องค์การ FAO นี้ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการจัดการและการกระจายอาหาร เพื่อช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกจาก “ปัญหาความอดอยาก” และสร้าง “แหล่งอาหารที่ปลอดภัย” ที่ดีต่อสุขภาพ-มีคุณค่าโภชนาการเหมาะสม ซึ่ง ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิก FAO ด้วย โดยไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 45 จากสมาชิกทั้งหมด 190 ประเทศ

ทั้งนี้ แม้ใน “ประเทศไทย” ไม่ได้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเหมือนในหลายพื้นที่ของโลก เพราะมี“แหล่งผลิตอาหารที่สมบูรณ์” จนจัดว่าเป็น“หนึ่งในครัวโลก” แต่… ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในไทยก็พบ “ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กไทย” จำนวนไม่น้อย!! โดยมีทั้งที่ “ขาดสารอาหาร” และ “ได้รับสารอาหารมากเกิน” จนส่งผลให้มีรูปร่าง-ร่างกายที่ไม่สมสัดส่วนตามช่วงวัย ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ โดยในปัจจุบันพบ “สถานการณ์น่าตกใจ” คือ…

จากอดีตที่เด็กชนบทมักค่อนข้างผอม…

มาวันนี้ “เด็กชนบทมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น”

แต่ก็ “มีไม่น้อยที่มีภาวะทุพโภชนาการ”

เกี่ยวกับ“ปัญหาโภชนาการในเด็กไทย” นั้น… “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง มีการสะท้อน “สถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับภาวะโภชนาการ” เป็นระยะ ๆ เพื่อฉายภาพให้สังคมไทยได้ตระหนึกถึงปัญหาดังกล่าวนี้ โดยปัญหาที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้เคยมีการสะท้อนไว้ ก็มีเรื่อง “อาหารมื้อเช้าของเด็กไทย” รวมอยู่ด้วยซึ่งมีการพบว่า… “มีเด็กไทยเกินครึ่งไม่ได้กินอาหารเช้า!!” โดยเฉพาะ“ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด” และการที่ประเทศไทยต้องใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ยิ่งเป็นการ “ซ้ำเติมให้เด็กบางกลุ่มขาดโอกาสเข้าถึงมื้อเช้า” …ซึ่งนี่เกี่ยวพัน “ความไม่มั่นคงด้านอาหาร”

และแม้โควิด-19 จะซาลงไป…แต่“สถานการณ์ปัญหาเด็กไทยเข้าไม่ถึงมื้อเช้า” นี้ก็ “ยังต้องให้ความสำคัญ” ซึ่งจากข้อมูลที่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ กสศ. โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบของการจัดการเชิงระบบในสถานศึกษาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์” ที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เกิดต้นแบบที่ดีเกี่ยวกับ “ระบบจัดการอาหารของโรงเรียน” ที่จะ “ต้องมีคุณภาพ” และ “เด็กทุกคนต้องเข้าถึงได้” งานวิจัยนี้พบว่า…แม้รัฐสนับสนุนอาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) ให้นักเรียนทุกคนระดับอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ก็มี…

เด็กไทยไม่น้อยไม่ได้รับอาหารคุณภาพ

โดยเฉพาะมื้อเช้าที่ยังมีเด็กที่เข้าไม่ถึง!!

สำหรับ “ปัจจัยสาเหตุทำให้เข้าไม่ถึงมื้อเช้า” ในเด็กบางกลุ่มนั้น มีทั้งเกิดจาก… ความยากจนขัดสน ความเร่งรีบในการประกอบอาชีพ และการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของอาหารเช้า ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมีเด็กนักเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษเป็นจำนวนมากไม่มีโอกาสได้กินอาหารมื้อเช้า หรือถึงแม้ว่าจะได้กินแต่ก็เป็นอาหารที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการ หรือมีคุณค่าโภชนาการไม่เพียงพอ  ทั้งที่มื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก

“เมื่อเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลต่อร่างกาย ต่อสุขภาพ รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้โดยตรง โดยจะทำให้เด็กมีสมาธิและความจำไม่ดี ทำให้เรียนก็เรียนไม่รู้เรื่อง ทำให้ผลการเรียนไม่ดี ซึ่งเมื่อเทียบกับเด็กที่ได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้ว เด็กที่ขาดสารอาหารมีแนวโน้มจะเรียนไม่จบสูงกว่า…” …นี่เป็นข้อมูลที่ได้มีการระบุไว้เพื่อสะท้อนให้เห็น “ความเกี่ยวพันของอาหารกับสุขภาพร่างกาย-สติปัญญา” ที่… “มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก”

ทั้งนี้ “มุมสะท้อน” เกี่ยวกับ “ปัญหาเด็กไทยเข้าไม่ถึงอาหารมื้อเช้าที่มีคุณค่าโภชนาการ” นั้น ทาง อ.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยดังกล่าวข้างต้น มีการสะท้อนไว้ว่า… หากพูดเรื่อง“ความเสมอภาคทางการศึกษา” กรณีนี้ไม่ควรจะมองแค่เด็กจะต้องได้ไปโรงเรียนและได้เรียน แต่ ควรมี “ระบบที่ทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนหนังสือ” ด้วย!! ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่อง “ภาวะสุขภาพและโภชนาการของเด็ก” เพราะถ้าเด็กมีร่างกายและภาวะโภชนาการไม่พร้อม แม้จะได้ไปโรงเรียน แต่เด็กก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง โดย “ภาวะโภชนาการดี” นั้นคือ “การได้กินอาหารถูกหลักโภชนาการครบ 3 มื้อ”…

ทั้งอาหารมื้อเช้า…มื้อกลางวัน…มื้อเย็น

ขณะที่ “แนวทางลดปัญหา”… งานวิจัยดังกล่าวก็ได้เสนอแนะไว้ว่า… ประการแรก ต้องปลุกท้องถิ่นให้ลุกขึ้นมาบรรจุโครงการอาหารเช้าไว้ในแผนท้องถิ่น ประการที่สอง ต้องปลุกให้พ่อแม่พึ่งพาตนเองได้ด้วย ซึ่งก็มีพ่อแม่เด็กที่พอจะมีเงินซื้ออาหารเช้า แต่มองไม่เห็นถึงความสำคัญ หรือไม่มีเวลาทำอาหารเช้าให้ลูกกิน ก็ต้องทำให้หันมาให้ความสำคัญและประการที่สาม ต้องให้โรงเรียนปรับแผนโดยหาวิธีบริหารจัดการอาหารเช้าของเด็ก …นี่เป็น “ข้อเสนอแนะเพื่อเด็ก ๆ” เพื่อการ “แก้ปัญหากรณีอาหารมื้อเช้า” หลังพบว่า มีเด็กไทยที่ขาดโอกาสเข้าถึงอาหารมื้อเช้า…ทั้ง ๆ ที่สำคัญ!!…

สะท้อนย้ำไว้ ณ ที่นี้…ในวันอาหารโลก

เรื่องนี้ก็สำคัญ “ไทยก็ต้องแก้ปัญหานี้”

“ให้สมกับที่ประกาศว่าเป็นครัวโลก!!”.