จุดกระแสความสนใจผู้ขับขี่ โดยเฉพาะผลพวงย้อนหลัง และใบสั่งที่จะมีขึ้นระหว่างนี้ ซึ่งเบื้องต้นชัดเจนว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นอุทธรณ์ และการบังคับใช้ต่าง ๆยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม

อย่างไรก็ตาม ใบสั่งจราจร ไม่ได้มีประเด็นร้อนแค่กรณีร้องเรียน อีกส่วนสำคัญคือวันที่ 25 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว  ซึ่งรวมถึงตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 จะถูกเปลี่ยนเป็น“ความผิดทางพินัย” (ผู้กระทำความผิด ต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนด การปรับนั้นไม่ใช่โทษปรับทางอาญา ไม่มีการจำคุก หรือกักขังแทนการปรับ ไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรม)ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับทางพินัย พ.ศ.2565

สาระสำคัญที่น่าสนใจคือคดีความผิดทางพินัยจะมีอายุความ 2 ปี ขณะที่การบังคับค่าปรับเป็นพินัยจะมีระยะเวลา 5 ปี ดังนั้น เดิมทีอายุความใบสั่งจราจรจาก 1 ปี จะเป็น 2 ปี และระยะเวลาบังคับค่าปรับก็จะนานขึ้นเป็น 5 ปี

ถือเป็นอีกความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ขับขี่ควรรู้ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ปัญหาใบสั่งเพิ่งถูกพูดถึงกว้างขวาง เนื่องจากปัจจุบันมีการเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งจราจรกับระบบการชำระภาษีประจำปีของกรมการขนส่งทางบก  ทำให้ผู้ขับขี่เริ่มตื่นตัวกับพฤติกรรมฝ่าฝืนวินัยจราจรมากขึ้น

“ใบสั่ง”จากที่ไม่ใส่ใจ มองไม่เห็นผลกระทบ ต่อนี้ไปจะไม่เหมือนเดิม…        

จากข้อมูลจำนวนใบสั่ง (ณ วันที่ 11 ต.ค.2566) พฤติกรรมขับขี่ที่ถูกออกใบสั่งมากสุด 10 อันดับแรก คือ1.ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด,ฝ่าฝืนป้ายจำกัดความเร็ว 3,121,643 ใบ 2.ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร , เครื่องหมายสัญญาณ หรือสัญญาณอย่างอื่นสำหรับการจราจรบนทางหลวง 1,612,185 ใบ 3.ขับรถใช้ความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 1,463,736 ใบ

4.ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบนพื้นทาง ที่ออกตามกฎกระทรวงสำหรับการจราจรบนทางหลวง 748,321 ใบ 5.ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดง 726,197 ใบ 6.เป็นผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร ไม่ขับรถในช่องทางเดินรถซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทาง(ไม่ชิดซ้าย) 628,455 ใบ

7.ฝ่าฝืนป้ายจราจร ที่ออกตามกฎกระทรวงสำหรับการจราจรบนทางหลวง 608,576  ใบ 8.ขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับ 504,081 ใบ 9.ไม่มีใบอนุญาตขับรถเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันทีในขณะขับรถ 440,277 ใบ และ10.ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกนิรภัย 399,416 ใบ

นพ.ธนะพงศ์  จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศปวถ.) เผยถึงปัญหาใบสั่งจากเดิมเป็นการเขียนใบสั่งเล่ม ก่อนเพิ่มเป็นรูปแบบ E-Ticket และใบสั่งจากภาพกล้องวงจรปิดส่งไปทางไปรษณีย์  ใบสั่งแบบเล่มเป็นกรณีที่ตำรวจเขียนใบสั่งให้ เช่น จอดในที่ห้าม เขียนใบสั่งแปะหน้ารถหรือล็อกล้อ

กระทั่งช่วงหลังมีการนำเทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) มาใช้ ทำให้กล้องสามารถตรวจจับได้พร้อมหลักฐานภาพถ่าย และออกใบสั่งส่งทางไปรษณีย์ได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง ความผิดเกี่ยวกับการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด การขับขี่ทับเส้นทึบ  การขับขี่ย้อนศร เป็นต้น  

จุดเด่นของระบบนี้คือสามารถตรวจจับได้ตลอด 24 ชม. ทำให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้มากขึ้น เช่น ในปี 2563 มีใบสั่งมากกว่า 15 ล้านใบ ในจำนวนนี้มีใบสั่งค้างชำระกว่า 12 ล้านใบ หรือเท่ากับมาชำระค่าปรับตามใบสั่งจริงไม่ถึงร้อยละ 10 ขณะที่ใบสั่งเล่มจะมียอดชำระมากกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า โดยในปี 2566 จนถึงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พบมีรถมาชำระภาษีประจำปี 11 ล้านคัน ค้างชำระใบสั่ง 120,000 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 10

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการศวปถ.สะท้อนข้อสังเกตน่าสนใจหลังการเชื่อมโยงใบสั่งกับการชำระภาษีว่า อาจมีผลต่อแนวโน้มการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลงหรือไม่ หลังช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ที่เริ่มมีผลในทางปฏิบัติของผู้มาต่อภาษี  เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 และช่วงต้นปี 2566 เดือนม.ค.-เม.ย.ยังพบแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

“แม้ยังไม่มีข้อสรุปว่าการลดลงของผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับปี 2565 นับตั้งแต่ พ.ค.2566 มาจากระบบการไม่ชำระใบสั่งที่เชื่อมโยงการต่อภาษี แต่ก็เห็นความสัมพันธ์ที่ต้องลงไปศึกษาในรายละเอียดต่อไป” ผู้จัดการศวปถ.ระบุ

พฤติกรรมขาด“วินัยจราจร”ที่สะท้อนผ่าน“ใบสั่ง” มิติหลังจากนี้นับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะผลพวงการเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งกับการต่อทะเบียนรถ อาจเริ่มไปกระตุ้นจิตสำนักขับขี่ ซึ่งอาจแฝงผลดีต่อความปลอดภัยบนถนนให้เพิ่มขึ้นด้วยได้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]