แม้การใช้ “อุจจาระ” เพื่อให้ปุ๋ยพืชผล เคยเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในโลก แต่เมื่อมีระบบระบายนํ้าเสีย และโรงบำบัดนํ้าเสีย ตลอดจนปุ๋ยเคมี นั่นจึงทำให้ปุ๋ยจากอุจจาระคนกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไป

กระทั่งประมาณ 10 ปีก่อน โรงบำบัดนํ้าเสียหลายแห่งในญี่ปุ่นต่างสงสัยว่า พวกเขาสามารถกระตุ้นความสนใจในการใช้ปุ๋ยอุจจาระคนได้หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการกำจัดกากตะกอนนํ้าเสีย ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้

กระนั้น ราคาปุ๋ยเคมีที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงจากสงครามในยูเครน ทำให้ปุ๋ยอุจจาระคนเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยโรงบำบัดนํ้าเสียแห่งหนึ่งในเมืองโทเมะ ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ได้รับกำไรมหาศาลจากยอดขายชิโมโกเอะที่เพิ่มขึ้นมากถึง 160% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในเดือน มี.ค. 2566

“ปุ๋ยของเราได้รับความนิยมเพราะมันมีราคาถูก และช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนที่สูงขึ้นได้ แถมมันยังดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายโทชิอากิ คาโตะ รองประธานโรงบำบัดนํ้าเสียในเมืองโทเมะ กล่าว

อนึ่ง ปุ๋ยดังกล่าวทำจากส่วนผสมของกากตะกอนนํ้าเสียที่ผ่านการบำบัด จากถังบำบัดนํ้าเสีย และสิ่งปฏิกูลของมนุษย์จากบ่อพักนํ้าเสีย โดยปุ๋ยอุจจาระคนมีราคา 160 เยนต่อ 15 กิโลกรัม (ราว 39 บาท) หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของราคาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยที่ทำจากวัตถุดิบนำเข้า

นอกจากเมืองโทเมะแล้ว เมืองซากะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ก็มียอดขายปุ๋ยอุจจาระคนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า อีกทั้งกลุ่มทัวร์หลายสิบกลุ่มจากเทศบาลอื่น ๆ ในประเทศยังเดินทางมาศึกษาดูงานที่นี่ และต้องการนำแผนงานข้างต้นไปประยุกต์ใช้ด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลโตเกียวสนับสนุบการกลับมาใช้ปุ๋ยอุจจาระคนอีกครั้ง โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของญี่ปุ่น หวังว่าการใช้มูลสัตว์และสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายใน
ปี 2573 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 40% ของการใช้ปุ๋ยทั้งหมดในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรชาวญี่ปุ่นบางคน กล่าวว่า พวกเขายังคงประสบปัญหาบางอย่างจากการใช้ชิโมโกเอะ เช่น การร้องเรียนเรื่องกลิ่น และการใช้ปุ๋ยอุจจาระในปริมาณหลายเท่าของปุ๋ยเคมีทั่วไป ส่งผลให้เกษตรกรต้องทำงานมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเปลี่ยนทัศนคติที่ผู้คนมีต่อปุ๋ยอุจจาระคน อีกทั้งการรับรองอย่างเป็นทางการ จะช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเช่นกัน.