ทุกอย่างที่ทำจนถึงวันนี้เกิดจากแนวคิดง่าย ๆ คือ ทำให้คนเข้าใจรู้จักและรักเพชรบูรณ์บ้านเรา เป็น “นิยามง่าย ๆ” ที่กลายเป็น “คีย์เวิร์ด” ในการร่วมผลักดันเรื่องสำคัญถึง 2 เรื่องให้กับเมืองเพชรบูรณ์ ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของ “ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์” นั่นคือ…ความพยายามผลักดันให้ “เมืองโบราณศรีเทพขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” กับผลักดันให้ “เพชรบูรณ์เป็นอุทยานธรณีวิทยาแห่งใหม่ของไทย” ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเกิดขึ้นเป็นจริงแล้ววันนี้ อย่างไรก็ดี นอกจากเบื้องหลังของความพยายามจะน่าสนใจแล้ว กับแง่มุม-วิธีคิด รวมถึงเส้นทางชีวิตของ “คีย์แมน” คนนี้ ก็น่าสนใจเช่นกัน…

ภายหลังจากที่ เมืองโบราณศรีเทพ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ได้รับการรับรองจากทางยูเนสโก ให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้ส่งผลทำให้มี ปรากฏการณ์เกิดขึ้น คือนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติหลั่งไหลเดินทางรอต่อคิวเข้าชมเมืองโบราณแห่งนี้ ท่ามกลางกระแสตื่นตัวของแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มีการนำเรื่องของเมืองศรีเทพมาเป็นหัวข้อเสวนาแลกเปลี่ยนอย่างคึกคัก จนเกิดกระแส ศรีเทพฟีเวอร์ในเวลานี้ ทั้งนี้ ความสำเร็จอันหอมหวานในวันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดจิ๊กซอว์สำคัญหลาย ๆ ชิ้น ที่มีส่วนก่อร่างสร้างความสำเร็จ และหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ คนเบื้องหลัง อย่าง ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ที่คนเมืองมะขามหวานเรียกกันติดปากว่า อาจารย์วิศัลย์อดีต สส.เพชรบูรณ์ ปี 2529 และ 2531 ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ทรงคุณวุฒิ อุทยานธรณีวิทยาเพชรบูรณ์ ที่เขาก็เป็นอีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงหลักทำให้เกิดความสำเร็จนี้

ทั้งนี้ อาจารย์วิศัลย์ ในวัย 64 ปี เล่าให้ทีมวิถีชีวิตฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ชีวิตพลิกผันเข้ามาคลุกคลีกับงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์ รวมถึงธรณีวิทยา โดยบอกว่า เริ่มต้นจับงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น  หลังจากวางมือจากงานทางการเมืองตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องเกิดจากการพัฒนาที่คนเป็นสำคัญ ซึ่งการพัฒนาคนนี้ประกอบด้วย 3 มิติสำคัญ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข และจิตสำนึกส่วนรวม โดย 2 มิติแรกมีคนทำหรือมีหน่วยงานรับผิดชอบแล้ว ขณะที่อีกมิติคือเรื่องการสร้างจิตสำนึกยังไม่ค่อยมีใครทำ จึงสนใจและอยากที่จะทำเรื่องนี้ ซึ่งพอดีกับที่เข้ามาช่วยงานทางด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมืองเพชรบูรณ์ จากการที่ตนเองมีข้อข้องใจหลายเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของเมือง อาทิ ชื่อเมืองมีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงมีคำว่าเพชรนำหน้าชื่อ เป็นต้น ซึ่งความสงสัยนี้เองทำให้หันมาศึกษาค้นคว้าและอ่านเอกสารประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงได้ข้อมูลจากผู้รู้ต่าง ๆ จนนำมาประมวลและเรียบเรียงเพื่อเผยแพร่ให้คนเพชรบูรณ์ได้รู้จัก

ร่วมประเพณีอุ้มพระดำน้ำที่โด่งดังของเพชรบูรณ์

อาจารย์วิศัลย์ ยังเล่าอีกว่า ช่วงที่ค้นคว้ารวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเพชรบูรณ์นั้น ทำให้รู้ว่าประวัติศาสตร์เพชรบูรณ์ถูกเล่าถูกบันทึกผิดพลาดมาเรื่อย แถมยังถูกก๊อปปี้กันไปเรื่อย ๆ จนทำให้หลาย ๆ สิ่งเกิดความสับสน ส่วนถ้าถามว่า เหตุใดจึงสนใจเรื่องนี้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตอนนั้นเริ่มจับงานวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งผูกโยงอยู่หลายเรื่อง คือมีทั้งประวัติศาสตร์ วิถีคน ชาติพันธุ์ และเรื่องโบราณคดี ทำให้เกิดไอเดียที่จะนำเรื่องนี้มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารให้คนเพชรบูรณ์ตระหนักถึงความสำคัญของบ้านเกิดเมืองนอน จึงเกิดสโลแกนการทำงานว่า เข้าใจ รู้จัก รักเพชรบูรณ์บ้านเรา ขึ้น เพราะอยากทำให้คนที่นี่รู้ว่าตนเองมีของดีอะไรอยู่ เพื่อที่จะได้รู้สึกภูมิใจ จนอยากที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิด

