดันเรื่องให้ลด และทุกครั้งที่ลูกค้าสั่งอาหารจะมีฟีเจอร์ให้ติ๊กว่าไม่เอาช้อนส้อมพลาสติกไหม ซึ่งปีที่ผ่านมาเราลดไปได้ตั้งเกือบ 900 ล้านชุด ใน 8 ประเทศ แต่ด้วย 900 ล้านชุดที่ลดลงคือขยะพลาสติก ถ้าเราบอกว่าช้อนกับส้อม 1,800 ล้านชิ้นไม่รวมพลาสติกที่ห่ออีก ถ้าบอกว่า 1 ชุดคือ 3 อย่าง พอคูณ 3 คือเกือบ 3,000 ล้านชิ้น นั้นคือจำนวน
ขยะพลาสติกที่เราลดลงไปได้จากการที่เรามีแค่ฟีเจอร์ง่าย ๆ ขึ้นมาให้ลูกค้าเลือกจะรับหรือไม่รับ”

สร้างสังคมอีวีกับไรเดอร์

เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ Carbon Neutral กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ระบุว่า เราได้ทำวางแผนดังนี้ 1.การสนับสนุนให้ไรเดอร์ใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าและคนขับแกร็บใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตั้งเป้าว่าในปี 2026 หรือ 2569 จะมีอีวีในระบบ 10 % คือ มีตัวเลขหลักหมื่น ขณะนี้ไรเดอร์ของแกร็บใช้รถอีวีอยู่ที่หลักพัน ซึ่งแกร็บสนับสนุนให้มีการพัฒนาจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ไทย และติดตั้งจุดเปลี่ยนแบต ส่วนรถยนต์อีวีร่วมมือกับบริษัทที่นำเข้ารถอีวีเพื่อหาสร้างแรงจูงใจให้คนขับเปลี่ยนจากการใช้รถนํ้ามันมาเป็นรถอีวี

2. การใช้เทคโนโลยีแผนที่ ช่วยลดเส้นทางในการวิ่งให้กับคนขับ ด้วยระบบ Machine Learning หรือเอไอที่ใช้ในการจัดสรรคนขับไปร้านอาหาร โดยเลือกจากคนที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้มันเกิดการใช้พลังงานน้อยที่สุด ซึ่งลูกค้าชอบอยู่แล้วเพราะได้อาหารเร็วขึ้นแต่ในทางอ้อมทำให้มันเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการลดระยะทางวิ่ง และลดคาร์บอนลงไปพร้อมกันด้วย

โรดแม็ปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

โรดแม็ปสู่แพลตฟอร์มที่เป็นกลางทางคาร์บอนของแกร็บประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญอันได้แก่ 1.การกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนตํ่า 2. การใช้พลังงานหมุนเวียนในสำนักงานของแกร็บทุกแห่งทั่วภูมิภาค ตั้งเป้าปี 2030 จะใช้พลังงานสีเขียวหรือกรีนเอเนอร์จี ในอาคารสำนักงาน 3. การดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน 4.การชดเชยคาร์บอน (Carbon offest) เน้นให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมเช่น เมื่อลูกค้าบริจาคเงินเพื่อปลูกป่า แกร็บจะบริจาคสมทบ และในอนาคตสามารถระบุได้ว่าเงินที่ลูกค้าบริจาคนำไปปลูกต้นไม้ที่ไหน โดยมีการติดตามการปลูกอยู่ตลอดเวลา หรือรูปแบบการใช้บริการรถอีวีที่มีการใช้หลายพันเที่ยว คำนวณออกมาแล้วเป็นคาร์บอนเครดิต เท่ากับปลูกต้นไม้กี่ต้น ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคาร์บอนเครดิตจับต้องได้.