ทั้งนี้ คำบอกเล่าดังกล่าวนี้ก็เป็นคำบอกเล่าไว้ผ่าน “สาส์นเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย” คนปัจจุบัน คือ… ออร์นา ซากิฟ ที่ทาง “เดลินิวส์” ได้เคยมีการนำเสนอไว้เมื่อปี พ.ศ. 2565 และรวมถึงในปี 2566 นี้ ซึ่งกับกรณี “ความสัมพันธ์อิสราเอล-ไทย” นี้…

คงมีผลกรณีแรงงานไทยในอิสราเอล?

รวมถึงก็คงมีผลกรณีช่วยแรงงานไทย?

ทั้งนี้ หลัง กลุ่มติดอาวุธฮามาสเปิดศึกใหญ่กับอิสราเอลอีก โดยมีแรงงานไทยได้รับผลกระทบจำนวนมาก แล้วทูตอิสราเอลคนปัจจุบันได้มีการเผยแพร่คำยืนยันว่า… ขอให้ประชาชนชาวไทยมั่นใจได้ว่า อิสราเอลจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องแรงงานไทย ขอให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับการดูแล รักษา และปกป้อง เช่นเดียวกับประชาชนชาวอิสราเอลอย่างเท่าเทียมกัน …กับคำยืนยันนี้ก็ดูจะสอดรับกับคำบอกเล่าไว้ผ่านสาส์น ปี 2565 ที่เนื้อหาโดยสรุปมีดังนี้…

…แม้ ประเทศไทย และ ประเทศอิสราเอล จะอยู่ห่างไกลกัน แต่ก็ มีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรมายาวนาน นับแต่ช่วงแรก ๆ การก่อตั้งประเทศอิสราเอล ซึ่งก็มิได้เป็นเพียงความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นความ…

สัมพันธ์ในระดับประชาชนด้วย

อย่างในปี พ.ศ. 2564 สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในนามของประชาชนชาวอิสราเอล ก็ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีนัยสำคัญด้านความสัมพันธ์อิสราเอล-ไทย เช่น การบริจาคโลหิต มอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยรุนแรงในจังหวัดนครราชสีมา มอบอุปกรณ์การแพทย์เพื่อสนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มอบโรงเรือนหลายแห่งที่ติดตั้งระบบชลประทานของอิสราเอล รวมทั้งสนับสนุนและร่วมงานมหกรรมอารยสถาปัตย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 

ประเทศไทยนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวอิสราเอล โดยในช่วง ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุก ๆ ปีมีชาวอิสราเอลกว่า 2 แสนคนมาเยือนประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมาก นั่นคือประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมดของประเทศอิสราเอลที่มีไม่ถึง 10 ล้านคน และเมื่อประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อิสราเอลก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกาะภูเก็ตสูง…

เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยคนปัจจุบันยังได้ระบุผ่านสาส์นไว้อีกว่า… เมื่อเริ่มมีการยกเลิกมาตรการด้านสาธารณสุขอันเนื่องจากโควิด-19 ชาวอิสราเอลที่เดินทางมายังประเทศไทยก็กลับมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อธุรกิจ และเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยเหตุที่ว่า ชาวอิสราเอลต่างชื่นชอบเสน่ห์ทางวัฒนธรรม ทิวทัศน์อันงดงาม และอาหารเลิศรส ที่สำคัญคือ รักคนไทย ประทับใจการต้อนรับอย่างอบอุ่น และมีไมตรีจิต อันเป็นที่เลื่องลือของคนไทย

สำหรับส่วนของธุรกิจ ก็ได้เห็นความก้าวหน้าระหว่างประเทศทั้ง 2 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการลงนามในข้อตกลงสำคัญ ๆ ระหว่างบริษัทต่าง ๆ ของไทยและอิสราเอล นอกจากนั้น ยัง มีการเปิดบริษัทและโรงงานของอิสราเอล…

เป็นจำนวนมากในประเทศไทย…

“ข้าพเจ้าหวังจะได้เห็นนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวไทยเดินทางไปยังอิสราเอลมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพื่อพบกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชาวอิสราเอล และความรักที่ชาวอิสราเอลมีต่อชาวไทย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือพื้นฐานของโอกาสแห่งความร่วมมือและมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศของเรา” …ทางทูตอิสราเอลคนปัจจุบัน… ออร์นา ซากิฟ ระบุไว้เมื่อปี 2565

และในโอกาสวันชาติอิสราเอลปีที่ 75 วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2566 ทาง เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย คนปัจจุบัน ก็ยังได้มีการระบุ บอกเล่าต่อคนไทยถึงความสัมพันธ์อิสราเอล-ไทยผ่านทางสาส์นไว้ด้วยว่า…

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศอิสราเอลและประเทศไทยดำเนินมาเป็นเวลา 69 ปี และ… อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระดับประชาชนและระดับรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศยิ่งแนบแน่นมั่นคง โดย… การค้าระหว่างประเทศเจริญรุ่งเรือง การท่องเที่ยวเติบโตไม่หยุดยั้ง นอกจากนี้ ประเทศอิสราเอลและประเทศไทยยังมีการจับมือกันเผชิญหน้ากับความท้าทายของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เรื่องความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เรื่องความเท่าเทียมและการเข้าถึงของผู้พิการ เป็นต้น …เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยบอกเล่าไว้

รวมถึงยังได้มีการระบุทิ้งท้ายไว้ด้วยใจความที่ว่า… ขอให้ความมั่นใจว่าประเทศอิสราเอลและประเทศไทยจะร่วมมือร่วมใจทำงานไปด้วยกัน เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ ภราดรภาพ และความวัฒนาผาสุกของ 2 ประเทศ”…

ทั้งนี้ จากทั้ง 2 ตอนที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มนำเสนอเนื้อความโดยสังเขปจากสาส์นเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยคนปัจจุบันที่ได้สื่อสารถึงคนไทยไว้ ก็น่าจะพอฉายภาพ “เรื่องราวประเทศอิสราเอล” และก็น่าจะสะท้อน “ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล-ไทย” ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้า ถามว่าแรงงานไทยในอิสราเอลจะอย่างไรต่อไปบ้าง??”…

สัมพันธ์ 69 ปีคงมิอาจชี้คำตอบทั้งหมด

เมื่อ อิสราเอล ต้อง เป็นแดนศึก!!”…

ที่…คนไทยไม่เกี่ยว…แต่ก็สูญเสีย!!”.