คีย์แมน 2 เรื่องสำคัญของเพชรบูรณ์เล่าอีกว่า ส่วนเรื่องธรณีวิทยา สนใจเพราะหลังศึกษาสืบค้นประวัติศาสตร์ก็ทำให้รู้ว่า เพชรบูรณ์มีความสำคัญในเชิงธรณีวิทยา จึงผลักดันให้เพชรบูรณ์มีอุทยานธรณีวิทยา เพื่อเป็นแหล่งให้คนได้ศึกษา… ตอนนี้ก็สำเร็จไปในระดับหนึ่ง โดยตอนนี้แต่ละแหล่งธรณีวิทยาที่เราจัดทำขึ้นกว่า 20 แหล่งนั้น คนในพื้นที่ คนในชุมชน รวมถึงลูกหลานของชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาสานต่อแล้ว ก็ค่อย ๆ เข้มแข็งขึ้น นี่ก็เพราะทุกคนเข้าใจและรู้แล้วว่าพื้นที่ของตนมีของดีอะไรอยู่ จึงเกิดสำนึกรักหวงแหนบ้านเกิดของตนอาจารย์วิศัลย์บอกพร้อมรอยยิ้ม

กับพระแกะสลักหินบนเขาถมอรัตน์

สลับกลับมาที่ เมืองโบราณศรีเทพ อาจารย์วิศัลย์บอกว่า เริ่มเข้าคลุกวงในเรื่องนี้ช่วงปี 2550 เพราะสนใจเรื่องราวความเป็นมา ซึ่งก็พอดีกับที่โครงการขุดค้นเมืองศรีเทพเริ่มเกิดขึ้นในปี 2551 ที่ทำให้อาจารย์วิศัลย์ถึงกับนั่งรถจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ไปดูการขุดค้นที่เมืองศรีเทพ ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลกันมาก เพราะอยากรู้ว่าเขาขุดค้นกันยังไง จากนั้นก็เริ่มอินกับเรื่องนี้

ตอนนั้นความรู้เรื่องศรีเทพเรื่องทวารวดีของเรานี่เป็นศูนย์เลย เพราะประวัติศาสตร์ที่เราเรียนก็สตาร์ตที่สุโขทัย ซึ่งศรีเทพ ซึ่งทวารวดี นี่เก่าแก่กว่ามาก เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์เลย ซึ่งก็ยิ่งทำให้สนใจ จนต้องไปอ่าน ไปค้นคว้า ไปสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญมากมาย จนทำให้เข้าใจว่า ทำไมศรีเทพจึงมีความพิเศษมากกว่าที่อื่น และก็ยิ่งทำให้เราอยากให้คนอื่น ๆ ได้เห็นถึงความพิเศษที่ว่านี้ด้วย จึงเข้ามาช่วยผลักดันเรื่องนี้อีกหนึ่งแรง 

ภารกิจเกี่ยวกับเมืองโบราณศรีเทพ

ทาง อาจารย์วิศัลย์ บอกถึงจุดเริ่มต้นที่เข้ามาคลุกคลีกับเมืองโบราณแห่งนี้ต่อไปว่า อยากทำให้ “เมืองโบราณศรีเทพเป็นที่รู้จักในวงกว้าง” และนำมาสู่การเป็นแนวร่วมในการผลักดันให้ “ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” ในเวลาต่อมา โดยเขาได้เล่าให้ฟังว่าใช้เวลาผลักดันเพื่อทำความเข้าใจกับผู้คนนานกว่า 10 ปี พร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความกังวลใจของชาวบ้านเรื่องพื้นที่ทับซ้อน การรณรงค์คัดค้านการขุดเจาะแหล่งพลังงานใหม่ที่อาจกระทบกับเขตเมืองโบราณศรีเทพ รวมถึงความพยายามในการทำให้ศรีเทพมีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

และสำหรับกระบวนการผลักดันให้ศรีเทพได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่นั้น ไทม์ไลน์เรื่องนี้เริ่มชัดเจนขึ้นราวปี 2559 ยุครัฐบาล คสช. โดยอาจารย์วิศัลย์เล่าว่า ตอนนั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ถามสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ว่าอยากจะทำอะไร อาจารย์จึงเสนอให้ผลักดันเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ซึ่ง พล.อ.ธนะศักดิ์ เองก็สนใจ จึงพยายามเร่งหน่วยงานต่าง ๆ และจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการมรดกโลกเดินทางมาตรวจสอบข้อมูล และก็ได้รับคอมเมนต์ว่า ถ้าเสนออย่างนี้ไม่ได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของทางเข้า ที่อาจเป็นจุดอ่อนทำให้ศรีเทพสอบตกไม่ได้เป็นมรดกโลก ทำให้เขาและหลาย ๆ ฝ่ายพยายามช่วยกันแก้เรื่องนี้ จนที่สุดก็สามารถทำทางเข้าใหม่ได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่อีก โดยครั้งนี้เป็นประเด็นที่มีบริษัทพลังงานของต่างชาติอยากจะเข้ามาขุดเจาะใกล้ ๆ กับเมืองโบราณศรีเทพ จึงเกิดการรณรงค์เรียกร้องคัดค้าน จนในที่สุดทางบริษัทต่างชาติก็จึงยอมถอย ขณะที่เรื่องชุมชนก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป ในการอธิบายทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งจุดนี้อาจารย์วิศัลย์บอกว่า ได้ใช้ความเป็นนักกฎหมาย ในการไล่ดูเอกสารต่าง ๆ มากมาย เพื่อจะนำข้อมูลไปอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ โดยทางอาจารย์วิศัลย์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า…

ให้ความรู้แก่ผู้สนใจด้านธรณีวิทยา

เหนื่อยก็มี ท้อก็มี แต่สู้ไหว เพราะเรามีความสุขที่ได้ทำตรงนี้ เนื่องจากมองว่าถ้าทำสำเร็จจะเป็นประโยชน์มาก ไม่เฉพาะแค่เพชรบูรณ์ แต่รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนครอบครัวว่าไหมที่มาทำแบบนี้ ไม่เลยครับ เพราะเขารู้ว่าผมสนุกที่ได้ทำ อีกอย่างธุรกิจทางบ้านก็อยู่ตัวหมดแล้ว จึงไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง ทำให้ผมมาทุ่มเทให้กับการทำงานตรงนี้ได้เต็มที่ ซึ่งบางอย่างก็ใช้ทุนส่วนตัวของเราเอง เพราะรอตามระเบียบตามระบบมันอาจช้า ไม่ทันเวลา ก็ไม่ได้คิดมากอะไร ทำแล้วมีความสุขก็ทำไป อีกอย่างประโยชน์มันตกอยู่กับบ้านเกิดเมืองนอนของเราด้วย

ทีมวิถีชีวิต ถาม ดร.วิศัลย์ ว่าหลังผลักดัน 2 เรื่องสำคัญสำเร็จแล้ว ยังมีฝันอะไรที่อยากทำอีกบ้างไหม? ดร.วิศัลย์ กล่าวว่า เขาเป็นคนที่ ฝันแล้วก็จะต้องมี Destination หรือมีเป้าหมาย ด้วย เพื่อที่จะทำให้สำเร็จ ซึ่งตอนนี้ที่หวังไว้ก็คือ อยากให้มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อภารกิจ ไม่อยากให้สิ่งที่ทำมานี้ตายไปพร้อมกับตัวของเขา… อีกเรื่องที่อยากทำให้สำเร็จก็คือ การเชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับเศรษฐกิจ เพื่อให้คนได้อยู่ดีกินดีจากเรื่องเหล่านี้ หรือ

ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นของกินได้“.

‘ศรีเทพ’ กับ ‘ภาพอนาคต’

“ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์” ย้ำไว้ว่า ’ภาพอนาคตของศรีเทพ“ นั้น ส่วนตัวอยากผลักดันเป็น “ยุทธศาสตร์จังหวัด” ต่อไป ซึ่งตั้งแต่นี้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องทำงานกันจริงจัง 4 เรื่องคือ1.ผลักดันให้กรมศิลปากรและรัฐบาลขุดค้นเพิ่มเติม เพราะมีอีกกว่า 50 แห่งที่ยังไม่ได้มีการขุดค้น 2.ผลักดันให้มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศรีเทพ เพราะหากจะสมบูรณ์จะต้องมีทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุคู่กัน ซึ่งยังขาดโบราณวัตถุ เพราะโบราณวัตถุของศรีเทพกระจัดกระจายไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งการขอคืนจะต้องมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดตัวเอง เพื่อจะนำไปสู่กระบวนการขอคืน 3.ผลักดันให้เกิดการ
กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
เพราะตอนนี้คนมาเที่ยวเยอะขึ้น แต่คนศรีเทพยังไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้มากนัก ซึ่งก็ต้องพยายามผลักดันให้เมืองโบราณกับชาวบ้านไปด้วยกันได้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดความหวงแหน และอีกเรื่องคือ 4.ผลักดันให้เป็นจุดเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ 4 มรดกโลก ด้วยการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้มรดกโลก ทั้งสุโขทัย อยุธยา ศรีเทพ รวมถึงอีก 1 มรดกโลกอย่างหลวงพระบางเข้าไปด้วยในอนาคต …อาจารย์วิศัลย์ระบุ.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน