จีนจัดการประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ( บีอาร์ไอ ) ระหว่างประเทศ ครั้งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง ในสัปดาห์นี้ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวท่ามกลางผู้นำหลายสิบประเทศที่เข้าร่วม และผู้แทนระดับสูงจากอีกมากกว่า 100 ประเทศ มีเนื้อหาตอนหนึ่ง ว่ารัฐบาลปักกิ่งไม่ขอเข้าไปเกี่ยวข้องกับ การเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ การเดินหมากเกมทางภูมิศาสตร์การเมือง หรือการเผชิญหน้าระหว่างขั้วอำนาจ
ขณะเดียวกัน จีนคัดค้านการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วหรือแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน และการตัดขาดจากกัน
สีกล่าวต่อไปว่า การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมองพัฒนาการของอีกประเทศ “เป็นภัยคุกคาม” และการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจ “เป็นความเสี่ยง” ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศนั้นดีขึ้น หรือการพัฒนาของประเทศนั้นจะไปไกล และรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่
ผู้นำจีนยืนยันว่า โครงการบีอาร์ไอ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งริเริ่ม เมื่อปี 2556 มีเป้าประสงค์เพื่อ “สร้างแรงผลักดันใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก” ด้วยการยกระดับด้านนโยบายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การเงิน และการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล ด้วยความเชื่อมั่นว่า ทุกความพยายามสำเร็จได้ บนความร่วมมือแบบสมประโยชน์และสานประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า แม้บีอาร์ไอเริ่มต้นที่จีน แต่โอกาสและความสำเร็จเป็นการแบ่งปันร่วมกับทั้งโลก
นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาจีน ( ซีดีบี ) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน ( ไชน่า เอ็กซิมแบงก์ ) เพิ่มวงเงินกู้ให้กับโครงการอีก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 3.63 ล้านล้านบาท ) การดำเนินการดังกล่าว เท่ากับเป็นการขยายวงเงินสินเชื่อให้กับโครงการต่าง ๆ ซึ่งเข้าร่วมกับบีอาร์ไอ รวมมูลค่ามากกว่า 47,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ( ราว 1.74 ล้านล้านบาท )
ในส่วนของความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย ตามกรอบแนวทางของบีอาร์ไอนั้น ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีนและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจีน ระบุว่า การค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ อยู่ที่ 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 4.9 ล้านล้านบาท ) เมื่อปี 2565 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับสถิติของปี 2564
ขณะที่เฉพาะเมื่อไตรมาสแรกของปี 2566 มูลค่าการลงทุนรวมของจีนในไทยสูงถึง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 61,696.40 ล้านบาท ) ยิ่งไปกว่านั้น แผนยุทธศาสตร์บีอาร์ไอยังมีบทบาทสำคัญ ในการร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ไทยกำลังพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมเครือข่ายรถไฟในภูมิภาค จากจีนไปถึงสิงคโปร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์เช่นกันว่า จีนอาศัยยุทธศาสตร์บีอาร์ไอเป็นทางออกสำหรับปัญหาการผลิตเกินในเชิงอุตสาหกรรมของประเทศ และยังมีบทบาทในด้านภูมิศาสตร์การเมืองของรัฐบาลปักกิ่งด้วย เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค ซึ่งจีนมุ่งหวังแปรเปลี่ยนไปสู่การเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นและคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อตกลง ที่จีนจัดทำกับแต่ละประเทศ ว่านำไปสู่การเกิด “กับดักหนี้” และเงื่อนไขของข้อตกลง ที่ห้ามการเปิดเผยรายละเอียดของการกู้ยืม
ทั้งนี้ ธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) เผยแพร่รายงาน เมื่อเดือนมี.ค. ปีนี้ ว่าจีนทุ่มงบประมาณมากกว่า 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 8.7 ล้านล้านบาท ) ระหว่างปี 2551-2564 เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา 22 แห่ง ซึ่งเข้าร่วมบีอาร์ไอ แต่ต่อมาประสบปัญหาในการชำระคืนเงินกู้ต่อจีน และโครงการที่ลงทุนไปนั้น ไม่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ตามเป้าหมาย
ด้านจีนกล่าวว่า วาทกรรม “กับดักหนี้” ไม่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือทางการเงินซึ่งจีนเสนอให้ แต่เป็นเรื่องของการยังไม่พัฒนาและความยากจน ซึ่งประเทศเหล่านั้นกำลังประสบอยู่ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า รัฐบาลปักกิ่งปฏิบัติตามกฎหมายตลาดสากล การเคารพเจตจำนงของทุกประเทศ ขณะเดียวกัน จีนไม่เคยบีบบังคับให้ประเทศใดเข้าร่วมบีอาร์ไอ และไม่เคยใช้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ขณะที่เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีกปรากฏว่า เมื่อปี 2565 นานาประเทศมีกำหนดต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้ปล่อยกู้ทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชน รวมกันประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.2 ล้านล้านบาท ) โดยมากกว่า 40% ของหนี้มูลค่าดังกล่าว ต้องเป็นการชำระคืนให้แก่จีน ด้วยเหตุนี้ เวิลก์แบงก์จึงมองว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จีน “จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” กับแนวทางผ่อนปรนหนี้ให้กับบางประเทศ ด้านเจ้าหนี้ภาคเอกชนควรให้ความร่วมมือด้วย.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AFP