ขณะที่ชาวตะวันตกมองว่า เวลาทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ขอแค่มีกระดาษชำระอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว ชาวเอเชียอย่างเรา ๆ กลับรู้สึกตรงกันข้าม เวลาที่ทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ไม่ว่าจะแบบ “หนัก” หรือแบบ “เบา” ถ้ามีสายฉีดชำระให้ใช้ จะรู้สึกว่า “สะอาด” กว่าการใช้กระดาษชำระเพียงอย่างเดียว

ในปัจจุบันพบว่า แนวคิดของชาวเอเชียในเรื่องนี้ สอดคล้องกับผลวิจัยที่เคยมีการเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์/วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการใช้กระดาษชำระทำความสะอาดในเวลาอันเป็นส่วนตัวของทุกคน

ในกรณีศึกษาเมื่อ 2565 เรื่อง “เปรียบเทียบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่มือระหว่างการใช้และไม่ใช้ระบบฉีดน้ำชำระในห้องน้ำหลังจากการขับถ่ายอุจจาระ” ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ Pubmed เผยความจริงอันน่าสยดสยองว่าการใช้กระดาษชำระเพื่อทำความสะอาดอวัยวะสำหรับขับถ่ายนั้น อาจทำให้คุณรู้สึกขยะแขยงเกินคาด

ผลการวิจัยชี้ว่า จำนวนของจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียบนมือของผู้ที่ใช้ระบบฉีดน้ำชำระหรือโถบิเดต์ (Bidet) นั้น มีน้อยกว่าผู้ที่ใช้กระดาษชำระเพียงอย่างเดียว

ในการทดลองนี้ ผู้ร่วมทั้งกลุ่มจะต้องสวมถุงมือยาง 2 ชั้นที่มือข้างที่ถนัด (หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นมือที่ใช้เช็ดก้น) สำหรับกลุ่มใช้กระดาษชำระจะต้องใช้กระดาษชำระซ้อนกัน 4 ชั้น สำหรับกลุ่มที่ใช้บิเดต์ จะไม่มีการจำกัดเรื่องความแรงหรือความนานของการใช้น้ำฉีดชำระ 

จากนั้นก็จะนำถุงมือยางชั้นที่ 2 หรือชั้นนอกสุดของผู้ร่วมทดลอง ไปตรวจสอบจำนวนแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่บนพื้นผิว ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มที่ใช้กระดาษชำระมีจำนวนจุลินทรีย์บนถุงมือแต่ละข้างประมาณ 39,499.3 ± 77,768.3 cfu (Colony forming units หรือหน่วยก่อรูปเป็นโคโลนี ซึ่งใช้เป็นหน่วยในการรับจำนวนจุลินทรีย์)

ส่วนกลุ่มที่ใช้บิเดต์ มีจำนวนจุลินทรีย์บนถุงมือแต่ละข้างประมาณ 4,146.9 ± 11,427.7 cfu ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดน้อยลงมามากอย่างเห็นได้ชัด จากหลักหมื่นเหลือเพียงหลักพัน

แม้จะเป็นการทดสอบและเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนไม่มาก กล่าวคือเป็นกลุ่มนักเรียนพยาบาล 32 คน แต่ผลที่ออกมาก็เรียกว่า “น่าขนลุก” อยู่ไม่น้อย

อันที่จริง ระบบชำระล้างแบบบิเดต์นี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 กระนั้น ชาวตะวันตกกลับไม่คุ้นเคยกับการใช้บิเดต์หรือแม้แต่ระบบที่ง่ายกว่า เช่น สายฉีดชำระ และมีไม่น้อยที่มองว่าเป็นความยุ่งยากเกินจำเป็นของคนเอเชีย ยกเว้นในบางประเทศยุโรปที่มีกฎหมายบังคับให้ติดตั้งระบบฉีดน้ำชำระในห้องน้ำ เช่น ประเทศอิตาลี

ทว่า แพทย์หญิงทริชา ปาริชา จากศูนย์มะเร็งขององค์กรไม่แสวงผลกำไรอาซาเนีย มิชชัน ชี้ว่า การใช้บิเดต์หรือสายฉีดชำระนั้น ดีต่อสุขภาพมากกว่าการใช้กระดาษชำระ 2 แผ่นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการถ่ายเหลว เช่น ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน รวมถึงผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวาร มีแผลที่ทวารหนัก หรือแม่ ๆ ที่อยู่ระหว่างพักฟื้นหลังคลอด ซึ่งไม่สะดวกในการใช้กระดาษชำระเช็ดไปถึงส่วนด้านหลัง

ไม่เพียงเท่านั้น การใช้ระบบฉีดน้ำชำระ ยังสามารถประหยัดค่ากระดาษชำระได้อีกด้วย รวมถึงเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่ง เพราะทำให้เราใช้กระดาษน้อยลง เมื่อคิดว่าในการผลิตกระดาษชำระ 1 ม้วน อาจต้องใช้เยื่อกระดาษจากต้นไม้ถึง 700 กรัมและน้ำในกระบวนการผลิตอีก 23 ลิตร ขณะที่การใช้บิเดต์แต่ละครั้ง สิ้นเปลืองน้ำเพียง 450 มิลลิลิตรโดยประมาณ

นอกจากนี้ ดร. ปาริชา ยังแนะนำเพิ่มเติมให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ โดยเฉพาะห้องน้ำในบ้าน เพื่อไม่ให้ “อนุภาค” ของสิ่งที่เราขับถ่ายไว้ในโถส้วมฟุ้งกระจายไปทั่วห้อง แล้วไปติดตามสิ่งของต่าง ๆ เช่น แปรงสีพัน เป็นต้น

ที่มา : nypost.com, pubmed.ncbi.nlm.nih.gov

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES