เพราะเป็นช่วงเวลาเปราะบางของประเทศไทยที่ต้องเผชิญการช่วงชิงดินแดน การแย่งชิงทรัพยากร และการแทรกแซงทางศาสนาจากมหาอำนาจชาติตะวันตก รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแบบเดิมที่พึ่งพาเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม และเปลี่ยนจากสังคมอุปถัมภ์สู่สังคมเสรีพึ่งพาตนเอง อย่างไรก็ตามแต่ประเทศไทยโชคดีที่ผ่านวิกฤติขณะนั้นมาได้ ด้วยพระปรีชาสามารถของ “ในหลวง ร.5”

“การปรับสมดุลเพื่อรักษาอธิปไตย” ช่วงที่มหาอำนาจจากยุโรปมีการไล่ล่าอาณานิคมในทวีปเอเชีย ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่มหาอำนาจทุกชาติต่างหมายปอง เพราะมีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งยังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงทำให้การวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความสมดุลในการกระชับสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจ การแบ่งปันผลประโยชน์ การปรับตัวคนไทยด้วยการเรียนรู้ให้เท่าทันมหาอำนาจ ตลอดจนการสร้างมิตรภาพกับพันธมิตรทั่วโลกนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยการเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้งของ ในหลวง ร.5 ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ ที่ยังคงรักษาเอกราชเอาไว้ได้ แม้จะต้องแลกด้วยดินแดนบางส่วนไปก็ตาม

“การเลิกทาสและวางรากฐานความเท่าเทียมเพื่อพึ่งพาตนเอง” ช่วงศตวรรษที่ 19-20 เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพทั่วโลก ตลอดจนมีการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเลิกทาส ทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งในบางพื้นที่นั้นได้ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงและสงครามกลางเมือง เนื่องจากสาเหตุที่เป็นปัจจัยการเลิกทาสทั่วโลก คือการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจโลก จากเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานราคาถูก แต่ในประเทศไทยนั้นทาสมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างจากทาสของชาติตะวันตกมาก อย่างไรก็ตามแต่เพื่อเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทโลก ประเทศไทยในรัชสมัยของในหลวง ร.5 ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายต่าง ๆ แบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป จนนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติเลิกทาสในปี พ.ศ. 2448 จึงทำให้ไม่เกิดกระแสต่อต้านที่รุนแรงเหมือนดังเช่นที่เกิดขึ้นกับชาติตะวันตก รวมทั้งทาสจำนวนมากยังแสดงความเสียใจ ไม่อยากได้อิสรภาพ และยังคงอยากอยู่ในระบบอุปถัมภ์เช่นเดิม

“การอนุรักษ์ป่าและการก่อตั้งกรมป่าไม้” เศรษฐกิจไทยในยุคต้นรัตนโกสินทร์พึ่งพารายได้จากการส่งออกไม้สัก ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ทางภาคเหนือจึงเป็นที่หมายปองของมหาอำนาจจนพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงเรื่อย ๆ ตามความเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่รายได้จากการค้าไม้และภาษีกลับไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป ทำให้ในปี พ.ศ. 2439 กรมป่าไม้จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติตามหลักสากล และต่อมาก็ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนการป่าไม้ ที่จังหวัดแพร่ขึ้นในปี พ.ศ. 2478 เพื่อดูแลรักษาป่าไม้ที่สมบูรณ์ไว้ให้แก่ลูกหลาน

“การส่งเสริมเศรษฐกิจข้าวและคุณภาพชีวิตชาวนา” เมื่อรัฐควบคุมการส่งออกไม้สักและอนุรักษ์ป่าไม้แล้ว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องขยายฐานรายได้ด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรแทน ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยมีที่ดินที่เป็นที่ราบและมีแหล่งนํ้าที่เหมาะแก่การปลูกข้าว อีกทั้งมีทาสที่เป็นไทแล้วจำนวนมากที่สามารถทำงานในภาคเกษตรกรรมได้ ทำให้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี การส่งออกข้าวของประเทศไทยจึงขยายตัวเติบโตจากเดิมที่มีแค่ 6 หมื่นตันก็ได้ขยายตัวเป็น 7 แสนตันต่อปีซึ่งสอดคล้องกับความต้องการข้าวในตลาดโลก ทำให้เศรษฐกิจข้าวในสมัยในหลวง ร.5 ถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจการเกษตรยุคใหม่ให้ประเทศไทยมาจวบจนปัจจุบันนี้

“การวางรากฐานระบบนํ้าชลประทานและสุขาภิบาล” เพื่อให้เศรษฐกิจข้าวและผลผลิตการเกษตรในที่ราบลุ่มภาคกลางมีประสิทธิภาพสูงสุด ในรัชสมัยของในหลวง ร.5 ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฮอลันดาให้มาทำการศึกษาและวางระบบชลประทานในลุ่มนํ้าเจ้าพระยา เพื่อวางระบบการจัดการนํ้าด้วยแรงโน้มถ่วง ที่เป็นการอาศัยความสูงตํ่าของพื้นที่เพื่อจัดวางบริเวณกักเก็บนํ้า ประตูนํ้า ตลอดจนเครือข่ายคลองชลประทานใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเกษตรกรรม อีกทั้งยังได้มีการก่อตั้งกรมคลองขึ้นในปี พ.ศ. 2445 ที่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานนี้เป็นกรมทดนํ้า และกลายเป็นกรมชลประทาน
ในปี พ.ศ. 2470 โดยในระหว่างที่ที่ปรึกษาชาวฮอลันดาวางระบบชลประทานอยู่นั้น ก็มีที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาช่วยวางระบบนํ้าประปาให้กับไทย โดยได้แยกระบบคลองประปาออกมาจากระบบคลองชลประทาน ทั้งยังก่อสร้างโรงกรองนํ้าสะอาดเพื่อการบริโภคขึ้น จนที่สุดก็ก่อตั้งเป็นการประปาสยามขึ้นในปี พ.ศ.2452 ส่งผลทำให้ระบบสุขาภิบาลของไทยมีความทัดเทียมกับนานาชาติ และเป็นสิ่งหนึ่งที่มหาอำนาจจะนำเอามาเป็นข้ออ้างในการยึดครองประเทศไทย หรือสยามขณะนั้นไม่ได้

“การวางรากฐานด้านสุขภาวะและก่อตั้งโรงพยาบาลต่าง ๆ” ก่อนที่จะมีนํ้าประปาดื่ม กรุงเทพฯขณะนั้นเกิดอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2424 ทำให้ในหลวง ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และเหล่าข้าราชการ ช่วยกันจัดตั้งสถานพยาบาลฉุกเฉินขึ้นในพื้นที่ชุมชน จำนวน48 แห่ง จากนั้นจึงได้ก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นเพื่อเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในปี พ.ศ. 2430 และมีการก่อตั้งโรงพยาบาลริมป้อมมหาชัย โรงพยาบาลคนเสียจริต โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ โรงพยาบาลสามเสนตามมาในภายหลัง ที่เป็นรากฐานด้านสาธารณสุขที่สำคัญที่สืบมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นในรัชสมัยของพระองค์ “ทรงริเริ่มระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ” ไว้มากมาย อาทิ การไฟฟ้า, การรถไฟ, การไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น

และที่สำคัญที่สุดในด้านความยั่งยืน นั่นก็คือ “การพัฒนาคน-การพัฒนาทุนมนุษย์” โดยการวางรากฐานการพัฒนาคน ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นคือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยรักษาเอกราชไว้ได้ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาให้ประเทศมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากพระองค์ทรงวางรากฐานต่าง ๆ เอาไว้อย่างเป็นระบบ และมีขั้นตอน เช่น เริ่มจาก โรงเรียนหลวง ที่ก่อตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และต่อมาได้มีการก่อตั้ง โรงเรียนราษฎร ขึ้นตามมา ที่โรงเรียนมหรรณพาราม ก่อนจะขยายไปตามวัดต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงจัดตั้ง กระทรวงธรรมการ ขึ้นในปี พ.ศ. 2435 ซึ่งต่อมาคือ กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงในรัชสมัยของพระองค์ยังเกิดการก่อตั้งโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงต่าง ๆ ตลอดจนเกิดโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนนายร้อย และโรงเรียนนายเรือ เป็นต้น และที่สำคัญทรงก่อตั้ง โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน และต่อมาทรงสถาปนาให้เป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2459 ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งได้ก่อให้เกิดคุณูปการในด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ในสาขาต่าง ๆ มาจนถึงในทุกวันนี้

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวง ร.5” ทาง สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สนจ.) จึงเชิญชวนคนไทยมาร่วมกัน “จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน” ด้วยการจัด “งานปิยมหาราชานุสรณ์ 2566 สานต่อพระราชปณิธานเพื่อความยั่งยืน” ขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2546 เนื่องในวันครบรอบ 150 ปี แห่งการสวรรคต “วันที่ 23 ตุลาคม” องค์กร UNESCO จึงประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ในหลวงรัชกาลที่ 5” ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วัฒนธรรมสังคมศาสตร์ และพัฒนาสังคม และในวันสำคัญที่กำลังเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ปวงชนชาวไทยขอน้อมสักการะรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน “พระปิยมหาราช”

ผู้วางรากฐานความยั่งยืนให้สังคมไทย.